พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. ธรรมิกสูตร ว่าด้วยธรรมของสมณะและศาสดาทั้ง ๖

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2564
หมายเลข  39401
อ่าน  319

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 694

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๑๒. ธรรมิกสูตร

ว่าด้วยธรรมของสมณะ และศาสดาทั้ง ๖


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 694

๑๒. ธรรมิกสูตร

ว่าด้วยธรรมของสมณะ และศาสดาทั้ง ๖

[๓๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ ภูเขาคิชฌกูฎ ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านธรรมิกะ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอาวาส ๗ แห่ง ที่มีอยู่ในชาติภูมิ ชนบททั้งหมด ทราบข่าวว่า ท่านพระธรรมิกะ ย่อมด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสี ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ที่จรมาอาศัย ด้วยวาจา และภิกษุผู้จรมาอาศัย เหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะ ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสี ด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท คิดกันว่า พวกเราได้บำรุงภิกษุสงฆ์ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ก็แต่ว่า พวกภิกษุที่จรมาอาศัย ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวกภิกษุผู้จรมาอาศัย หลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาว ชาติภูมิชนบท คิดกันว่า ท่านพระธรรมิกะ นี้แล ย่อมด่า บริภาษ เบียดเบียน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 695

ทิ่มแทง เสียดสี พวกภิกษุผู้จรมาอาศัย ด้วยวาจา และพวกภิกษุ ที่จรมาอาศัย เหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะ ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสี ด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ ท่านพระธรรมิกะ ให้หนีไป ครั้งนั้น พวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไปหา ท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะ จงหลีกไป จากอาวาสนี้ ท่านไม่ควรอยู่ในนี้ต่อไป.

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะ ได้จากอาวาสนั้น ไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ที่อาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ... ครั้งนั้น พวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบทได้พากันไปหา ท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะ จงหลีกไปจากอาวาส แม้นี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้.

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะ ได้จากอาวาสแม้นั้น ไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ในอาวาสนั้น ท่าพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ... ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ ท่านพระธรรมิกะ ให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไปหาท่าน พระธรรมิกะถึงที่อยู่ และได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะ จงหลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด.

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า เราถูกพวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท ขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด บัดนี้ เราจะไปที่ไหนหนอ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ลำดับนั้น ท่านพระธรรมิกะถือบาตร และจีวร หลีกไปทางกรุงราชคฤห์ ไปถึงกรุงราชคฤห์ และภูเขาคิชฌกูฏ โดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 696

ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมิกะ เออ เธอมาจากที่ไหนหนอ ท่านพระธรรมิกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์เจริญ ข้าพระองค์ ถูกพวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ ควรแล้ว จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอ ด้วยการอยู่ในชาติภูมิชนบทนี้ เธอถูกขับไล่ ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้วมาในสำนักของเรา.

ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าทางสมุทร จับนกที่ค้นหาฝั่ง แล้วนำเรือออกเดินทางไปในสมุทร เมื่อเดินเรือไป ยังไม่เห็นฝั่ง พ่อค้าเหล่านั้นจึงปล่อยนกที่ค้นหาฝั่ง มันบินไปทางทิศตะวันออก บินไปทางทิศตะวันตก บินไปทางทิศเหนือ บินไปทางทิศใต้ บินขึ้นสูง บินไปตามทิศน้อย ถ้ามันเห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็บินเข้าหาฝั่งไปเลยทีเดียว แต่ถ้ามันไม่เห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็กลับมาที่เรือนั้น ฉันใด ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้ว มาในสำนักของเรา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ของพระเจ้าโกรัพยะมี ๕ กิ่ง ร่มเย็น น่ารื่นเริงใจ ก็ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ มีปริมณฑลใหญ่สิบสองโยชน์ มีรากแผ่ไป ๕ โยชน์ มีผลใหญ่ เหมือนกะทะหุงข้าวสาร ได้หนึ่งอาฬหกะ ฉะนั้น มีผลอร่อย เหมือนรวงผึ้งเล็ก ซึ่งไม่มีโทษ ฉะนั้น พระราชากับพวกสนม ย่อมทรงเสวย และบริโภคผลไทร ชื่อ สุปติฏฐะ เฉพาะกิ่งหนึ่ง เหล่าทหารย่อมบริโภค เฉพาะกึ่งหนึ่ง ชาวนิคมชนบทย่อมบริโภค เฉพาะกึ่งหนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมบริโภคเฉพาะกิ่งหนึ่ง เนื้อ และนก ย่อมกินกิ่งหนึ่ง ก็ใครๆ ย่อมไม่รักษาผลแห่งต้นไทรใหญ่ ชื่อ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 697

