พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. การณปาลีสูตร ว่าด้วยเหตุที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39271
อ่าน  449

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 421

จตุตถปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๕

๔. การณปาลีสูตร

ว่าด้วยเหตุที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 421

๔. การณปาลีสูตร

ว่าด้วยเหตุที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

[๑๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงาน ของเจ้าลิจฉวีอยู่ ได้เห็นปิงคิยานีพราหมณ์ เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 422

ถามว่า อ้อ ท่านปิงคิยานีมาจากไหนแต่ยังวัน (แต่วันนัก). ปิงคิยานีพราหมณ์ ตอบว่า ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระสมณโคดม.

กา. ท่านปิงคิยานีย่อมเข้าใจพระปรีชา (ความฉลาดด้วยปัญญา) ของพระสมณโคดมว่า เห็นจะเป็นบัณฑิตนั้นอย่างไร.

ปิ. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไร จึงจักรู้พระปรีชา ของพระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้น พึงเป็นเช่นกับพระสมณโคดมนั้นแน่นอน.

กา. ได้ยินว่า ท่านปิงคิยานี สรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก.

ปิ. ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไร จึงจะสรรเสริญ พระสมณโคดม และท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น อันเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย สรรเสริญแล้วๆ ว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย.

กา. ก็ท่านปิงคิยานี เห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงเลื่อมใสยิ่งนัก ในพระสมณโคดมอย่างนี้..

ปิ. ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ปรารถนารสที่เลวเหล่าอื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะ เป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้ถูกความหิว และความอ่อนเพลียครอบงำ พึงได้รวงผึ้ง เขาพึงลิ้มรส โดยลักษณะใดๆ ก็ย่อมได้รสดี อันไม่เจือ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมได้ความดีใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสแห่งใจ โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 423

พึงได้ไม้จันทน์ แห่งจันทน์เหลือง หรือจันทน์แดง พึงสูดกลิ่นจากที่ใดๆ เช่น จากราก จากลำต้น หรือจากยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมดี กลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ก็ย่อมได้ความปราโมทย์ ย่อมได้โสมนัส โดยลักษณะนั้น ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาด พึงบำบัดอาพาธของเขาโดยเร็ว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไป โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนสระน้ำ มีน้ำใส น่าเพลินใจ น้ำเย็น น้ำขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนเพราะแดด ถูกแดดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว กระหาย เดินมาถึง เขาลงไปในสระน้ำนั้น อาบ ดื่ม พึงระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวง ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงของเขา ก็ย่อมระงับไป โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น.

เมื่อปิงคิยานีพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว การณปาลีพราหมณ์ ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ เปล่งอุทานสามครั้งว่า ขอความนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัม-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 424

พุทธเจ้า พระองค์นั้น แล้วกล่าวต่อไปว่า ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่าน แจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอท่านปิงคิยานี จงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบการณปาลีสูตรที่ ๔

อรรถกถาการณปาลีสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในการณปาลีสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า การณปาลี เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น. พราหมณ์ชื่อ การณปาลี เพราะทำราชการในราชสำนัก. บทว่า กมฺมนฺตํ กาเรติ ความว่า การณปาลีพราหมณ์ ลุกแต่เช้าตรู่ กระทำประตูป้อม และกำแพงที่ยังไม่ได้ทา ซ่อมส่วนที่ชำรุด.

บทว่า ปิงฺคิยานึ พฺราหฺมณํ ได้แก่ พราหมณ์ผู้เป็นอริยสาวก ตั้งอยู่ในอนาคามิผล จึงมีชื่ออย่างนี้. ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นลุกแต่เช้าตรู่ ถือของหอม และดอกไม้ เป็นต้น ไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว บูชาด้วยดอกไม้ เป็นต้น แล้วจึงเข้าเมือง. นี้เป็นกิจวัตรประจำวัน ของพราหมณ์. การณปาลีพราหมณ์นั้น ได้เห็นพราหมณ์ปิงคิยานี ทำกิจวัตรอย่างนั้นแล้ว กำลังเดินมา.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 425

บทว่า เอตทโวจ ความว่า การณปาลีพราหมณ์ คิดว่า พราหมณ์ผู้นี้มีปัญญา ญาณกล้า ไปไหนมาแต่เช้าหนอ รู้สึกว่าพราหมณ์เดินเข้ามาใกล้ โดยลำดับ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า หนฺท กุโต ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิวา ทิวสฺส ได้แก่ กลางวัน อธิบายว่า เที่ยงวัน.

