พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สุปินสูตร ว่าด้วยมหาสุบิน ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39273
อ่าน  476

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 431

จตุตถปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๕

๖. สุปินสูตร

ว่าด้วยมหาสุบิน ๕ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 431

๖. สุปินสูตร

ว่าด้วยมหาสุบิน ๕ ประการ

[๑๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาสุบิน ๕ ประการ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ๕ ประการเป็นไฉน คือ แผ่นดินใหญ่นี้เป็นที่นอนใหญ่ ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย มือซ้ายหย่อนลงในสมุทรด้านทิศบูรพา มือขวาหย่อนลงในสมุทรด้านทิศประจิม เท้าทั้งสองหย่อนลงในสมุทรด้านทิศทักษิณ นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๑ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่.

อีกประการหนึ่ง หญ้าคาได้ขึ้นจากนาภี ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จดท้องฟ้าตั้งอยู่ นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๒ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่.

อีกประการหนึ่ง หมู่หนอนมีสีขาว ศีรษะดำ ได้ไต่ขึ้นมาจากเท้า ของพระสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ปกปิดตลอดถึงชานุมณฑล นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๓ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่.

อีกประการหนึ่ง นกสี่เหล่ามีสีต่างๆ กัน บินมาจากทิศทั้งสี่ ตกลงแทบเท้าของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ แล้วกลับกลายเป็นสีขาวทุกตัว นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๔ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 432

อีกประการหนึ่ง ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ. ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ เดินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ (แต่) ไม่แปดเปื้อนคูถ นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๕ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แผ่นดินใหญ่นี้ เป็นที่นอนใหญ่ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย มือซ้ายหย่อนลงในสมุทร ด้านทิศบูรพา มือขวาหย่อนลงในสมุทร ด้านทิศประจิม เท้าทั้งสองหย่อนลงในสมุทร ด้านทิศทักษิณ นี้เป็นมหาสุบินข้อที่ ๑ ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ตรัสรู้ สัมมาสัมโพธิญาณ ที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า.

ข้อที่หญ้าคาได้ขึ้นจากนาภี ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จดท้องฟ้าตั้งอยู่ นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๒ ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ตรัสรู้ อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วประกาศด้วยดี ตลอดถึงเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย.

ข้อที่หมู่หนอนมีสีขาว ศีรษะดำ ได้ไต่ขึ้นจากเท้าของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ปกปิด ตลอดถึงชานุมณฑล นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๓ ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวจำนวนมาก ได้ถึงตถาคต เป็นสรณะตลอดชีวิต.

ข้อที่นกสี่เหล่ามีสีต่างๆ กัน บินมาจากทิศทั้งสี่ ตกลงแทบเท้าของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ แล้วกลับกลายเป็นสีขาวทุกตัว นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๔ ปรากฏ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 433

เพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า วรรณะทั้งสี่เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชในธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็ทำให้แจ้ง ซึ่งวิมุตติอันยอดเยี่ยม.

ข้อที่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ เดินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ (แต่) ไม่แปดเปื้อนคูถ นี้เป็นมหาสุบิน ข้อที่ ๕ ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า ตถาคตได้ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร แล้วไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเปลื้องตนออกบริโภค.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาสุบิน ๕ ประการนี้ ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่.

จบสุปินสูตรที่ ๖

อรรถกถาสุปินสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในสุปินสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า มหาสุปินา ความว่า ชื่อว่า มหาสุบิน เพราะบุรุษผู้ใหญ่ พึงฝัน และเพราะความเป็นนิมิต แห่งประโยชน์อันใหญ่. บทว่า ปาตุรเหสุํ แปลว่า ได้ปรากฏแล้ว.

