พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มาตุปุตติกสูตร ว่าด้วยบ่วงแห่งมาร ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39123
อ่าน  318

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 132

ทุติยปัณณาสก์

นีวรณวรรคที่ ๑

๕. มาตุปุตติกสูตร

ว่าด้วยบ่วงแห่งมาร ๕ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 132

๕. มาตุปุตติกสูตร

ว่าด้วยบ่วงแห่งมาร ๕ ประการ

[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล มารดา และบุตรสองคน คือ ภิกษุ และภิกษุณี เข้าจำพรรษาในพระนครสาวัตถี คนทั้งสองนั้นเป็นผู้ใคร่เห็นกันและกันเนืองๆ แม้มารดาก็เป็นผู้ใคร่เห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตรก็เป็นผู้ใคร่เห็นมารดาเนืองๆ เพราะการเห็นกันเนืองๆ แห่งคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีการวิสาสะคุ้นเคยกัน เมื่อมีการวิสาสะกัน จึงมีช่องคนทั้งสองนั้น มีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล ได้เสพเมถุนธรรม ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารดาและบุตรสองคน คือ ภิกษุและภิกษุณี เข้าจำพรรษาในพระนครสาวัตถี นี้ คนสองคนนั้น เป็นผู้ใคร่เห็นกันและกันเนืองๆ แม้มารดาก็เป็นผู้ใคร่เห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตรก็เป็นผู้ใคร่เห็นมารดาเนืองๆ เพราะการเห็นกันเนืองๆ แห่งคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีการวิสาสะกัน เมื่อมีการวิสาสะกัน จึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล ได้เสพเมถุนธรรม.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆะบุรุษนั้น ย่อมสำคัญหรือหนอว่า มารดาย่อมไม่กำหนัดในบุตร ก็หรือบุตรย่อมไม่กำหนัดในมารดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปอื่น แม้รูปเดียว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 133

ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่การบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษม จากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนรูปหญิงนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพันในรูปหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจรูปหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเสียงอื่น แม้เสียงเดียว ... กลิ่นอื่นแท้กลิ่นเดียว ... รสอื่นแม้รสเดียว ... โผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างเดียว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความหมกมุ่น กระทำอันตรายแก่การบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษม จากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนโผฏฐัพพะแห่งหญิงนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ใฝ่ใจ หมกมุ่น พัวพัน ในโผฏฐัพพะแห่งหญิง เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจโผฏฐัพพะแห่งหญิง ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิงเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี นอนหลับแล้วก็ดี หัวเราะก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี บวมขึ้นก็ดี ตายแล้วก็ดี ย่อมครอบงำจิตของบุรุษได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวสิ่งใดๆ พึงกล่าวโดยชอบว่า บ่วงรวบรัดแห่งมาร ก็พึงกล่าว มาตุคามนั่นแหละว่า เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร โดยชอบได้.

บุคคลพึงสนทนาด้วยเพชฌฆาตก็ดี ด้วยปิศาจก็ดี พึงถูกต้องอสรพิษที่กัดตาย ก็ดี ก็ไม่ร้ายแรง เหมือนสนทนาสองต่อสอง ด้วยมาตุคามเลย พวกหญิงย่อมผูกพันชายผู้ลุ่มหลง ด้วยการมองดู การหัวเราะ การนุ่งห่มลับล่อ และการพูดอ่อนหวาน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 134

มาตุคามนี้ มิใช่ผูกพันเพียงเท่านี้ แม้บวมขึ้น ตายไปแล้ว ก็ยังผูกพันชายได้ กามคุณ ๕ นี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อม ปรากฏในรูปหญิง เหล่าชนผู้ถูกห้วงกามพัด ไม่กำหนดรู้กาม มุ่งคติในกาล และ ภพน้อย ภพใหญ่ในสงสาร ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้กาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เที่ยวไป ชนเหล่านั้นบรรลุถึงความสิ้นอาสวะ ย่อมข้ามฝั่งสงสารในโลกได้.

จบมาตุปุตติกสูตรที่ ๕

อรรถกถามาตุปุตติกสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในมาตุปุตติกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปริยาทาย ติฏฺติ ความว่า ย่อมครอบงำ คือยึดเอา ได้แก่ ให้ส่ายไปตั้งอยู่. บทว่า อุคฺฆานิตา ได้แก่ พองขึ้น.

บทว่า อสิหตฺเถน ความว่า แม้กับผู้ถือเอาดาบมา หมายตัดศีรษะ. บทว่า ปิสาเจน ความว่า แม้กับยักษ์ที่มาหมายจะกิน. บทว่า อาสทฺเท แปลว่า พึงแตะต้อง. บทว่า มญฺชุนา แปลว่า อันอ่อนโยน. บทว่า กาโมฆวุฬฺหานํ คืออันโอฆะ คือกามพัดพาไป คร่าไป. บทว่า กาลํ คตึ ภวาภวํ คือซึ่งคติ และการมีบ่อยๆ ตลอดกาลแห่งวัฏฏะ. บทว่า ปุรกฺขตา คือให้เที่ยวไป

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 135

ข้างหน้า ได้แก่กระทำไว้เบื้องหน้า. บทว่า เย จ กาเม ปริญฺาย ความว่า ชนเหล่าใดเป็นบัณฑิต กำหนดรู้กามแม้ทั้งสองอย่าง ด้วยปริญญา ๓. บทว่า จรนฺติ อกุโตภยา ความว่า ขึ้นชื่อว่า ความมีภัยแต่ที่ไหนๆ ไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระขีณาสพเหล่านั้น จึงหาภัยมิได้แต่ที่ไหนๆ เที่ยวไป. บทว่า ปารคตา ความว่า นิพพานท่านเรียกว่า ฝั่ง. อธิบายว่า เข้าถึงนิพพานนั้น คือการทำให้แจ้งแล้วดำรงอยู่. บทว่า อาสวกฺขยํ ได้แก่ พระอรหัต. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะเท่านั้น ในคาถาทั้งหลาย ตรัสทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะ.

จบอรรถกถา มาตุปุตติกสูตรที่ ๕