พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ภเวสิสูตร ว่าด้วยการทําความดีต้องทําให้ยิ่งขึ้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39257
อ่าน  470

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 387

จตุตถปัณณาสก์

อุปาสกวรรคที่ ๓

๑๐. ภเวสิสูตร

ว่าด้วยการทําความดีต้องทําให้ยิ่งขึ้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 387

๑๐. ภเวสิสูตร

ว่าด้วยการทำความดีต้องทำให้ยิ่งขึ้น

[๑๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไป ในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ขณะที่เสด็จดำเนินไปตามหนทางไกล ได้ทอดพระเนตรเห็นสาละป่าใหญ่ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง จึงทรงแวะลงจากหนทาง เสด็จเข้าไปสู่ป่าสาละนั้น ครั้นเสด็จถึงแล้ว จึงทรงทำการแย้มให้ปรากฏ ณ ที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ พระตถาคตย่อมไม่ทรงกระทำ การแย้มให้ปรากฏ ด้วยไม่มีเหตุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำ การแย้มให้ปรากฏ พระตถาคตย่อมไม่ทรงทำ การแย้มให้ปรากฏด้วยไม่มีเหตุ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยได้มีมาแล้ว คือ ณ ประเทศนี้ ได้เป็นเมืองมั่งคั่ง กว้างขวาง มีชนมาก มีมนุษย์หนาแน่น ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยอยู่ในพระนครนั้น ก็อุบาสกนามว่า ภเวสี ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่ากัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีล อุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน เป็นผู้อันภเวสีอุบาสกชี้แจงชักชวน ก็ไม่กระทำ ให้บริบูรณ์ในศีล ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คนเหล่านี้ และเราก็เป็นผู้ไม่ กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้ไม่กระทำ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 388

ให้บริบูรณ์ในศีล ต่างคนต่างก็เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควร ปฏิบัติให้ยิ่งกว่า.

ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้เข้าไปหาอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วได้กล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านทั้งหลาย จงจำเราไว้ว่า เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ก็ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จักเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ก็ไฉนเราทั้งหลาย จะทำให้บริบูรณ์ในศีลไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้เข้าไปหาภเวสีอุบาสกแล้วกล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จงจำอุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่านี้ว่า เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราแลเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ และเราก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ต่างคนต่างก็เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่า.

ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้เข้าไปหาอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านทั้งหลาย จงจำเราไว้ว่า เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้นได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จักประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน ก็ไฉนเราทั้งหลาย จักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้านไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้เข้าไปหาภเวสีอุบาสกแล้วกล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 389

ขอภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จงจำอุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่านี้ว่า เป็นผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราแลเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ และเราก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล และเราก็เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน ต่างคนต่างก็เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติให้ยิ่งกว่า.

ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้เข้าไปหาอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านทั้งหลาย จงจำเราไว้ว่า เป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จักเป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็ไฉนเราทั้งหลาย จักเป็นผู้บริโภคมื้อเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหาร ในเวลาวิกาลไม่ได้เล่า ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้เข้าไป หาภพวสีอุบาสกแล้วกล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า จงจำอุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่านี้ว่า เป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว งดการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสกได้คิดว่า ก็เราแลเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนอุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็และเราก็เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 390

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล และเราเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเว้นไกลจากเมถุน อันเป็นธรรมของชาวบ้าน และเราเป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว งดการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล แม้อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ก็เป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว งดการบริโภคในราตรี งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ต่างคนต่างก็เท่าๆ กัน ไม่ยิ่งไปกว่ากัน ผิฉะนั้น เราควรปฏิบัติ ให้ยิ่งกว่า.

ครั้งนั้น ภเวสีอุบาสก ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ภเวสีอุบาสก ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ภเวสีภิกษุอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็ทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก มิได้มี ก็แลภเวสีภิกษุ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งใน จำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ดูก่อนอานนท์ ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้คิดว่า ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นหัวหน้า ชักชวนเราทั้งหลาย ก็ภเวสีอุบาสกผู้เป็นเจ้าจักปลงผม หนวด ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต ไฉนเราทั้งหลาย จักปลงผม และหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตไม่ได้เล่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 391

ครั้งนั้น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย พึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า อุบาสกประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสปอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ครั้งนั้น ภเวสีภิกษุได้คิดว่า เราแลเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งวิมุตติสุขอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยมนี้ โอหนอ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ แม้เหล่านี้ ก็พึงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งวิมุตติสุขอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยมนี้ ครั้งนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น ต่างเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็ได้ทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ภิกษุประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น มีภเวสีภิกษุเป็นประมุข พยายามบำเพ็ญธรรมที่สูงๆ ขึ้นไป ประณีตขึ้นไป ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติ อันเป็นธรรมชั้นเยี่ยม ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนอานนท์ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักพยายามบำเพ็ญธรรมที่สูงๆ ขึ้นไป ประณีตขึ้นไป จักทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติ อันเป็นธรรมชั้นเยี่ยม ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล.

