พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. โสณสูตร ว่าด้วยธรรมเก่าแก่ของพราหมณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39268
อ่าน  304

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 401

จตุตถปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๕

๑. โสณสูตร

ว่าด้วยธรรมเก่าแก่ของพราหมณ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 401

พราหมณวรรคที่ ๕

๑. โสณสูตร

ว่าด้วยธรรมเก่าแก่ของพราหมณ์

[๑๙๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ๕ ประการนี้ บัดนี้ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่กะหญิงที่ไม่ใช่พราหมณี บัดนี้พวกพราหมณ์ ย่อมสมสู่กะพราหมณีบ้าง ย่อมสมสู่กะหญิงที่ไม่ใช่พราหมณีบ้าง บัดนี้ พวกสุนัขย่อมสมสู่ กะสุนัขตัวเมียเท่านั้น ไม่สมสู่กะสัตว์ตัวเมีย ที่ไม่ใช่พวกสุนัข นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๑

บัดนี้ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมสมสู่กะพราหมณี ที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะพราหมณี ที่ไม่มีระดู บัดนี้พวกพราหมณ์ ย่อมสมสู่กะพราหมณี ที่มีระดูบ้าง ย่อมสมสู่กะพราหมณี ที่ไม่มีระดูบ้าง บัดนี้พวกสุนัข ย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมีย ที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะสุนัขตัวเมีย ที่ไม่มีระดู นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๒

บัดนี้ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมไม่ซื้อ ไม่ขายพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกัน ให้เป็นไปด้วยความรัก ความผูกพัน บัดนี้พวกพราหมณ์ย่อมซื้อบ้าง ย่อมขายบ้าง ซึ่งพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกัน ให้เป็นไปด้วยความรัก ความผูกพัน บัดนี้พวก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 402

สุนัข ย่อมไม่ซื้อ ไม่ขายสุนัขตัวเมีย ยังการอยู่ร่วมกัน ให้เป็นไปด้วยความรัก ความผูกพัน นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๓

บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมไม่ทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง บัดนี้ พวกพราหมณ์ ย่อมทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง บัดนี้พวกสุนัข ย่อมไม่ทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๔

บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อมแสวงหาอาหารเย็น เพื่อกินในเวลาเย็น อาหารเช้า เพื่อกินในเวลาเช้า บัดนี้พวกพราหมณ์ บริโภคอาหารจนอิ่ม ตามต้องการแล้ว ย่อมถือเอาส่วนที่เหลือไป บัดนี้ พวกสุนัขย่อมแสวงหาอาหารเย็นเพื่อกินในเวลาเย็น อาหารเช้าเพื่อกินในเวลาเช้า นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๕

บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมของพราหมณ์ ที่เก่าแก่ ๕ ประการ นี้แล บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์.

จบโสณสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 403

พราหมณวรรควรรณนาที่ ๕

อรรถกถาโสณสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในโสณสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า พฺราหฺมณธมฺมา ได้แก่ สภาพของพราหมณ์. บทว่า สุนเขสุ แปลว่า ในสุนัขทั้งหลาย. บทว่า เนว กิณนฺติ น วิกฺกิณนฺติ ได้แก่ ถือเอาไม่ซื้อ ให้ไปไม่ขาย. บทว่า สมฺปิเยเนว สํวาสํ สมฺพนฺธาย สมฺปวตฺเตนฺติ ความว่า เข้าไปหาผู้เป็นที่รัก และไม่เป็นที่รัก แล้วอยู่ร่วมกัน เพื่อสืบประเวณี. บทว่า อุทราวเทหกํ ได้แก่ บริโภคจนเต็มท้อง. บทว่า อวเสสํ อาทาย ปกฺกมนฺติ ได้แก่ ห่อส่วนที่บริโภคไม่หมด ถือเอากลับไป. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส วัฏฏะอย่างเดียว.

จบอรรถกถา โสณสูตรที่ ๑