บทว่า ปณฺฑิโต มญฺติ ในสูตรนี้ มีใจความว่า การณปาลีพราหมณ์คิดว่า ท่านพราหมณ์ปิงคิยานี ย่อมสำคัญพระสมณโคดมว่า เป็นบัณฑิตหรือไม่หนอ. บทว่า โกจาหมฺโก ความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นใครเล่า ในอันที่จะรู้ถึงความฉลาดปราดเปรื่อง แห่งพระปัญญาของพระสมณโคดมได้. บทว่า โก จ สมณสฺส โคตมสฺส ปญฺา เวยฺยตฺติยํ ชานิสฺสามิ ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานี แสดงความไม่รู้ของตนด้วยประการทั้งปวง อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจักรู้ความฉลาดปราดเปรื่อง แห่งพระปัญญา ของพระสมณะได้แต่ไหน คือ ข้าพเจ้าจักรู้ได้ด้วยเหตุไรเล่า.

บทว่า โสปิ นูนสฺสตาทิโสว ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานีแสดงว่า ผู้ใดพึงรู้ถึงความฉลาดปราดเปรื่อง แห่งพระปัญญาของพระสมณโคดม ผู้นั้น ก็ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้วบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ก็จะพึงเป็นพุทธะ เช่นนั้น เท่านั้น. อันผู้ประสงค์จะวัดภูเขาสิเนรุก็ดี แผ่นดินก็ดี อากาศก็ดี ควรได้ไม้วัด หรือเชือกเท่ากับเขาสิเนรุแผ่นดิน และอากาศนั้น แม้ผู้จะรู้ปัญญา ของพระสมณโคดม ก็ควรจะได้พระสัพพัญญุตญาณ เช่นเดียวกับพระญาณ ของพระองค์เหมือนกัน. ก็ในสูตรนี้พราหมณ์ปิงคิยานี กล่าวย้ำ ด้วยความเอื้อเฟื้อ.

บทว่า อุฬาราย ได้แก่ สูงสุด คือ ประเสริฐสุด. บทว่า โกจาหมฺโภ ความว่า ท่านผู้เจริญ เราเป็นใครเล่า ในการที่จะสรรเสริญพระสมณโคดม. บทว่า โก จ สมณํ โคตมํ ปสํสิสฺสามิ ความว่า เราจักสรรเสริญได้ ด้วยเหตุไรเล่า.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 426

บทว่า ปสฏฺปสฏฺโ ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานีสรรเสริญ ด้วยพระคุณทั้งหลายของพระองค์ ซึ่งชาวโลกทั้งปวงสรรเสริญแล้ว อันฟุ้งไป เหนือคุณทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องสรรเสริญพระองค์ ด้วยพระคุณอื่นๆ เหมือนอย่างว่า ดอกจัมปาก็ดี อุบลขาบก็ดี ปทุมแดงก็ดี จันทน์แดงก็ดี เป็นของผ่องใส และมีกลิ่นหอมด้วยสิริ คือ สี และกลิ่นประจำ ภายในของมันเอง ไม่จำจะต้องชมดอกไม้นั้น ด้วยสี และกลิ่นที่จรมาภายนอก. อนึ่ง เหมือนอย่างว่า แก้วมณีก็ดี ดวงจันทร์ก็ดี ย่อมส่องประกายด้วยแสงของมันเอง แก้วมณี และดวงจันทร์นั้น ก็ไม่จำต้องส่องประกาย ด้วยแสงอื่น ฉันใด พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ทรงได้รับสรรเสริญยกย่อง ให้ถึงความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด แห่งโลกทั้งปวง ด้วยพระคุณของพระองค์เอง ที่ชาวโลกทั้งปวงสรรเสริญแล้ว ก็ไม่จำต้องสรรเสริญพระองค์ ด้วยพระคุณอื่น. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปสฏฺปสฏฺโ เพราะเป็นผู้ประเสริฐกว่า ชนผู้ประเสริฐทั้งหลาย ดังนี้ก็มี. ถามว่า ก็ใครชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐ. ตอบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นผู้ประเสริฐกว่า ชาวกาสีและชาวโกศล พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ประเสริฐกว่า ชาวอังคะ และมคธ กษัตริย์ลิจฉวี กรุงเวสาลี ประเสริฐกว่าชาวแคว้นวัชชี มัลลกษัตริย์เมืองปาวา เมืองกุสินาราเป็นผู้ประเสริฐ แม้กษัตริย์นั้นๆ เหล่าอื่นก็ประเสริฐกว่าชาวชนบท เหล่านั้นๆ พราหมณ์มีจังกีพราหมณ์ เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย อุบาสกมี อนาถบิณฑิกะ เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าอุบาสกทั้งหลาย อุบาสิกามีนางวิสาขา เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าอุบาสิกาหลายร้อย ปริพาชกมีสุกุลุทายี เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าปริพาชกหลายร้อย มหาสาวิกามีอุบลวัณณาเถรี เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าภิกษุณีหลายร้อย พระมหาเถระมีพระสารีบุตรเถระ เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าภิกษุหลายร้อย เทวดามีท้าวสักกะ เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าทวยเทพหลายพัน พรหมมีมหาพรหม เป็นต้น ก็ประเสริฐกว่าพรหมหลาย