สุปติฏฐะ และไม่มีใครๆ ทำอันตรายผลของกันและกัน ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง บริโภคผลแห่งต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ พอแก่ความต้องการแล้ว หักกิ่ง หลีกไป ครั้งนั้น เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ได้คิดว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ มนุษย์ใจบาปคนนี้ บริโภคผลของต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ พอแก่ความต้องการแล้ว หักกิ่งหลีกไป ไฉนหนอ ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ไม่พึงออกผลต่อไป ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ ทีนั้นแล ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ก็ไม่ให้ผลต่อไป ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะ เสด็จเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพ ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า ขอเดชะ ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์พึงทรงทราบเถิดว่า ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ไม่ออกผล ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่แรงกล้า พัดโค่นต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะ มี ทุกข์ เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตา ยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้เสด็จเข้าไปหา เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนเทวดา เหตุไรหนอ ท่านจึงมีทุกข์ เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตา ยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ลมฝนที่แรงกล้าได้พัดมาโค่นที่อยู่ (ภพ) ของข้าพระองค์ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ดังที่เห็นอยู่นี้ พระเจ้าข้า.

ส. ดูก่อนเทวดา ก็เมื่อท่านดำรงอยู่ ในรุกขธรรมแล้ว (ธรรมที่เทวดาผู้สิ่งสถิตอยู่ที่ต้นไม้ จะต้องประพฤติ) ลมฝนที่แรงกล้า ได้พัดมาโค่น ที่อยู่ของท่านล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ได้อย่างไร.

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ ให้รุกขธรรมอย่างไรฯ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 698

ส. ดูก่อนเทวดา พวกชนที่ต้องการราก ย่อมนำรากต้นไม้ไป พวกชนผู้ต้องการเปลือก ย่อมนำเปลือกไป พวกชนผู้ต้องการใบ ย่อมนำใบไป พวกชนผู้ต้องการดอกย่อมนำดอกไป พวกชนผู้ต้องการผล ย่อมนำผลไป ก็แต่เทวดา ไม่พึงกระทำความเสียใจ หรือความดีใจ เพราะการกระทำนั้นๆ ดูก่อนเทวดา เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ ในรุกขธรรม อย่างนี้แล.

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ไม่ดำรงอยู่ ในรุกขธรรมเป็นแน่เทียว ลมฝนที่แรงกล้า จึงได้พัดมาโค่นที่อยู่ ให้ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน.

ส. ดูก่อนเทวดา ถ้าว่าท่านพึงดำรงอยู่ ในรุกขธรรมไซร้ ที่อยู่ของท่าน ก็พึงมีเหมือนกาลก่อน.

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงดำรงอยู่ ในรุกขธรรม ขอให้ที่อยู่ของข้าพระองค์ พึงมีเหมือนกาลก่อนเถิด.

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝน ที่แรงกล้าพัดต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ให้กลับตั้งขึ้นดังเดิม ต้นไทรใหญ่ ชื่อ สุปติฏฐะ ได้มีรากตั้งอยู่ดังเดิม ฉันใด ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เออ ก็พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่เธอ ผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรม ออกจากอาวาส ทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านพระธรรมิกะ ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมณะ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรม อย่างไร.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ด่าตอบ บุคคลผู้ด่า ไม่เสียดสีตอบ บุคคลผู้เสียดสี ไม่ประหารตอบ บุคคลผู้ประหาร ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ ในสมณธรรม อย่างนี้แล.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 699

ข้าพระองค์ผู้ไม่ดำรงอยู่ ในสมณธรรม ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ ชื่อ สุเนตตะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัด ในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ก็สาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ ชื่อ สุเนตตะ แสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ ชื่อ สุเนตตะ แสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์.

ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อมูคปักขะ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่ออรเนมิ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อกุททาลกะ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อหัตถิปาละ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรม แก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ก็สาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ แสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิด ในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 700

ผู้ปราศจากความกำหนัด ในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่ สาวก ผู้นั้น พึงประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากหรือ.

