พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. อวัปปกาสสูตร ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควรและไม่ควรอยู่ผู้เดียว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ต.ค. 2564
หมายเลข  39200
อ่าน  302

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 268

ตติยปัณณาสก์

คิลานวรรคที่ ๓

๗. อวัปปกาสสูตร

ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควร และไม่ควรอยู่ผู้เดียว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 268

๗. อวัปปกาสสูตร

ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควรและไม่ควรอยู่ผู้เดียว

[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้มากด้วยความดำริในกาม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมไม่ควร เพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมควร เพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ ย่อมเป็นผู้มากด้วยความดำริในการออกจากกาม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว.

จบอวัปปกาสสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 269

อรรถกถาอวัปปกาสสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอวัปปกาสสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า นาลํ สํฆมฺหาวปกาสิตุํ ความว่า ไม่ควรหลีกออกไป จากหมู่อยู่ผู้เดียว แต่ที่จริง เธอก็ไม่ควรอยู่แม้ในท่ามกลางหมู่เหมือนกัน ถึงกระนั้นก็ไม่ควรหลีกออกจากหมู่โดยตรง เพราะไม่เป็นการทำหมู่ให้งาม เพราะเนื่องด้วยโอวาทานุสาสนี. บทว่า อลํ สํฆมฺหาวปกาสิตุํ ความว่า จะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียวเท่านั้น โดยอยู่ในทิศทั้ง ๔ ก็ควร และจะอยู่แม้ในหมู่ ก็ควรเหมือนกัน เพราะทำหมู่ให้งาม.

จบอรรถกถา อวัปปกาสสูตรที่ ๗