พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. โคตมสูตร ว่าด้วยอาการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38757
อ่าน  412

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 549

ตติยปัณณาสก์

กุสินาวรรคที่ ๓

๓. โคตมสูตร

ว่าด้วยอาการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 549

๓. โคตมสูตร

ว่าด้วยอาการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๓ อย่าง

[๕๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ โคตมกเจดีย์ ใกล้พระนครเวสาลี ฯลฯ ตรัสพระธรรมเทศนาว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (๑) เราแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง มิใช่เพื่อความไม่รู้ยิ่งเห็นจริง (๒) เราแสดงธรรมประกอบด้วยเหตุ มิใช่ไร้เหตุ (๓) เราแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ (คือ ความอัศจรรย์ที่ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้รับผลสมแก่การปฏิบัติ) มิใช่ไม่มีปาฏิหาริย์ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง มิใช่เพื่อความไม่รู้ยิ่งเห็นจริง แสดงธรรมประกอบด้วยเหตุ มิใช่ไร้เหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่ไม่มีปาฏิหาริย์ (เช่นนั้น) โอวาทานุสาสนีของเรา จึงควรที่บุคคลจะพึงประพฤติกระทำตาม และควรที่ท่านทั้งหลายจะยินดี จะมีใจเป็นของตน จะโสมนัสว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณเทศนานี้อยู่ สหัสสีโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว.

จบโคตมสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 550

อรรถกถาโคตมกเจติยสูตร (๑)

พึงทราบวินิจฉัยในโคตมกเจติยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โคตมเก เจติเย ได้แก่ ในที่อาศัย (เทวสถาน) ของโคตมกยักษ์. อธิบายว่า ในปฐมโพธิกาล โดยมากพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ที่เทวาลัยเท่านั้น เป็นเวลาถึง ๒๐ พรรษาอย่างนี้ คือ บางครั้งที่จาปาลเจดีย์ บางครั้งที่สารันททเจดีย์ บางครั้งที่พหุปุตตเจดีย์ บางครั้งที่สัตตัมพเจดีย์. แต่ในเวลานี้ พระองค์ทรงอาศัยเมืองเวสาลี ประทับอยู่แล้วในเทวสถานของโคตมกยักษ์. ด้วยเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า โคตมเก เจติเย ดังนี้.

บทว่า เอตทโวจ นี้ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ คือ พระสูตร มีอาทิว่า อภิญฺายาหํ ดังนี้. ก็แล ในการบังเกิดขึ้นแห่งเนื้อความพระสูตรนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว. ถามว่า ในการบังเกิดขึ้นแต่เนื้อความไหน. ตอบว่า ในการบังเกิดขึ้นแห่งเนื้อความในมูลปริยายสูตร.

ได้ทราบว่า พราหมณ์บรรพชิตจำนวนมากเกิดเมาความรู้ขึ้น เพราะอาศัยพระพุทธพจน์ที่ตนเคยเรียนแล้ว ไม่ยอมไปโรงฟังธรรมด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะตรัส ก็ตรัสคำที่พวกเรารู้แล้วเท่านั้น ไม่ตรัสคำที่พวกเรายังไม่รู้ ดังนี้. ภิกษุทั้งหลายกราบทูล (ความนั้น) แก่พระตถาคตเจ้าแล้ว พระศาสดาตรัสให้เรียกภิกษุเหล่านั้นมา ทรงถือเอามุขปฏิญญา (การรับปากของภิกษุเหล่านั้น) แล้วทรงแสดงมูลปริยายสูตร ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เห็นที่มาที่ไปของพระธรรมเทศนาเลย เมื่อไม่เห็นก็พากันคิดว่า พระสัมมา


(๑) พระสูตรเป็นโคตมสูตร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 551

สัมพุทธเจ้าคงเข้าพระทัยว่า ธรรมกถาของเราตถาคต ย่อมนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ จึงตรัสพระธรรมเทศนาที่คล่องพระโอฐเท่านั้น. พระศาสดาทรงรู้ใจของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเริ่มพระสูตรนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิญฺาย ความว่า รู้ คือ แทงตลอด ได้แก่ กระทำให้ประจักษ์ว่า ธรรมเหล่านี้ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ เหตุ ๙ ผัสสะ ๗ เวทนา ๗ เจตนา ๗ สัญญา ๗ จิต ๗. อนึ่ง อธิบายว่า รู้ คือ แทงตลอด ได้แก่ กระทำให้แจ้งนั่นแหละซึ่งธรรมเหล่านั้นๆ โดยนัยมีอาทิว่า สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ดังนี้. บทว่า สนิทานํ ความว่า เราตถาคตกล่าวธรรมพร้อมทั้งปัจจัยนั่นแล ไม่ใช่ไม่มีปัจจัย. บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ความว่า เราตถาคตกล่าวธรรมมีปาฏิหาริย์นั่นแหละ เพราะขจัดข้าศึกได้ ไม่ใช่ไม่มีปาฏิหาริย์. บทว่า อลญฺจ ปน โว ความว่า ก็แล (โอวาทานุสาสนี) ควรแก่เธอทั้งหลาย. บทว่า ตุฏฺิยา มีอรรถาธิบายว่า ควรทีเดียว เพื่อจะทำความยินดีแก่เธอทั้งหลายผู้ระลึกถึงเนืองๆ ซึ่งรตนะทั้ง ๓ โดยพระคุณว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้ แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ.

บทว่า อกมฺปิตฺถ ได้แก่ ได้หวั่นไหวแล้วด้วยอาการ ๖ อย่าง อธิบายว่า ความหวั่นไหวแห่งปฐพีเห็นปานนี้ ได้มีแล้วที่โพธิมณฑล ได้ยินว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่โพธิมณฑลทางด้านทิศใต้ ด้านทิศใต้เบื้องล่างก็ได้เป็นเหมือนลงไปถึงอเวจีมหานรก ด้านทิศเหนือได้เป็นเหมือนจะยกขึ้นจดภวัคคพรหม ด้านทิศตะวันตกเบื้องล่างได้เป็นเหมือนลงไปถึงอเวจีมหานรก ด้านทิศตะวันออกก็ได้เป็นเหมือนจะยกขึ้นจดภวัคคพรหม ทิศเหนือด้านล่างก็ได้เป็นเหมือนลงไปถึงอเวจีมหานรก ด้านทิศใต้ก็ได้เป็น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 552

เหมือนจะยกขึ้นจดภวัคคพรหม ทิศตะวันออกเบื้องล่างได้เป็นเหมือนลงไปถึงอเวจีมหานรก ด้านทิศตะวันตกได้เป็นเหมือนจะยกขึ้นจดภวัคคพรหม แม้โพธิพฤกษ์เบื้องล่างก็ได้เป็นเหมือนจมลงไปถึงอเวจีมหานรกคราวเดียวกัน (ด้านบน) ได้เป็นเหมือนพุ่งขึ้นไปจดภวัคคพรหมคราวเดียวกัน. แม้ในวันนั้นมหาปฐพี ในพันแห่งจักรวาล ได้หวั่นไหวแล้วด้วยอาการ ๖ อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.

จบอรรถกถาโคตมกเจติยสูตรที่ ๓