ธ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัด ในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้น พึงประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษ บุคคลผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์คนเดียว ผู้นี้ย่อมประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่า ผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์ ทั้ง ๖ นั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราหากล่าวการขุดโค่น คุณความดีของตน ภายนอกศาสนานี้ เหมือนการด่าว่า บริภาษ ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ร่วมกันนี้ไม่ ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ประทุษร้าย ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ร่วมกันของตน ดูก่อนพราหมณ์ธรรมิกะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.

ได้มีท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ชื่อมูคปักขะ ชื่ออรเนมิ ชื่อกุททาลกะ ชื่อหัตถิปาละ และได้มีพราหมณ์ปุโรหิต ของพระราชาถึง ๗ พระองค์ เป็นเจ้าแผ่นดิน เป็นศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ ผู้มียศเป็นผู้ได้รับยกย่อง ว่าเป็นเจ้าลัทธิในอดีต ท่านเหล่านั้น ได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือ ความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 701

สาวกของท่านเหล่านั้น แม้หลายร้อย ได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือ ความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก นรชนใด มีความดำรงทางใจประทุษร้าย ย่อมด่าบริภาษท่านเหล่านั้น ผู้เป็นฤาษี ผู้เป็นนักบวชนอกศาสนา ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ก็นรชนเช่นนั้น ย่อมประสบ สิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ส่วนนรชนใด มีความดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่าบริภาษ ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์รูปเดียว นรชนผู้นี้ ย่อมประสบ สิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่า บริภาษท่านศาสดาจารย์เหล่านั้น นรชน ไม่พึงเสียดสี ท่านผู้มีความดี ผู้ละทิฏฐิ บุคคลใดเป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมถะ และวิปัสสนาอ่อน บุคคลผู้ยังไม่ปราศจาก ความกำหนัดในกาม เราเรียกว่า เป็นบุคคลที่เจ็ด แห่งพระอริยสงฆ์ นรชนใดเบียดเบียน ทำร้ายบุคคลเช่นนั้น ผู้เป็นภิกษุในกาลก่อน นรชนนั้น ชื่อว่า ทำร้ายตนเอง ย่อมบั่นรอนอรหัตผล ในภายหลัง ส่วนนรชนใดย่อมรักษาตน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 702

นรชนนั้น ชื่อว่า เป็นผู้รักษาตน ที่เป็นส่วน ภายนอก เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่ขุด โค่น คุณความดีของตน ชื่อว่า พึงรักษาตนทุกเมื่อ.

จบธรรมิกสูตรที่ ๑๒

จบธรรมิกวรรคที่ ๕

อรรถกถาธรรมิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในธรรมิกสูตรที่ ๑๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สพฺพโส แก้เป็น สพฺเพสุ ทั้งปวง. บทว่า สตฺตสุ อาวาเสสุ ได้แก่ ในบริเวณ ๗ แห่ง. บทว่า ปริภาสติ ได้แก่ ข่มขู่ คือ ก่อให้เกิดความกลัว. บทว่า วิหึสติ แปลว่า เบียดเบียน. บทว่า วิตุทติ แปลว่า ทิ่มแทง. บทว่า โรเสติ คือ กระทบกระทั่งด้วยวาจา. บทว่า ปกฺกมนฺติ คือ หลีกไปสู่ทิศทั้งหลาย. บทว่า น สณฺหนฺติ คือ ไม่ดำรงอยู่. บทว่า ริญฺจนฺติ คือ ทิ้ง ได้แก่สละ. บทว่า ปพฺพาเชยฺยาม คือ พึงนำออก. ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่า สละวาง. บทว่า อลํ มีความหมายว่า การที่อุบาสกทั้งหลาย จะพึงขับไล่ ท่านพระธัมมิกะนั้นออกไป เป็นการสมควร.

