พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อาชานิยสูตร ว่าด้วยองค์ ๕ ของม้าอาชาไนย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ต.ค. 2564
หมายเลข  39286
อ่าน  290

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 449

ปัญจมปัณณาสก์

กิมพิลวรรควรรณนาที่ ๑

๓. อาชานิยสูตร

ว่าด้วยองค์ ๕ ของม้าอาชาไนย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 449

๓. อาชานิยสูตร

ว่าด้วยองค์ ๕ ของม้าอาชาไนย

[๒๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ย่อมถึงความนับว่า เป็นราชพาหนะ องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ความซื่อตรง ๑ ความวิ่งเร็ว ๑ ความอ่อนโยน ๑ ความอดทน ๑ ความเสงี่ยม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวเจริญของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ย่อมถึงการนับว่า เป็นราชพาหนะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ความซื่อตรง ๑ ความเร็ว ๑ ความอ่อนโยน ๑ ความอดทน ๑ ความเสงี่ยม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

จบอาชานิยสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 450

อรรถกถาอาชานิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยใน อาชานิยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อาชฺชเวน ได้แก่ ด้วยความตรง คือด้วยการไปไม่คด. บทว่า ชเวน คือด้วยฝีเท้าเร็ว. บทว่า มทฺทเวน คือ ด้วยมีสรีระอ่อนโยน. บทว่า ขนฺติยา คือ ด้วยความอดทน ด้วยความอดกลั้น. บทว่า โสรจฺเจน คือ ด้วยความมีปกติสะอาด ในภิกษุวาระ [วาระว่าด้วยภิกษุ] พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ บทว่า อาชฺชวํ ได้แก่ ความไปตรงแห่งญาณ. บทว่า ชโว ได้แก่ ความดำเนินไปแห่งญาณอันกล้า. บทว่า มทฺทวํ คือ ความอ่อนโยนเป็นปกติ. บทว่า ขนฺติ ได้แก่ ความอดทน ด้วยความอดกลั้น นั่นแล. บทว่า โสรจฺจํ คือ มีความสะอาดเป็นปกติทีเดียว

จบอรรถกถา อาชานิยสูตรที่ ๓