จบภเวสิสูตรที่ ๑๐

จบอุปาสกวรรคที่ ๓

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 392

อรรถกถาภเวสิสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในภเวสิสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สิตํ ปาตฺวากาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จพระดำเนินไปตามทางใหญ่ ทรงแลดูป่าสาละนั้น ทรงดำริว่า ในที่นี้จะมีเหตุดีไรๆ เคยเกิดขึ้นแล้วหรือหนอ ก็ได้ทรงเห็นเหตุดีที่อุบาสกชื่อ ภเวสี ได้ทำไว้แล้ว ในครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ได้มีพระดำริต่อไปว่า เหตุดีนี้ปกปิด ไม่ปรากฏแก่หมู่ภิกษุ เอาเถิดเราจะทำเหตุนั้นให้ปรากฏแก่หมู่ภิกษุ จึงหลีกออกจากทาง ประทับยืน ณ ที่แห่งหนึ่ง ได้ทรงทำการแย้มให้ปรากฏ แสดงไรพระทนต์ น้อยๆ. พระพุทธเจ้าทั้งหลาย มิได้ทรงพระสรวลเหมือนชาวมนุษย์ในโลก หัวเราะท้องคัดท้องแข็งว่า ที่ไหนที่ไหนดังนี้. การทรงพระสรวลของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นเพียงอาการแย้มเท่านั้น. ชื่อว่า การแย้มนี้ย่อมมีด้วยจิตสหรคต ด้วยโสมนัส ๑๓ ดวง. ชาวโลกหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง คือ จากอกุศล ๔ ดวง จากกามาวจรกุศล ๔ ดวง. พระเสกขะทั้งหลาย นำจิตสัมปยุตด้วยทิฏฐิ ๒ ดวง ออกจากอกุศลแล้ว หัวเราะด้วยจิต ๖ ดวง. พระขีณาสพแย้มด้วยจิต ๕ ดวง คือ ด้วยกิริยาจิต ที่เป็นสเหตุกะ ๔ ดวง ที่เป็นอเหตุกะ ๑ ดวง. แม้ในจิตเหล่านั้น เมื่ออารมณ์มีกำลังปรากฏ พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมแย้มด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ ๒ ดวง. เมื่ออารมณ์ที่มีกำลังอ่อนปรากฏ พระขีณาสพย่อม แย้มด้วยจิต ๓ ดวง คือ ด้วยทุเหตุกจิต ๒ ดวง และด้วยอเหตุกจิต ๑ ดวง. แต่ในที่นี้ จิตสหรคต ด้วยโสมนัส อันเป็นกิริยาเหตุกะ มโนวิญญาณธาตุ ทำการพระสรวล สักว่าอาการแย้มให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็การแย้มนั้น แม้เพียงเล็กน้อยอย่างนี้ ก็ได้ปรากฏแก่พระเถระแล้ว. ถามว่า อย่างไร.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 393

ตอบว่า ในกาลเช่นนั้น เกลียวพระรัศมีประมาณเท่าลำตาลใหญ่ รุ่งโรจน์จากพระทาฐะ ๔ องค์ ของพระตถาคตดุจสายฟ้าแลบจากหน้ามหาเมฆ ๔ ทิศ ผุดขึ้น กระทำประทักษิณรอบพระเศียร ๓ ครั้ง แล้วหายไป ที่ไรพระทาฐะนั่นเอง ด้วยสัญญานั้น ท่านพระอานนท์ แม้ตามเสด็จไปข้างหลังพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ย่อมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการแย้ม ให้ปรากฏ.

บทว่า อิทฺธํ แปลว่า สมบูรณ์. บทว่า ผีตํ ได้แก่ สมบูรณ์ยิ่งนัก ดุจดอกไม้บานสะพรั่งหมดทั้งแถว. บทว่า อากิณฺณมนุสฺสํ ได้แก่ เกลื่อนกลาดไปด้วยหมู่ชน. บทว่า สีเลสุ อปริปูริการี ได้แก่ ไม่ทำความเสมอกัน ในศีล ๕. บทว่า ปฏิเทสิตานิ ได้แก่ แสดงความเป็นอุบาสก. บทว่า สมาทปิตานิ ความว่า ให้ตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย. บทว่า อิจฺเจตํ สมสมํ ได้แก่ เหตุนั้นเสมอกันด้วย ความเสมอโดยอาการทั้งปวง มิได้เสมอโดยเอกเทศบางส่วน. บทว่า นตฺถิ กิญฺจิ อติเรกํ ได้แก่ เราไม่มีเหตุดีไรๆ ที่เกิน หน้าคนเหล่านี้. บทว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเตือน. บทว่า อติเรกาย ความว่า เราจะปฏิบัติเพื่อเหตุที่ดียิ่งขึ้นไป. บทว่า สีเลสุ ปริปูรการี ธาเรถ ความว่า ท่านทั้งหลาย จงรู้ว่าเราทำความเท่าเทียมกันในศีล ๕ แล้ว. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันว่า ภเวสีอุบาสกนั้น ชื่อว่า สมาทานศีล ๕ แล้ว. บทว่า กิมงฺคํ ปน น มยํ ความว่า ก็ด้วยเหตุไรเล่า เราจึงจักไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ได้ บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.

จบอรรถกถา ภเวสิสูตรที่ ๑๐

จบอุปาสกวรรควรรณนาที่ ๓

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 394

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สารัชชสูตร ๒. วิสารทสูตร ๓. นิรยสูตร ๔. เวรสูตร ๕. จัณฑาลสูตร ๖. ปีติสูตร ๗. วณิชชสูตร ๘. ราชสูตร ๙. คิหิสูตร ๑๐. ภเวสิสูตร และอรรถกถา.