บทว่า ตีรทสฺสึ สกุณํ ได้แก่ กาบอกทิศ. บทว่า มุญฺจนฺติ ได้แก่ พ่อค้าทั้งหลายเดินทางทะเล ปล่อย (กา) ไปเพื่อดูทิศ. บทว่า สามนฺตา ได้แก่ ในที่ไม่ไกล. ปาฐะเป็น สมนฺตา ดังนี้ก็มี. หมายความว่า โดยรอบ. บทว่า อภินิเวโส ได้แก่ การหยุดอยู่ของกิ่งไม้ ที่แผ่ออกไปคลุมอยู่. บทว่า

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 703

มูลสนฺตานกานํ ได้แก่ การหยุดอยู่ของรากไม้. บทว่า อาฬฺหกถาลิกา หม้อหุงข้าว (บรรจุ) ข้าวสารได้ ๑ อาฬหกะ. บทว่า ขุทฺทมธุํ ได้แก่ น้ำผึ้ง ติดไม้ที่พวกผึ้งตัวเล็กๆ ทำไว้. บทว่า อเนลกํ ได้แก่ ไม่มีโทษ.

บทว่า น จ สุทํ อญฺมญฺสฺส ผลานิ หึสนฺติ ความว่า ผลไม้ทั้งหลาย ย่อมไม่เบียด ส่วนของกันและกัน. ขึ้นชื่อว่า ต้นไม้ที่จะเอาส่วน ของมันตัดราก เปลือกหรือใบ (ของต้นอื่น) ไม่มี. มนุษย์ทั้งหลาย มีพระราชา เป็นต้น จะบริโภคกันเฉพาะแต่ผลที่หล่นลงไป ภายใต้กิ่งของมันๆ เท่านั้น. แม้ผลที่หล่นจากส่วนของต้นหนึ่ง ไปสลับอยู่กับส่วนของอีกต้นหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลาย มีพระราชา เป็นต้น พอทราบว่า ไม่ใช่ผลจากกิ่งของเรา ก็ไม่ยอมเคี้ยวกิน.

บทว่า ยาวทตฺถํ ภกฺขิตฺวา ได้แก่ เคี้ยวกินโดยประมาณ ถึงคอ (จนเต็มอิ่ม). บทว่า สาขํ ภญฺชิตฺวา ความว่า (ชายคนหนึ่ง) ตัดใบไม้ ขนาดเท่าร่มกั้น ให้เกิดร่มเงาพลางหลีกไป. บทว่า ยตฺร หิ นาม ได้แก่ โย หิ นาม (ชายคนใดคนหนึ่ง). บทว่า ปกฺกมิสฺสติ คือ หลีกไปแล้ว. บทว่า นาทาสิ ความว่า ต้นพญานิโครธก็มิได้ออกผลอีก ด้วยอานุภาพของเทวดา. เพราะว่า เทวดานั้น ได้อธิษฐานอย่างนี้.

บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า เมื่อชาวชนบท ไปกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ต้นไม้ไม่ออกผลเลย เป็นความผิดของพวกหม่อมฉัน หรือของพระองค์ พระเจ้าโกรัพยะทรงดำริว่า ไม่ใช่ความผิดของเรา ไม่ใช่ความผิดของพวกชาวชนบท อธรรมย่อมไม่เป็นไป ในแว่นแคว้นของเรา ต้นไม้ไม่ออกผล เพราะเหตุอะไร หนอแล เราจักเข้าไปทูลถามท้าวสักกะ ดังนี้แล้ว เข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพ จนถึงภพดาวดึงส์. บทว่า ปวตฺเตสิ แปลว่า พัดผัน. บทว่า อุมมูลมกาสิ ได้แก่ ทำ (ต้นพญานิโครธ) ให้มีรากขึ้นข้างบน. บทว่า

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 704

อปิ นุ ตฺวํ เท่ากับ อปิ นุ ตว. บทว่า อฏฺิตาเยว คือ อฏฺิตายเอว ตั้งอยู่ไม่ได้เลย. บทว่า สจฺฉวินี ได้แก่ (รากไม้) กลับมีผิวเหมือนเดิม คือ ตั้งอยู่ในที่ตามปกติ. บทว่า น ปจฺจกฺโกสติ คือ ไม่ด่าตอบ. บทว่า โรสนฺตํ ได้แก่ บุคคลผู้กระทบอยู่. บทว่า ภณฺฑนฺตํ ได้แก่ บุคคลผู้ประหารอยู่.

