พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อุปกิเลสสูตร ว่าด้วยเรื่องอุปกิเลส ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ต.ค. 2564
หมายเลข  39090
อ่าน  327

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 32

ปฐมปัณณาสก์

ปัญจังคิกวรรคที่ ๓

๓. อุปกิเลสสูตร

ว่าด้วยเรื่องอุปกิเลส ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 32

๓. อุปกิเลสสูตร

ว่าด้วยเรื่องอุปกิเลส ๕

[๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง ซึ่งเป็นเหตุให้ทองมัวหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่สุกใส เสียเร็ว จะทำเป็นเครื่องประดับไม่ได้ มี ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ เหล็ก ๑ โลหะ ๑ ดีบุก ๑ ตะกั่ว ๑ เงิน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองแห่งทอง ๕ ประการ นี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้ทองมัวหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่สุกใส เสียเร็ว จะทำเป็นเครื่องประดับไม่ได้ เมื่อใดทองพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง ๕ ประการนี้ ย่อมอ่อน ใช้การได้ สุกใส ทนทาน จะทำเป็นเครื่องประดับก็ได้ คือ ช่างทอง ต้องการเครื่องประดับชนิดใดๆ เช่น แหวน ตุ้มหู สร้อยคอ สังวาล ก็ทำได้ตามต้องการ ฉันใด อุปกิเลสแห่งจิต ซึ่งเป็นเหตุให้จิตเศร้า หมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผ่องใส เสียเร็ว ไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็มี ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน อุปกิเลส ๕ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ อุปกิเลสแห่งจิต ๕ ประการ นี้แล ซึ่งเป็นเหตุ ให้จิตเศร้าหมองแล้ว ย่อมไม่อ่อน ใช้การไม่ได้ ไม่ผ่องใส เสียเร็ว ไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ แต่เมื่อใดจิตพ้นจาก อุปกิเลส ๕ ประการนี้ ย่อมอ่อน ใช้การได้ ผ่องใส ทนทาน ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ และภิกษุจะน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในธรรมนั้นๆ โดยแน่นอน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 33

ถ้าภิกษุหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินในแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในอิทธิวิธีนั้นๆ โดยแน่นอน.

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงฟังเสียง ๒ อย่าง คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อ มีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในทิพโสตนั้นๆ โดยแน่นอน.

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็พึงรู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็พึงรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็พึงรู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิ ก็พึงรู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อ มีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในเจโตปริยญาณนั้นๆ โดยแน่นอน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 34

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราพึงระลึกชาติก่อนได้ เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อมีอยู่ ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในบุพเพนิวาสานุสติญาณนั้นๆ โดยแน่นอน.

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังเคลื่อน กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือมั่นการกระทำ ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ถือมั่นการกระทำ ด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ สัตว์เหล่านั้น เมื่อตายไปเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราพึงเห็นหมู่ สัตว์ที่กำลังเคลื่อน กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 35

หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อ มีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในจุตูปปาตญาณนั้นๆ โดยแน่นอน.

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เมื่อธรรมเครื่องสืบต่อ มีอยู่ไม่ขาดสาย เธอก็จะบรรลุผลสำเร็จ ในเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตตินั้นๆ โดยแน่นอน.

จบอุปกิเลสสูตรที่ ๓

อรรถกถาอุปกิเลสสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอุปกิเลสสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า น จ ปภสฺสรํ คือ ไม่สว่างไสว. บทว่า ปภงฺคุ จ คือ มีสภาพผุพัง. บทว่า อโย คือ โลหะดำ (เหล็ก). บทว่า โลหํ ได้แก่ โลหะที่เหลือเว้นโลหะ ๔ ที่ตรัสไว้แล้วในที่นี้. บทว่า สชฺฌุํ ได้แก่ เงิน. บทว่า จิตฺตสฺส ได้แก่ กุศลจิต อันเป็นไปในภูมิ ๔. ถามว่า อุปกิเลส ย่อมมีแก่กุศลจิต อันเป็นไปในภูมิ ๓ ยกไว้ก่อน แต่จะมีแก่โลกุตตรภูมิได้อย่างไร. ตอบว่า โดยไม่ให้กุศลจิตเกิดขึ้น. อุปกิเลสทั้งหลาย ไม่ให้กุศลจิตเกิดขึ้นโดยส่วนใด ชื่อว่า อุปกิเลสทั้งหลาย ก็ย่อมมีทั้งแก่โลกิยกุศลจิต ทั้งแก่โลกุตตรกุศลจิต โดยส่วนนั้น นั่นเอง. บทว่า ปภงฺคุ จ ได้แก่ มีสภาพผุพัง เพราะแหลกละเอียดไปในอารมณ์. บทว่า สมฺมาสมาธิยติ อาสวานํ ขยาย ได้แก่ ย่อมตั้งมั่นด้วยเหตุการณ์ เพื่อประโยชน์แก่พระอรหัต กล่าวคือ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ทรงแสดงถึงพระขีณาสพ ผู้ชำระจิต

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 36

ให้หมดจด แล้วตั้งอยู่ในอรหัตผล. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอภิญญาปฏิเวธ การแทงทะลุปรุโปร่งของพระขีณาสพนั้น จึงตรัสคำเป็น อาทิว่า ยสฺส ยสฺส จ ดังนี้. คำนั้นมีเนื้อความง่าย ทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถา อุปกิเลสสูตรที่ ๓