พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. กุมารลิจฉวีสูตร ว่าด้วยธรรมที่ให้ความเจริญอย่างเดียว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39126
อ่าน  311

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 145

ทุติยปัณณาสก์

นีวรณวรรคที่ ๑

๘. กุมารลิจฉวีสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ให้ความเจริญอย่างเดียว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 145

๘. กุมารลิจฉวีสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ให้ความเจริญอย่างเดียว

[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปสู่เมืองเวสาลี เพื่อบิณฑบาต ครั้นเสด็จ กลับจากบิณฑบาตแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อนกลางวัน ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายคน ถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัขแวดล้อม เดินเที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง อยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วจึงวางธนูที่ขึ้นสาย ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลี อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่ามหานามะ เดินพักผ่อนอยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็น เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านั้น ผู้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลี อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เปล่งอุทานว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนมหานามะ ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ.

ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ เป็นผู้ดุร้าย หยาบคาย กระด้าง ของขวัญต่างๆ ที่ส่งไปในตระกูลทั้งหลาย คือ อ้อย พุทรา ขนม ขนมต้ม หรือขนมแดกงา เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ ย่อมแย่งชิงกิน ย่อมเตะหลังหญิงแห่งตระกูลบ้าง เตะหลังกุมารีแห่งตระกูลบ้าง แต่บัดนี้ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลี อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 146

พ. ดูก่อนมหานามะ ธรรม ๕ ประการ มีอยู่แก่กุลบุตรคนใดคนหนึ่ง เป็นขัตติยราช ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม ผู้ปกครองรัฐ ซึ่งรับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม กุลบุตรนั้น พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

ดูก่อนมหานามะ กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชามารดาบิดา ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม มารดาบิดาผู้ได้รับการสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันมารดาบิดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม.

อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และคนใช้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำชอบธรรม ได้มาโดยชอบธรรม บุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันบุตร ภริยา ทาส กรรมกร และคนใช้ อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม.

อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เพื่อน ชาวนา และคนที่ร่วมงาน ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อนชาวนา และคนที่ร่วมงาน ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 147

บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเพื่อนชาวนา และคนที่ร่วมงานอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม.

อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เทวดา ผู้รับพลีกรรม ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เทวดาผู้รับพลีกรรม ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์ กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม.

อีกประการหนึ่ง กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์ ด้วยโภคทรัพย์ที่หาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม สมณพราหมณ์ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตร อันสมณพราหมณ์อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม.

ดูก่อนมหานามะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมมีอยู่แก่กุลบุตรคนใดคนหนึ่ง เป็นขัตติยราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกก็ตาม ผู้ปกครองรัฐซึ่งได้รับมรดก จากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม ผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม.

กุลบุตรผู้โอบอ้อมอารี มีศีล ย่อมทำการงานแทนมารดาบิดา บำเพ็ญประโยชน์แก่บุตร ภริยา แก่ชนภายใน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 148

ครอบครัว แก่ผู้อาศัยเลี้ยงชีพ แก่ชนทั้งสองประเภท กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต เมื่อ อยู่ครองเรือนโดยธรรม ย่อมยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ญาติ ทั้งที่ล่วงลับไป ทั้งที่มีชีวิต อยู่ในปัจจุบันแก่สมณพราหมณ์ เทวดา กุลบุตรนั้น ครั้นบำเพ็ญกัลยาณธรรมแล้ว เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์.

จบกุมารลิจฉวีสูตรที่ ๘

อรรถกถากุมารลิจฉวีสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในกุมารลิจฉวีสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สชฺชานิ ธนูนิ ความว่า ถือเอาธนูที่ขึ้นสายแล้ว. บทว่า ภวิสฺสนฺติ วชฺชี ได้แก่ เจ้าวัชชีจักเจริญ. บทว่า อปาฏฺภา ความว่า อาศัยความไม่เจริญ เป็นผู้กระด้าง เพราะมานะ. บทว่า ปจฺฉาลิยํ ขิปนฺติ ความว่า เดินไปข้างหลัง แล้วเตะหลัง. ในบททั้งหลายมีบทว่า รฏฺิกสฺส เป็นต้น ผู้ชื่อว่า รัฏฐิกะ เพราะกิน [ปกครอง] แว่นแคว้น. ผู้ชื่อว่า เปตตนิกะ เพราะกิน [ปกครอง] ทรัพย์มรดกที่บิดาให้ไว้. ผู้ชื่อว่า เสนาบดี เพราะเป็นเจ้าเป็นใหญ่แห่งกองทัพ [นายพล]. บทว่า คามคามิกสฺส คือ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ของชาวบ้านทั้งหลาย อธิบายว่า ผู้ปกครองหมู่บ้าน. บทว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 149

ปูคคามณิกสฺส คือหัวหน้าหมู่. บทว่า กุเลสุ คือในตระกูลนั้นๆ. บทว่า ปจฺเจกาธิปจฺจํ กาเรนฺติ คือครอบครองอธิปัตย์ ความเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว.

บทว่า กลฺยาเณน มนสา อนุกมฺปนฺติ คืออนุเคราะห์ด้วยจิต อันดีงาม. บทว่า เขตฺตกมฺมนฺตสามนฺตสโพฺยหาเร ได้แก่ ชนผู้เป็นเจ้าของที่นา ติดกับของตนโดยรอบของชาวนา และพนักงานรังวัดที่ถือเชือก และไม้วัดพื้นที่. บทว่า พลิปฏิคฺคาหิกา เทวตา ได้แก่ อารักขเทวดาที่เชื่อถือกันมา ตามประเพณีของตระกูล. บทว่า ตา สกฺกโรติ ได้แก่ กระทำสักการะเทวดาเหล่านั้น ด้วยข้าวต้ม และข้าวสวยอย่างดี.

บทว่า กิจฺจกโร คือ เป็นผู้ช่วยกระทำกิจที่เกิดขึ้น. บทว่า เย จสฺส อุปชีวิโน ได้แก่ ชนผู้เข้าไปอาศัยกิจนั้นเลี้ยงชีพ บทว่า อุภินฺนํ เยว อตฺถาย ความว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนแม้ทั้งสอง. บทว่า ปุพฺพเปตานํ คือ ผู้ไปสู่ปรโลกแล้ว. บทว่า ทิฏธมฺเม จ ชีวตํ คือ ญาติผู้มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงญาติทั้งหลายในอดีต และปัจจุบัน แม้ด้วยบททั้งสองนี้ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า ปีติสญฺชนโน คือ ให้เกิดความยินดี. บทว่า ฆรามาวสํ แปลว่า อยู่ครองเรือน. บทว่า ปุชฺโช โหติ ปสํสิโย ความว่า ย่อมเป็นผู้อันเขาพึงบูชา และพึงสรรเสริญ.

จบอรรถกถา กุมารลิจฉวีสูตรที่ ๘