บทว่า สุเนตฺโต ควานว่า นัยน์ตา เรียกว่า เนตตะ เพราะนัยน์ตาคู่นั้นสวยงาม ครูนั้นจึง ชื่อว่า สุเนตตะ. บทว่า ติตฺถกโร ได้แก่ ผู้สร้างท่า (ลัทธิ) เป็นที่หยั่งลงสู่สุคติ. บทว่า วีตราโค ได้แก่ ผู้ปราศจากราคะ ด้วยอำนาจการข่มไว้. บทว่า ปสวติ ได้แก่ ย่อมได้. บทว่า ทิฏฺสมฺปนฺนํ ได้แก่ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ อธิบายว่า คือ พระโสดาบัน. บทว่า ขนฺตํ ได้แก่ การขุดคุณของตน. บทว่า ยถา มํ สพฺรหฺมจารีสุ ความว่า เทวดา และการบริภาษ ในเพื่อนสพรหมจารีนี้ เป็นฉันใด เราไม่กล่าวการขุดคุณ แบบนี้ว่า เป็นอย่างอื่น (จากการด่า และบริภาษนั้น).

คนของตนเรียกว่า อามชน ในบทว่า น โน อามสพฺรหฺมจารีสุ นี้ เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงมีความหมายดังนี้ว่า เราทั้งหลาย จักไม่มีจิตประทุษร้าย ในเพื่อนสพรหมจารี ผู้เสมอกับของตน.

บทว่า โชติปาโล จ โควินฺโท ความว่า (ครูนั้น) ว่าโดยชื่อ มีชื่อว่า โชติปาละ ว่าโดยตำแหน่ง มีชื่อว่า มหาโควินทะ.

บทว่า สตฺตปุโรหิโต ความว่า เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์ มีพระเจ้าเรณุ เป็นต้น. บทว่า อภิเสกา อตีตํเส ความว่า ครูทั้ง ๖ เหล่านี้ (มีครูมูคปักขะเป็นต้น) ได้รับการอภิเษกมาแล้ว ในส่วนที่เป็นอดีต.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 705

บทว่า นิรามคนฺธา ได้แก่ ไม่มีกลิ่นคาว ด้วยกลิ่นคาว คือ ความโกรธ. บทว่า กรุเณ วิมุตฺตา ความว่า หลุดพ้นแล้ว ในเพราะกรุณาฌาน คือ ดำรงอยู่ในกรุณา และในธรรม อันเป็นส่วนเบื้องต้นของกรุณา.

บทว่า เย เต แก้เป็น เอเต. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะเป็นอย่างนี้ (เอเต) ก็มีเหมือนกัน. บทว่า น สาธุรูปํ อาสิเท คือ ไม่พึงกระทบกระทั่งสภาวะที่ดี. บทว่า ทิฏฺิฏฺานปฺปหายินํ คือ อันมีปกติละทิฏฐิ ๖๒.

บทว่า สตฺตโม ได้แก่ เป็นบุคคลที่ ๗ นับตั้งแต่พระอรหันต์ลงมา. บทว่า อวีตราโค คือ ยังไม่ปราศจากราคะ.

ท่านปฏิเสธความเป็นอนาคามี ด้วยบทว่า อวีตราโค นั้น. บทว่า ปญฺจินฺทฺริยา มุทู ความว่า อินทรีย์ในวิปัสสนา ๕ อ่อน. จริงอยู่ อินทรีย์เหล่านั้น ของพระโสดาบันนั้น เปรียบเทียบกับพระสกทาคามีแล้ว นับว่าอ่อน.

บทว่า วิปสฺสนา ได้แก่ ญาณเป็นเครื่องกำหนดสังขาร. บทว่า ปุพฺเพว อุปหญฺติ ได้แก่ กระทบก่อนทีเดียว. บทว่า อกฺขโต ได้แก่ ไม่ถูกขุด คือ ไม่ถูกกระทบกระทั่งโดยการขุดคุณ. บทที่เหลือในที่ทั้งปวง ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถา ธรรมิกสูตร

จบธรรมิกวรรควรรณนาที่ ๕

จบปฐมปัณณาสก์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นาคสูตร ๒. มิคสาลาสูตร ๓. อิณสูตร ๔. มหาจุนทสูตร ๕. ปฐมสันทิฏฐิกสูตร ๖. ทุติยสันทิฏฐิกสูตร ๗. เขมสุมนสูตร ๘. อินทริยสังวรสูตร ๙. อานันทสูตร ๑๐. ขัตติยาธิปปายสูตร ๑๑. อัปปมาทสูตร ๑๒. ธรรมิกสูตร และอรรถกถา.