พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ติกัณฑกีสูตร ว่าด้วยสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39218
อ่าน  306

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 307

ตติยปัณณาสก์

ติกัณฑกีวรรคที่ ๕

๔. ติกัณฑกีสูตร

ว่าด้วยสิ่งปฏิกูล และไม่ปฏิกูล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 307

๔. ติกัณฑกีสูตร

ว่าด้วยสิ่งปฏิกูล และไม่ปฏิกูล

[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ป่าติกัณฑกีวัน ใกล้เมืองสาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูล อยู่ตลอดกาล ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งปฏิกูลว่าไม่เป็นปฏิกูล อยู่ตลอดกาล ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูล และสิ่งปฏิกูลว่า เป็นปฏิกูล อยู่ตลอดกาล ขอภิกษุพึงเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งปฏิกูล และสิ่งไม่ปฏิกูลว่า เป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ตลอดกาล ขอภิกษุพึงเว้นสิ่งทั้งสอง คือ สิ่งไม่ปฏิกูล และสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีความวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความกำหนัดในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความขัดเคืองในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูล และสิ่งปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 308

เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความกำหนัดในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความขัดเคืองในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูล และสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความขัดเคืองในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความกำหนัดในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ภิกษุจึงควรเป็นผู้มีความสำคัญ ในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร ภิกษุจึงควรเว้น สิ่งทั้งสอง คือ สิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีความวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า ความกำหนัดในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในอารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคืองใน อารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ความ หลงในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ในอารมณ์ไหนๆ ในส่วนไหนๆ แม้มีประมาณน้อย อย่าเกิดขึ้นแก่เรา ภิกษุจึงควรเป็นผู้เว้นสิ่งทั้งสอง คือ สิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลแล้ว เป็นผู้มีความวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่.

จบติกัณฑกีสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 309

อรรถกถาติกัณฑกีสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในติกัณฑกีสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อปฺปฏิกูเล ได้แก่ ในอารมณ์อันไม่ปฏิกูล. บทว่า ปฏิกูลสญฺี ได้แก่ มีความสำคัญอย่างนี้ว่า นี้ปฏิกูล. ในบททั้งปวงก็นัยนี้เหมือนกัน. ถามว่า ก็ภิกษุนี้ อยู่อย่างนี้ได้อย่างไร. ตอบว่า ภิกษุขยายไปในวัตถุที่น่าปรารถนา โดยความเป็นของไม่งาม หรือน้อมนำเข้าไป โดยความเป็นของไม่เที่ยง ชื่อว่ามีความสำคัญ ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นปฏิกูล ด้วยอาการอย่างนี้อยู่. ภิกษุขยายไปในวัตถุอันไม่น่าปรารถนาโดยเมตตาหรือน้อมนำเข้าไป โดยเป็นธาตุ ชื่อว่า มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่า ไม่ปฏิกูล ด้วยอาการอย่างนี้อยู่. ก็ในทั้งสองอย่างนี้ ท่านกล่าวถึงตติยวาร และจตุตถวารโดยนัยต้น และนัยหลัง. ท่านกล่าวนัยที่ ๕ ด้วยฉฬังคุเบกขา ก็ฉฬังคุเบกขานี้ คล้ายกับ อุเบกขาของพระขีณาสพ แต่ไม่ใช่อุเบกขาของพระขีณาสพ. ในบทเหล่านั้น บทว่า อุเปกฺขโก วิหเรยฺย ได้แก่ ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง. บทว่า กฺวจินิ ได้แก่ ในอารมณ์ไรๆ. บทว่า กตฺถจิ ได้แก่ ในถิ่นที่ไรๆ. บทว่า กิญฺจินา คือ แม้มีประมาณน้อยไรๆ. ในสูตรนี้ตรัสวิปัสสนาอย่างเดียว ในฐาน ๕ ด้วยประการ ฉะนี้. ภิกษุรูปหนึ่งผู้ปรารภวิปัสสนา ก็บำเพ็ญวิปัสสนานั้นได้ แม้สมณะผู้เป็นพหูสูต มีญาณ มีปัญญายิ่งนัก ก็บำเพ็ญได้ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ย่อมทำได้ทั้งนั้น พระขีณาสพ ไม่ต้องพูดแล.

จบอรรถกถา ติกัณฑกีสูตรที่ ๔