พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. ทารุกขันธสูตร ว่าด้วยอํานาจของผู้มีฤทธิ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39388
อ่าน  278

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 637

ปฐมปัณณาสก์

เสขปริหานิยวรรคที่ ๔

๑๑. ทารุกขันธสูตร

ว่าด้วยอํานาจของผู้มีฤทธิ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 637

๑๑. ทารุกขันธสูตร

ว่าด้วยอำนาจของผู้มีฤทธิ์

[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยภิกษุหลายรูป เห็นกองไม้กองใหญ่ ณ ที่แห่งหนึ่งแล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเห็นกองไม้ กองใหญ่โน้นหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้น ให้เป็นดินได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่กองไม้โน้น มีปฐวีธาตุ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจ ถึงให้เป็นดินได้ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้โน้น ให้เป็นน้ำได้ ฯลฯ ให้เป็นไฟได้ ฯลฯ ให้เป็นลมได้ ฯลฯ ให้เป็นของงามได้ ฯลฯ ให้เป็นของไม่งามได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่กองไม้โน้น มีอสุภธาตุ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจถึง ให้เป็นของไม่งามได้.

จบทารุกขันธสูตรที่ ๑๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 638

อรรถกถาทารุกขันธสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในทารุกขันธสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เจโตวสิปฺปตฺโต ได้แก่ ผู้ถึงความเป็นผู้มีอำนาจจิต. บทว่า ปวีเตฺวว อธิมุจฺเจยฺย ความว่า พึงกำหนดอาการที่แข้นแข็ง ว่าธาตุดิน. บทว่า ยํ นิสฺสาย ความว่า อาศัยปฐวีธาตุอันใด ที่มีอาการกระด้างมีอยู่. (ภิกษุผู้มีฤทธิ์) พึงน้อมใจไปยังท่อนไม้โน้นว่าเป็นดิน ปฐวีธาตุนั้น มีอยู่ในท่อนไม้นี้. เพราะฉะนั้น แม้บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยนี้. อธิบายว่า ในท่อนไม้นั้น มีปฐวีธาตุ ที่มีอาการแข้นแข็งฉันใด อาโปธาตุ ที่มีอาการเกาะกลุ่ม เตโชธาตุที่มีอาการอบอุ่น วาโยธาตุที่มีอาการเคลื่อนไหล ก็มีอยู่ในท่อนไม้นั้นเหมือนกัน. สุภธาตุใดที่มีสีเหมือนดอกปทุม มีอยู่ในแก่นไม้ที่มีสีแดง (ภิกษุพึงน้อมใจไป คือกำหนดท่อนไม้โน้น โดยอาศัยสุภธาตุนั้น ว่า สุภํ งาม ดังนี้) อสุภธาตุใดที่มีสีไม่น่าพอใจ มีอยู่ในจุณที่เน่า และในกระพี้ และสะเก็ดทั้งหลาย (ของต้นไม้) ภิกษุน้อมใจไป คือกำหนดท่อนไม้ท่อนโน้น โดยอาศัยอสุภธาตุนั้น นั่นแหละ ว่า อสุภํ ไม่งาม ดังนี้. ในพระสูตรนี้ท่าน กล่าวชื่อว่า มิสสกวิหาร.

อรรถกถา ทารุกขันธสูตรที่ ๑๑