พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. วิตถตสูตร ว่าด้วยกําลังของเสขบุคคล ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ต.ค. 2564
หมายเลข  39066
อ่าน  351

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 3

ปฐมปัณณาสก์

เสขพลวรรคที่ ๑

๒. วิตถตสูตร

ว่าด้วยกําลังของเสขบุคคล ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 3

๒. วิตถตสูตร

ว่าด้วยกำลังของเสขบุคคล ๕

[๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือศรัทธา กำลังคือหิริ กำลังคือโอตตัปปะ กำลังคือวิริยะ กำลังคือปัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลังคือศรัทธาเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญา เครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า กำลัง คือ ศรัทธา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ หิริเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหิริ ย่อมละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมละอายต่อการประกอบธรรม อันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่า กำลัง คือ หิริ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ โอตตัปปะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมสะดุ้งกลัว ต่อการประกอบธรรมอันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่า กำลัง คือ โอตตัปปะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ วิริยะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เรียกว่า กำลัง คือ วิริยะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ปัญญา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 4

เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา เครื่องหยั่งถึงความเกิดขึ้นและดับ เป็นอริยะชำแรกกิเลส เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า กำลัง คือ ปัญญา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำลังของพระเสขบุคคล ๕ ประการ นี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจักเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือศรัทธา กำลังคือหิริ กำลังคือโอตตัปปะ กำลังคือวิริยะ กำลังคือปัญญา อันเป็นกำลังของพระเสขบุคคล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล.

จบวิตถตสูตรที่ ๒

อรรถกถาวิตถตสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในวิตถตสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

ในบทว่า กายทฺจฺจริเตน เป็นต้น เป็นตติยาวิภัติ ลงในอรรถทุติยาวิภัติ. อธิบายว่า ละอาย รังเกียจ ซึ่งกายทุจริตเป็นต้น อันควรละอาย. ในโอตตัปปนิเทศ เป็นตติยาวิภัติ ลงในอรรถว่าเหตุ. อธิบายว่า เกรงกลัว เพราะกายทุจริตเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งโอตตัปปะ. บทว่า อารทฺธวิริโย ได้แก่ ประคองความเพียรไว้ มีใจไม่ท้อถอย. บทว่า ปหานาย แปลว่า เพื่อละ. บทว่า อุปสมฺปทาย แปลว่า เพื่อได้เฉพาะ. บทว่า ถามวา ได้แก่ ประกอบด้วยกำลังคือความเพียร. บทว่า ทฬฺหปรกฺกโม ได้แก่ มีความบากบั่นมั่นคง. บทว่า อนิกฺขิตฺตธุโร กุสเลสุ ธมฺเสสุ ได้แก่ ไม่วางธุระ เพียร ไม่ท้อถอย ในกุศลธรรมทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 5

บทว่า อุทยตฺถคามินิยา ได้แก่ อันให้ถึงความเกิด ความดับไป แห่งขันธ์ทั้ง ๕ สามารถรู้ปรุโปร่งความเกิด และความเสื่อมได้. บทว่า ปญฺาย สมนฺนาคโต ได้แก่ เป็นผู้พร้อมเพรียง ด้วยวิปัสสนาปัญญา และมรรคปัญญา. บทว่า อริยาย ได้แก่ ตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งหลาย ด้วยการข่มไว้ และด้วยการตัดขาด ชื่อว่า บริสุทธิ์. บทว่า นิพฺเพธิกาย ความว่า ปัญญานั้น ท่านเรียกว่า นิพฺเพธิกา เพราะรู้เจาะแทงตลอด อธิบายว่า ประกอบด้วยนิพเพธิกปัญญานั้น. ในข้อนั้น มรรคปัญญาชื่อว่า นิพฺเพธิกา เพราะเจาะทำลายกองโลภะ กองโทสะ กองโมหะ ที่ยังไม่เคยเจาะ ยังไม่เคยทำลาย ด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน. วิปัสสนาปัญญา ชื่อว่า นิพฺเพธิกา ด้วยอำนาจตทังคปหาน. หรืออีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนาควรจะเรียกว่า นิพฺเพธิกา เพราะเป็นไปเพื่อได้มรรคปัญญา. แม้ในบทว่า สมฺมาทุกฺขกฺขยคามินิยา นี้ มรรคปัญญา ชื่อว่า สัมมาทุกขักขยคามินี เพราะทำวัฏทุกข์ และกิเลสทุกข์ให้สิ้นไป โดยชอบ โดยเหตุ โดยนัย. วิปัสสนาปัญญา ชื่อว่า ทุกขักขยคามินี เพราะทำวัฏฏทุกข์ และกิเลสทุกข์ให้สิ้นไป ด้วยอำนาจตทังคปหาน. วิปัสสนาปัญญานั้น พึงทราบว่า เป็นทุกขักขยคามินี เพราะเป็นไป ด้วยการถึงความสิ้นทุกข์ หรือด้วยการได้เฉพาะ ซึ่งมรรคปัญญา. ในสูตรนี้ ท่านกล่าวพละ ๕ ปนกันด้วย ประการฉะนี้.

จบอรรถกถา วิตถตสูตรที่ ๒