พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. หัตถกสูตร ว่าด้วยหัตถกเทพบุตรไม่อิ่มธรรม ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38759
อ่าน  286

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 555

ตติยปัณณาสก์

กุสินาวรรคที่ ๓

๕. หัตถกสูตร

ว่าด้วยหัตถกเทพบุตรไม่อิ่มธรรม ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 555

๕. หัตถกสูตร

ว่าด้วยหัตถกเทพบุตรไม่อิ่มธรรม ๓ อย่าง

[๕๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นเทวบุตรชื่อ หัตถกะ เมื่อราตรีล่วง (ปฐมยาม) แล้ว มีผิวพรรณงดงาม (เปล่งรัศมี) ทำให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงที่ประทับแล้ว หมายใจว่าจักยืนเฝ้าต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตัวย่อมจมลงและจมลง ไม่ดำรงอยู่ได้ เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำมันที่คนราดลงบนทราย ย่อมซึมหายไปภายใต้ไม่ค้างอยู่ฉันใด หัตถกเทวบุตรหมายใจว่า จักยืนเฝ้าต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตัวย่อมจมลงและจมลง ไม่ดำรงอยู่ได้ฉันนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 556

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะหัตถกเทวบุตรว่า หัตถกะ ท่านจงนิรมิตตัวให้หยาบ

หัตถกเทวบุตรรับพระพุทธพจน์แล้ว นิรมิตตัวให้หยาบ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า หัตถกะ ธรรมเหล่าใดที่ท่านเคยประพฤติเมื่อครั้งท่านเป็นมนุษย์ ธรรมเหล่านั้น บัดนี้ท่านยังประพฤติอยู่หรือ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่าใดที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยประพฤติเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ธรรมเหล่านั้น บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังประพฤติอยู่ และยังประพฤติธรรมที่ไม่เคยประพฤติเมื่อครั้งเป็นมนุษย์อีกด้วย เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าอาเกียรณ์อยู่ด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา ราชมหาอำมาตย์ เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ ฉันใด ข้าพระพุทธเจ้าก็อาเกียรณ์อยู่ด้วยเทวบุตรทั้งหลาย ฉันนั้น เทวบุตรทั้งหลายมาแม้ไกลๆ ตั้งใจจักฟังธรรมในสำนักหัตถกเทวบุตร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่อิ่ม ยังไม่เบื่อธรรม ๓ อย่าง ก็ทำกาละแล้ว ธรรม ๓ อย่างคืออะไร คือ การเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า การฟังพระสัทธรรม การอุปัฏฐากพระสงฆ์ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่อิ่ม ไม่เบื่อธรรม ๓ อย่างนี้แล ได้ทำกาละแล้ว.

แน่ละ ความอิ่มต่อการเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม จักมีในกาลไหนๆ

หัตถกอุบาสก ผู้รักษาอธิศีล ยินดีในการฟังพระสัทธรรม ไม่ทันอิ่มธรรม ๓ ประการ ก็ไปอวิหาพรหมโลกแล้ว.

จบหัตถกสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 557

อรรถกถาหัตถกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในหัตถกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในบทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา นี้ ปรากฏในความว่า สิ้นไป ดี รูปงาม และน่าอนุโมทนายิ่ง เป็นต้น. ในอรรถ ๔ อย่างนั้น อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏใน ความสิ้นไป เช่นในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า. ปรากฏในความว่า ดี เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ผู้นี้ทั้งงาม ทั้งประณีตกว่าบุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้.

ปรากฏในความว่า รูปงาม เช่นในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า

ใครรุ่งโรจน์อยู่ด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ไหว้เท้าทั้งสองของเราอยู่ ดังนี้.

ปรากฏในความว่า อนุโมทนาอย่างยิ่ง เช่นในประโยคทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอนุโมทนายิ่งนัก. แต่ในบทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา นี้ อภิกฺกนฺต ศัพท์ ปรากฏในความดี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวขยายความไว้ว่า บทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ความว่า ในราตรีที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ. อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในบทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา นี้ ปรากฏในความว่า รูปงาม.

ส่วน วณฺณ ศัพท์ ปรากฏใน ฉวิ (ผิวพรรณ) ถุติ (การชมเชย) กุลวรรค (ชนชั้น) การณะ (เหตุ) สัณฐาน (รูปร่าง) ปมาณ (ขนาด)

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 558

และในรูปายตนะเป็นต้น. ในบรรดาอรรถ ๖ อย่างนั้น วณฺณ ศัพท์ ปรากฏในผิว เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงมีพระฉวีเพียงดังวรรณะแห่งทอง. ปรากฏในความชมเชย เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ก็การสรรเสริญคุณของพระสมณโคดม ท่านได้ผูกพันไว้แต่เมื่อไร. ปรากฏในกุลวรรค (ชนชั้น) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วรรณะของข้าพระองค์มี ๔ อย่าง. ปรากฏในการณะ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ เขาเรียกว่า คนฺธตฺเถโน (ขโมยกลิ่น). ปรากฏในสัณฐาน เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า เนรมิตสัณฐาน (รูปร่าง) เป็นพญาช้างใหญ่. ปรากฏในประมาณ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ประมาณ (ขนาด) ของบาตรมี ๓ อย่าง. ปรากฏในรูปายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า รูป (วรรณะ) คันธะ รสะ โอชา. วัณณ ศัพท์นั้น ในที่นี้พึงทราบว่า ได้แก่ ผิว. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวขยายความไว้ว่า บทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา ความว่า มีผิวพรรณงาม คือ มีผิวพรรณน่าปรารถนา มีผิวพรรณน่าพอใจ.

