พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ทุติยสมยสูตร ว่าด้วยเวลาเข้าพบผู้เจริญภาวนา ๖

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39375
อ่าน  273

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 598

ปฐมปัณณาสก์

อนุตตริยวรรคที่ ๓

๘. ทุติยสมยสูตร

ว่าด้วยเวลาเข้าพบผู้เจริญภาวนา ๖


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 598

๘. ทุติยสมยสูตร

ว่าด้วยเวลาเข้าพบผู้เจริญภาวนา ๖

[๒๙๙] สมัยหนึ่ง ภิกษุชั้นเถระหลายรูป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ครั้งนั้นแล เมื่อภิกษุชั้นเถระเหล่านั้น กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่โรงฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่าง ดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยไหนหนอแล ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ.

เมื่อกล่าวกันอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง จึงได้กล่าวกะ ภิกษุชั้นเถระทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ.

เมื่อภิกษุนั้น กล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น แม้ความเหน็ดเหนื่อย เพราะการเที่ยวไป เพื่อการบิณฑบาต แม้ความเหน็ดเหนื่อย เพราะฉันอาหาร ของภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ก็ยังไม่สงบระงับ ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่ริมเงาวิหารด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 599

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะ ภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่ร่มเงาวิหารด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น สมาธินิมิตใด ที่ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ได้ทำไว้ในใจในกลางวัน สมาธินิมิตนั้น ก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ลุกขึ้นในเวลาเช้ามืดแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ.

เมื่อภิกษุนั้น กล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ลุกขึ้น ในเวลาเช้ามืดแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น กายของภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ก็ยังตั้งอยู่ในโอชา (มีโอชารสแห่งอาหาร แผ่ซ่านไปทั่วตัว) ความสบาย ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น เพื่อทำไว้ในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉะนั้น สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ.

เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกะ ภิกษุชั้นเถระทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับมา เฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุ สมัยใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัด ตามความเป็นจริง ซึ่งอุบาย เป็นเครื่องสลัดออก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 600

แห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น ภิกษุนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกกามราคะกลุ้มรุม ถูกถามราคะครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัด ตามความเป็นจริง ซึ่งอุบาย เป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะ ที่เกิดขึ้นแล้ว ดีแล้ว ขอท่านผู้มีอายุ จงแสดงธรรม เพื่อละกามราคะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ย่อมแสดงธรรม เพื่อละกามราคะแก่เธอ ดูก่อนภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๑ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯลฯ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับ รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ มี ๖ ประการนี้แล.

จบทุติยสมยสูตรที่ ๘

อรรถกถาทุติยสมยสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในทุติยสมยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า มณฺฑลมาเฬ ได้แก่ ในโรงฉัน. บทว่า จาริตฺตกิลมโต ได้แก่ ความลำบากอันเกิดขึ้น จากการเที่ยวบิณฑบาต. บทว่า ภตฺตกิลมโต ได้แก่ ความกระวนกระวายที่เกิดจากภัต. บทว่า วิหารปจฺฉายายํ ได้แก่ ที่เงาร่มท้ายวิหาร. บทว่า ยเทวสฺส ทิวา สมาธินิมิตฺตํ มนสิกตํ โหติ ความว่า ในสมัยนั้น สมถนิมิตนั่นแหละ จะสัญจรไป ในมโนทวารของภิกษุ ผู้นั่งอยู่ในที่พักกลางวัน. บทว่า โอชฏฺายี ความว่า สถิต คือ ประดิษฐานอยู่แห่งโอชะ. บทว่า ผาสุกสฺส โหติ ความว่า เธอมีความผาสุก. บทว่า สมฺมุขา ความว่า ในที่ต่อหน้าผู้บอก. บทว่า สุตํ ความว่า ได้ฟังด้วยโสตธาตุ. บทว่า ปฏิคฺคหิตํ ความว่า ประคองได้ด้วยจิต.

จบอรรถกถา ทุติยสมยสูตรที่ ๘