ในบทนั้น ผู้ฝันย่อมฝันด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ เพราะธาตุกำเริบ ๑ เพราะเคยเป็นมาก่อน ๑ เพราะเทวดาดลใจ ๑ เพราะบุรพนิมิต ๑. ในฝันเหล่านั้น คนธาตุกำเริบ เพราะดีเป็นต้น เป็นเหตุทำให้กำเริบย่อมฝัน เพราะธาตุกำเริบ และเมื่อฝัน ย่อมฝันหลายอย่าง เช่น ฝันว่าตกจากภูเขา ว่าไป

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 434

ทางอากาศ ว่าถูกเนื้อร้าย ช้าง และโจรเป็นต้น ไล่ตาม. เมื่อฝันโดยเคยเป็นมาก่อน ย่อมฝันถึงอารมณ์ เป็นมาแล้วในกาลก่อน. สำหรับผู้ฝันโดยเทวดาดลใจ ทวยเทพย่อมบันดาลอารมณ์หลายอย่าง เพราะประสงค์ดีก็มี เพราะประสงค์ร้ายก็มี ผู้นั้นย่อมฝันเห็นอารมณ์เหล่านั้น ด้วยอานุภาพ ของทวยเทพเหล่านั้น. เมื่อฝันโดยบุรพนิมิต (ลางบอกล่วงหน้า) ย่อมฝันอันเป็นบุรพนิมิต ของประโยชน์ หรือของความพินาศ ที่ประสงค์จะเกิดด้วยอำนาจบุญ และบาป ดุจพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ได้นิมิตในการได้พระโอรส ดุจพระเจ้าโกศล ทรงฝันเห็นสุบิน ๑๖ และดุจพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้แล ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงฝันเห็นมหาสุบิน ๕ ประการนี้.

ในฝันเหล่านั้น ฝันเพราะธาตุกำเริบ และเพราะเคยเป็นมาก่อนไม่จริง. ฝันเพราะเทวดาดลใจ จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะว่าเทวดาทั้งหลาย โกรธขึ้นมา ประสงค์จะให้ถึงความพินาศด้วยอุบาย จึงแสร้งทำให้ผิดปกติ. แต่ฝันเพราะบุรพนิมิต เป็นจริงโดยส่วนเดียวแท้. แม้เพราะความเกี่ยวข้อง ของมูลเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ต่างกัน ฝันจึงต่างกันไป ฝันแม้ทั้ง ๔ นั้น พระเสกขะ และปุถุชนย่อมฝัน เพราะยังละวิปัลลาสไม่ได้ พระอเสกขะไม่ฝัน เพราะละวิปัลลาสได้แล้ว.

ก็เมื่อฝันนั้น หลับฝันตื่นฝัน หรือว่าไม่หลับไม่ตื่นฝัน. ในข้อนี้มี อธิบายไว้อย่างไร ผิว่าหลับฝัน ก็ผิดอภิธรรม ด้วยว่าสัตว์ย่อมหลับด้วยภวังคจิต ภวังคจิตนั้นหามีรูปนิมิตเป็นต้น เป็นอารมณ์ หรือสัมปยุตด้วยราคะเป็นต้นไม่ จิตเช่นนี้ย่อมเกิดแก่ผู้ฝัน หากตื่นฝัน ก็ผิดวินัย เพราะว่าฝันที่ตื่น ฝันด้วยจิตเป็นอัพโพหาริก (เห็นเหมือนไม่เห็น) จะไม่เป็นอาบัติไม่ได้ เพราะล่วงละเมิด ด้วยจิตเป็นอัพโพหาริก เพราะแม้ผู้ฝันทำล่วงละเมิด ก็ไม่เป็นอาบัติโดยส่วนเดียวเท่านั้น เมื่อไม่หลับไม่ตื่นฝัน ชื่อว่า ไม่ฝัน ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงไม่มีฝัน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 435

และจะไม่มีก็ไม่ใช่. เพราะเหตุไร เพราะผู้ฝันเข้าสู่ความหลับดุจลิง. สมดังที่ พระนาคเสนกล่าวไว้ว่า มหาบพิตรผู้ที่หลับดุจลิงแลย่อมฝัน. บทว่า กปิมิทฺธป เรโต ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยการหลับของลิง. เหมือนอย่างว่า การหลับของลิง เป็นไปเร็วฉันใด การหลับที่ชื่อว่า เป็นไปเร็ว เพราะแทรกแซง ด้วยจิตมีกุศลจิต เป็นต้นบ่อยๆ ก็ฉันนั้น ในความเป็นไปของการหลับใด จิตย่อมขึ้นจากภวังค์บ่อยๆ ผู้ประกอบแล้วด้วยการหลับนั้น ย่อมฝัน.

