พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. กิมพิลสูตร ว่าด้วยเหตุปัจจัยทําให้ศาสนาเสื่อม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39278
อ่าน  712

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 446

ปัญจมปัณณาสก์

กิมพิลวรรคที่ ๑

๑. กิมพิลสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัยทําให้ศาสนาเสื่อม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 446

ปัญจมปัณณาสก์

๑. กิมพิลสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัยทำให้ศาสนาเสื่อม

[๒๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันใกล้เมืองกิมิลา ครั้งนั้น ท่านพระกิมพิละ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูก่อน กิมพิละ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อ ตถาคตปรินิพพานแล้ว.

กิม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว.

พ. ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้มีความเคารพ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 447

มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงกันและกัน ดูก่อนกิมพิละ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว.

จบกิมพิลสูตรที่ ๑

ปัญจมปัณณาสก์

กิมพิลวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถกถากิมพิลสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในกิมพิลสูตรที่ ๑ แห่งปัณณาสก์ที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กิมฺพิลายํ ได้แก่ ในเมืองที่มีชื่ออย่างนี้. บทว่า เวฬุวเน คือ ในป่ามุจจลินท์. บทว่า เอตทโวจ ได้ยินว่า พระเถระนี้ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองนั้น บวชในสำนักของพระศาสดา ได้บุพเพนิวาสญาณ พระเถระนั้น เมื่อระลึกถึงขันธสันดานสืบต่อขันธ์อันตนเคยอยู่แล้ว บวชแล้ว ในเวลาที่ศาสนาของพระกัสสปทศพลเสื่อม. เมื่อบริษัท ๔ ทำความไม่เคารพในศาสนาอยู่ จึงพาดบันไดขึ้นภูเขา ทำสมณธรรมบนภูเขานั้น ได้เห็นความที่ตนเคยอยู่แล้ว. ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว หมายจะทูลถามถึงเหตุนั้น ดังนี้ แล้วจึงได้กราบทูลคำ เป็นต้นว่า โก นุ โข ภนฺเต ดังนี้ กะพระศาสดานั้น อย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 448

บทว่า สตฺถริ อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา ความว่า ย่อมไม่ตั้งความเคารพ และความเป็นใหญ่ไว้ ในพระศาสดา. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้ เหมือนกัน.

ในบทเหล่านั้น ภิกษุเมื่อเดินกั้นร่ม สวมรองเท้า ที่ลานพระเจดีย์ เป็นต้นก็ดี พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ มีประการต่างๆ ก็ดี ชื่อว่า ไม่เคารพในพระศาสดา. อนึ่ง นั่งหลับในโรงฟังธรรมก็ดี พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ มีประการต่างๆ ก็ดี ชื่อว่าไม่เคารพในพระธรรม. เมื่อพูดถึงเรื่องต่างๆ ยกแขนส่าย ในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ทำการยำเกรง ในภิกษุผู้เถระ ผู้นวกะ (ผู้ใหม่) และผู้มัชฌิมะ (ผู้ปานกลาง) ชื่อว่า ไม่เคารพในสงฆ์อยู่. เมื่อไม่ทำสิกขาให้บริบูรณ์ ชื่อว่า ไม่เคารพในสิกขา เมื่อทำการทะเลาะบาดหมาง เป็นต้น กะกันและกัน ชื่อว่า ไม่เคารพกันและกัน.

จบอรรถกถา กิมพิลสูตรที่ ๑