เกวล ศัพท์ ในบทว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีอรรถมิใช่น้อย เช่น อนวเสส (ไม่มีส่วนเหลือ) เยภุยฺย (โดยมาก) อพฺยามิสฺส (ไม่เจือปนกัน) นาติเรก (ไม่มาก) ทฬฺหตฺถ (มุ่งมั่น) วิสํโยคะ (พรากจากกัน) จริงอย่างนั้น เกวล ศัพท์นั้น มีเนื้อความไม่มีส่วนเหลือในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. ความที่ เกวล ศัพท์ ใช้ความหมายว่า โดยมาก เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ก็ชาวอังคะและมคธจำนวนมาก จักพากันถือเอาขาทนียและโภชนียาหารอันพอเพียงเข้าไปเฝ้า. ความที่ เกวล ศัพท์ มีความหมายว่า ไม่เจือปน ดังในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ล้วนๆ ย่อมมี. ความที่ เกวล ศัพท์

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 559

มีความหมายว่า ไม่มาก ดังในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว (ไม่มาก). ความที่ เกวล ศัพท์ มีความหมายว่า มุ่งมั่น เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สัทธิวิหาริกของท่านอนุรุทธะ ชื่อว่าพาหิกะ ตั้งอยู่ในสังฆเภทเห็นแม่นมั่น. เกวล ศัพท์ มีความว่า พรากจากกันเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ผู้แยกกันอยู่ท่านเรียกว่า อุตตมบุรุษ. แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอาความไม่มีส่วนเหลือว่า เป็นความหมายของ เกวล ศัพท์นั้น

ส่วน กัปป ศัพท์ มีความหมายมากอย่าง เช่นเป็นต้นว่า อภิสัททหนะ (การปลงใจเชื่อ) โวหาร (การเรียกร้อง) กาลบัญญัติ เฉทนะ (การตัด) วิกัปปะ (กำหนด) เลศ (ข้ออ้าง) สมันตภาว (ภาวะใกล้เคียง). จริงอย่างนั้น กัปป ศัพท์นั้น มีความปลงใจเชื่อเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า พระดำรัสนี้ของพระโคดมผู้เจริญ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น่าปลงใจเชื่อ. กัปป ศัพท์ มีโวหาร (การเรียกร้อง) เป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้ฉันผลไม้ตามสมณโวหาร ๕ อย่าง. กัปป ศัพท์ มีกาลเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า เราจะอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ โดยอาการใด. กัปป ศัพท์ มีบัญญัติเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุชื่อว่ากัปปะ ทูลถามว่า ... ดังนี้. กัปป ศัพท์ มีการตัดเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ผู้ประดับแล้ว โกนผมและหนวดแล้ว. กัปป ศัพท์ มีการกำหนดเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า กำหนด ๒ องคุลี ย่อมควร. กัปป ศัพท์ มีเลศเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า เลศเพื่อจะนอนมีอยู่. กัปป ศัพท์ มีภาวะรอบด้านเป็นอรรถ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ให้สว่างไสวทั่วทั้งพระเชตวัน. แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอาความรอบด้าน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 560

เป็นความหมายของกัปปศัพท์นั้น. เพราะฉะนั้น ในบทว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ จึงมีความหมายว่า ยังพระเชตวันให้สว่างไสวรอบด้าน ไม่มีเหลือ.

บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ แผ่รัศมีไป. บทว่า วาลุกาย ได้แก่ ทรายละเอียด. บทว่า น สณฺาติ ความว่า ไม่ยืนอยู่. บทว่า โอฬาริกํ ความว่า เพราะว่า. ในเวลาที่พระพรหมและเทวายืนอยู่ที่แผ่นดิน ควรจะเนรมิตอัตภาพให้หยาบ หรือเนรมิตแผ่นดิน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้. ด้วยบทว่า ธมฺมา นี้ ทรงแสดงถึงพระพุทธพจน์ที่หัตถกเทพบุตรเคยเรียนมาในกาลก่อน. บทว่า นปฺปวตฺติโน อเหสุํ ความว่า ธรรมทั้งหลายได้เสื่อมไปจากการกล่าวของผู้ที่ลืมสาธยาย. บทว่า อปฺปฏิ ภาโณ ความว่า ไม่วกกลับ คือ ไม่กระสัน. บทว่า ทสพลสฺส ความว่า ต่อการเห็นด้วยจักขุวิญญาณ. บทว่า อุปฏฺานสฺส ความว่า ต่อการบำรุงด้วยปัจจัย ๔. บทว่า อธิสีลํ ได้แก่ ศีล ๑๐ อย่าง. ด้วยว่าศีล ๑๐ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อธิศีล เพราะเทียบกับเบญจศีล. ด้วยบทว่า อวิหํ คโต หัตถกเทพบุตรแสดงว่า ข้าพระองค์เกิดแล้ว ในพรหมโลกชั้นอวิหา.

จบอรรถกถาหัตถกสูตรที่ ๕