ด้วยเหตุนั้น ฝันนี้ จึงเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง. ในฝันนั้นพึงทราบว่า เป็นกุศลแก่ผู้กระทำการไหว้เจดีย์ ฟังธรรม และแสดงธรรม เป็นต้น เป็นอกุศลแก่ผู้ทำปาณาติบาต เป็นต้น พ้นจากสองอย่างนั้น เป็นอัพยากฤตในขณะอาวัชชนจิตนึก และขณะตทาลัมพนจิตยึดฝันนั้น เป็นอารมณ์. ฝันนี้นั้นเพราะมีวัตถุเป็นทุรพล จึงไม่สามารถจะชักปฏิสนธิของเจตนามาได้ ก็เมื่อเป็นไปแล้ว ฝันอันกุศล และอกุศลอื่นอุปถัมภ์ไว้ ย่อมให้วิบาก ให้วิบากก็จริง ถึงอย่างนั้น เจตนาในฝันก็เป็นอัพโพหาริก คือกล่าวอ้างไม่ได้เลย เพราะเกิดในที่อันมิใช่วิสัย.

ก็สุบินนี้นั้น แม้ว่า โดยเวลาฝันในเวลากลางวัน ย่อมไม่จริง ในปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ก็เหมือนกัน. แต่ตอนใกล้รุ่ง เมื่ออาหารที่กิน ดื่ม และเคี้ยวย่อยดีแล้ว โอชะอยู่ตามที่ในร่างกาย พออรุณขึ้น ความฝันย่อมจริง เมื่อฝันอันมีอิฏฐารมณ์เป็นนิมิต ย่อมได้อิฏฐารมณ์ เมื่อฝันมีอนิฏฐารมณ์เป็นนิมิต ย่อมได้อนิฏฐารมณ์. ก็มหาสุบิน ๕ เหล่านี้ โลกิยมหาชนไม่ฝัน มหาราชาทั้งหลายไม่ฝัน พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลายไม่ฝัน อัครสาวกทั้งหลายไม่ฝัน พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ฝัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่ฝัน พระสัพพัญญูโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้นย่อมฝัน.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 436

ถามว่า ก็พระโพธิสัตว์ของเราทรงฝันเห็นสุบินเหล่านี้เมื่อไร. ตอบว่า ทรงฝันในเวลาราตรีกระจ่างของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ โดยรู้พระองค์ว่า พรุ่งนี้เราจักเป็นพระพุทธเจ้า อาจารย์บางพวกก็กล่าวว่า วันขึ้น ๑๓ ค่ำก็มี. พระองค์ทรงฝัน เห็นสุบินเหล่านี้แล้ว ทรงลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงดำริว่า ถ้าเราฝันเห็น สุบินเหล่านี้ ในกรุงกบิลพัสดุ์ จะกราบทูลพระชนก หากพระชนนีของเรา ยังทรงพระชนม์อยู่ เราก็จะทูลพระชนนี แต่ในที่นี้ ไม่มีผู้จะทำนายสุบินเหล่านี้ได้ จำเราผู้เดียวจักทำนาย. แต่นั้นพระโพธิสัตว์ ทรงทำนายสุบิน ด้วยพระองค์เองว่า สุบินนี้จักเป็นบุรพนิมิตของสิ่งนี้ สุบินนี้ จักเป็นบุรพนิมิตของสิ่งนี้แล้ว เสวยข้าวมธุปายาส ที่นางสุชาดาในอุรุเวลคามถวาย เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน ทรงบรรลุสัมโพธิญาณ ประทับอยู่ ณ พระเชตวันตามลำดับ เพื่อยังมหาสุบิน ๕ ที่พระองค์เห็นแล้วในมกุฬพุทธกาล (เวลาก่อนเป็นพระพุทธเจ้ามกุฏพุทธะ) ให้พิสดาร จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงเริ่มเทศนานี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า มหาปวี ได้แก่ แผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่ เต็มท้องจักรวาล. บทว่า มหาสยนํ อโหสิ ได้แก่ เป็นที่สิริไสยาสน์. บทว่า โอหิโต คือ วางไว้แล้ว. ก็พระหัตถ์นั้น พึงทราบว่า มิได้วางไว้เหนือน้ำ ที่แท้พาดไปเบื้องบนๆ ของมหาสมุทรด้านทิศปราจีน แล้ววางลงที่สุดแห่งจักรวาล ด้านทิศปราจีน. แม้ในบทเหล่านี้ว่า ปจฺฉิเม สมฺทฺเท ทกฺขิเณ สมุทฺเท ดังนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