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 427

พัน ชนและเทพแม้เหล่านั้นทั้งหมด ก็ยังยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ พระทศพล. พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเรียกว่า ปสฏฺปสฏโ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อตฺถวสํ แปลว่า อำนาจแห่งประโยชน์ทั้งหลาย. ครั้งนั้น พราหมณ์ปิงคิยานี เมื่อบอกถึงเหตุ ที่ตนเลื่อมใส แก่การณปาลีพราหมณ์นั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ โภ ปุริส ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า อคฺครสปริติตฺโต ความว่า ชื่อว่า รสเลิศ มีอาทิอย่างนี้ คือ บรรดารสโภชนะ ข้าวปายาสเลิศ บรรดารสข้นเนยใสจากโคเลิศ บรรดารสฝาดผึ้งอ่อนเลิศ บรรดารสหวานน้ำตาลกรวดเลิศ. อิ่มในรสเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง บริโภคพอหอมปากหอมคอ ดำรงอยู่ได้ บทว่า อญฺเสํ หีนานํ ได้แก่ รสเลวอื่นจากรสเลิศ. บทว่า สุตฺตโส แปลว่า โดยสูตร อธิบายว่า โดยได้สดับมา. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า ตโต ตโต ได้แก่ จากบรรดา สัตถุศาสน์มีสุตตะ เป็นต้นนั้นๆ. บทว่า อญฺเสํ ปุถุสมณพฺราหฺมณปฺปวาทานํ ได้แก่ ไม่ชอบใจ ไม่ปรารถนา คำสอนอันเป็นลัทธิของสมณพราหมณ์ เป็นอันมากอื่น ไม่ปรารถนา แม้แต่จะฟังสมณพราหมณ์เหล่านั้นพูด. บทว่า ชิฆจฺฉาทุพฺพลฺยปเรโต ได้แก่ ถูกความหิวและความอ่อนเพลีย ครอบงำ.

บทว่า มธุปิณฺฑิกํ ได้แก่ ข้าวสัตตุก้อน ที่เขาคั่วแป้งสาลีแล้ว ปรุงด้วยรสหวาน ๔ อย่าง หรือขนมหวานนั่นเอง. บทว่า อธิคจฺเฉยฺย ได้แก่ พึงได้ บทว่า อเสจนกํ ได้แก่ มีรสประณีตอร่อย ไม่ราดด้วยรสอย่างอื่น เพื่อทำให้หวาน. บทว่า หริจนฺทนสฺส ได้แก่ ไม้จันทน์สีเหลืองเหมือนทอง. บทว่า โลหิตจนฺทนสฺส ได้แก่ ไม้จันทร์สีแดง. บทว่า สุรภิคนฺธํ ได้แก่ มีกลิ่นหอม. ก็ความกระวนกระวาย เป็นต้น ได้แก่กระวนกระวาย เพราะวัฏฏะ ลำบากเพราะวัฏฏะ ชื่อว่า เร่าร้อนเพราะวัฏฏะ.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 428

บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ แปลว่า เปล่งอุทาน เหมือนอย่างว่า น้ำมันอันใดที่ไม่สามารถจะเอามาตวงได้ แต่ไหลไป น้ำมันอันนั้น เรียกว่า อวเสกะ น้ำใดไม่สามารถจะขังสระได้ไหลล้นไป น้ำนั้นท่านเรียกว่า โอฆะ ฉันใด. คำใดที่ประกอบด้วยปีติ ไม่สามารถจะขังใจอยู่ มีเกินไปตั้งอยู่ไม่ได้ ในภายใน ก็ออกไปภายนอก คำที่ประกอบด้วยปีตินั้น ท่านเรียกว่า อุทาน ก็ฉันนั้น. อธิบายว่า พราหมณ์การณปาลีเปล่งคำที่สำเร็จด้วยปีติเห็นปานนี้.

จบอรรถกถา การณปาลีสูตรที่ ๔