ท่านเรียกว่า ทัพพติณะ (คือหญ้าคา) ในบทว่า ติริยา นาม ติณชาติ. บทว่า นาภิยา อุคฺคนฺตฺวา นภํ อาหจฺจ ิตา อโหสิ (หญ้าผุดจากพระนาภีตั้งจดฟ้า) ความว่า หญ้าผุดขึ้นจากพระนาภี เป็นท่อนไม้สีแดง ขนาดเท่าคันไถ แล้วพุ่งขึ้นๆ อย่างนี้ คือ คืบหนึ่ง ๓ ศอก วาหนึ่ง ยัฏฐิ (ไม้เท้า) หนึ่ง คาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์ โยชน์หนึ่งแล้วตั้งจดฟ้า หลายพันโยชน์ทั้งที่เห็นอยู่ นั่นแล.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 437

บทว่า ปาเทหิ อุสฺสกฺกิตฺวา ได้แก่ หนอนไต่พระบาท ตั้งแต่ปลายพระนขา. บทว่า นานาวณฺณา ความว่า นกมีสีต่างๆ กัน อย่างนี้คือ ตัวหนึ่งสีเขียว ตัวหนึ่งสีเหลือง ตัวหนึ่งสีแดง ตัวหนึ่งสีเหมือนใบไม้แห้ง. บทว่า เสตา ได้แก่ สีขาว คือ ขาวปลอด.

บทว่า มหโต มิฬฺหปพฺพตสฺส ได้แก่ ภูเขาเต็มไปด้วยคูถ สูงประมาณ ๓ โยชน์. บทว่า อุปริ อุปริ จงฺกมติ ได้แก่ เสด็จจงกรม แต่บนยอดๆ ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระชนม์ยืน ปรากฏดุจเสด็จเข้าไป ประทับนั่งบนภูเขา เต็มไปด้วยคูถประมาณ ๓ โยชน์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงบุรพนิมิต โดยฐานเท่านี้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงถึงการได้พร้อมด้วยบุรพนิมิตนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยมฺปิ ภิกฺขเว ดังนี้. ในคำนั้น พระอรหัตมรรคของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า เป็นสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เพราะให้คุณทุกอย่าง. เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์นั้น ได้ทรงเห็นแผ่นดินใหญ่แห่งจักรวาลใด เป็นฟูกนอนอันเป็นสิริ แผ่นดินใหญ่แห่งจักรวาลนั้น เป็นบุรพนิมิต แห่งความเป็นพระพุทธเจ้า. ได้ทรงเห็นภูเขาหิมพานต์ใดเป็นหมอน ภูเขาหิมพานต์นั้น เป็นบุรพนิมิต แห่งพระสัพพัญญุตญาณ ได้ทรงเห็นพระหัตถ์และพระบาททั้ง ๔ ประดิษฐาน บนยอดจักรวาลอันใด อันนั้นเป็นบุรพนิมิต ในการประกาศพระธรรมจักร ซึ่งใครๆ ให้เป็นไปไม่ได้ ได้ทรงเห็นพระองค์ บรรทมหงายอันใด อันนั้นเป็นบุรพนิมิต แห่งความที่สัตว์ทั้งหลาย ผู้คว่ำหน้าอยู่ในภพ ๓ หงายหน้าขึ้น ทรงเป็นดุจลืมพระเนตร เห็นอันใด อันนั้นเป็นบุรพนิมิต แห่งการได้ทิพยจักษุ. แสงสว่าง ได้ปรากฏเป็นอันเดียวกัน ตราบเท่าถึงภวัคคพรหมอันใด อันนั้น เป็นบุรพนิมิต แห่งอนาวรณญาณ (ญาณอันไม่มีเครื่องขัดข้อง). คำที่เหลือพึงทราบโดย นัยแห่งพระบาลี นั้นแล.

จบอรรถกถา สุปินสูตรที่ ๖