พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. สมุคคตสูตร ว่าด้วยนิมิต ๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38734
อ่าน  501

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 505

ทุติยปัณณาสก์

โลณผลวรรคที่ ๕

๑๑. สมุคคตสูตร

ว่าด้วยนิมิต ๓


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 505

๑๑. สมุคคตสูตร

ว่าด้วยนิมิต ๓

[๕๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ควรมนสิการนิมิต ๓ ตามกาลอันควร คือ มนสิการสมาธินิมิต (ข่มจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว) ตามกาลอันควร มนสิการปัคคาหนิมิต (ทำความเพียรยกจิตให้อาจหาญแช่มชื่นขึ้น) ตามกาลอันควร มนสิการอุเบกขานิมิต (เพ่งดูเฉยอยู่ ไม่ข่ม ไม่ยก เมื่อจิตเรียบร้อยแล้ว) ตามกาลอันควร

ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตจะพึงมนสิการแต่สมาธินิมิตส่วนเดียวไซร้ เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะพึงเป็นไปทางโกสัชชะ (ความเกียจคร้าน ความซึมเซื่อง) ถ้าจะพึงมนสิการแต่ปัคคาหนิมิตส่วนเดียวเล่า ก็เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะเป็นไปทางอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ถ้าจะพึงมนสิการแต่อุเบกขานิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ ก็เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะไม่พึงตั้งมั่นเพื่อความสิ้นอาสวะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 506

เมื่อใดภิกษุผู้ประกอบอธิจิต มนสิการสมาธินิมิตตามกาลอันควร มนสิการปัคคาหนิมิตตามกาลอันควร มนสิการอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร เมื่อนั้นจิตนั้นจึงจะเป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน เป็นจิตผุดผ่อง และมั่นแน่วแน่เป็นอย่างดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทอง เตรียมเบ้าติดไฟ เกลี่ยถ่าน เอาคีมจับทองวางบนถ่านแล้ว สูบไปตามกาลอันควร พรมน้ำตามกาลอันควร (หยุดสูบและพรมน้ำ) เพ่งพิจารณาดู (ว่าสุกหรือยัง) ตามกาลอันควร ถ้าช่างทองหรือลูกมือสูบเผาทองไปส่วนเดียว ก็เป็นได้อยู่ที่ทองนั้นจะพึงแก่ไฟ ถ้าพรมน้ำไปอย่างเดียว ก็เป็นได้อยู่ที่ทองนั้นจะพึงอ่อนไฟ ถ้าหยุดเพ่งพิจารณาดูอยู่อย่างเดียว ก็เป็นได้อยู่ที่ทองนั้นจะไม่สุกดี เมื่อใดช่างทองหรือลูกมือสูบเผาทองไปตามกาลอันควร พรมน้ำตามกาลอันควร หยุดเพ่งพิจารณาดูตามกาลอันควร เมื่อนั้นทองนั้นจึงจะอ่อน ควรแต่งได้ สีสุก และไม่แตก ใช้การได้ดี จะประสงค์ทำเป็นเครื่องประดับชนิดใดๆ เช่น เข็มขัด ตุ้มหู สร้อยคอ สังวาล ก็ได้ตามต้องการ ฉันใด

ฉันนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ควรมนสิการนิมิต ๓ ตามกาลอันควร คือ มนสิการสมาธินิมิตตามกำลังอันควร มนสิการปัคคาหนิมิตตามกาลอันควร มนสิการอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิตจะพึงมนสิการแต่สมาธินิมิตส่วนเดียวไซร้ เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะเป็นไปทางโกสัชชะ. ถ้าจะพึงมนสิการแต่ปัคคาหนิมิตส่วนเดียวเล่า ก็เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะเป็นไปทางอุทธัจจะ ถ้าจะพึงมนสิการแต่อุเบกขานิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ ก็เป็นฐานะอยู่ที่จิตจะไม่พึงแน่วแน่เป็นอย่างดีเพื่อความสิ้นอาสวะ เมื่อใดภิกษุผู้ประกอบอธิจิต มนสิการสมาธินิมิตตามกาลอันควร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 507

มนสิการปัคคาหนิมิตตามกาลอันควร มนสิการอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร เมื่อนั้นจิตนั้นจึงเป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน เป็นจิตผุดผ่อง และมั่นแน่วแน่เป็นอย่างดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

เธอน้อมจิต (อย่างนั้น) ไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมใดๆ ในเมื่อความพยายามมีอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้อาจทำให้ประจักษ์ได้ในอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมนั้นๆ (คือ)

(๑) ถ้าเธอจำนงว่า ขอเราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างต่างวิธี ฯลฯ (เหมือนสูตรก่อนจนจบ).

จบสมุคคตสูตรที่ ๑๑

จบโลณผลวรรคที่ ๕

อรรถกถาสมุคคตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสมุคคตสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้ :-

อธิจิต ได้แก่ จิตในสมถะและวิปัสสนานั่นแล. บทว่า ตีณิ นิมิตฺตานิ ได้แก่ เหตุ ๓. บทว่า กาเลน กาลํ ได้แก่ ในกาลอันสมควร อธิบายว่า ตลอดกาลอันเหมาะสม. ในบทว่า กาเลน กาลํ สมาธินิมิตฺตํ มนสิกาตพฺพํ เป็นต้น มีอธิบายว่า ภิกษุพึงกำหนดกาลนั้นๆ แล้วมนสิการถึงเอกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เดียวเป็นเลิศ) ในเวลาที่จิตประกอบด้วย เอกัคคตา.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 508

เพราะว่า ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเอกัคคตาว่าเป็น สมาธินิมิต. ในบทว่า สมาธินิมิตฺตํ นั้น มีความหมายของคำดังนี้ นิมิต คือ สมาธิ ชื่อว่า สมาธินิมิต. แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. บทว่า ปคฺคาโห (การประคองจิต) เป็นชื่อของวิริยะ. บทว่า อุเปกขา เป็นชื่อของมัชฌัตตภาวะ (ความที่จิตเป็นกลาง). เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงมนสิการถึงวิริยะในเวลาที่เหมาะสมแก่วิริยะ. พึงดำรงอยู่ในมัชฌัตตภาวะในเวลาที่เหมาะสมแก่มัชฌัตตภาวะแล. บทว่า านนฺตํ จิตฺตํ โกสชฺชาย สํวตฺเตยฺย ความว่า เหตุที่ทำให้จิตนั้นดำรงอยู่ในภาวะคือความเกียจคร้านมีอยู่. แม้ในเหตุนอกนี้ก็มีนัยนี้แล. และในบทว่า อุเปกฺขานิมิตฺตํเยว มนสิกเรยฺย นี้ มีเนื้อความดังนี้ว่า ภิกษุพึงเพ่งดูความว่องไวแห่งญาณเฉยๆ. บทว่า อาสวานํ ขยาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่อรหัตผล.

บทว่า อุกฺกํ พนฺเธยฺย ได้แก่ พึงเตรียมกระเบื้องใส่ถ่าน. บทว่า อาลิมฺเปยฺย ความว่า พึงใส่ถ่านไปในกระเบื้องใส่ถ่านนั้น แล้วจุดไฟใช้สูบเป่าให้ไฟติด. บทว่า อุกฺกามุเข ปกฺขิเปยฺย ความว่า พึงคุ้ยเขี่ยถ่านเพลิง แล้ววางไว้บนถ่าน หรือใส่ไว้ในเบ้า. บทว่า อชฺฌุเปกฺขติ ได้แก่ ใคร่ครวญดูว่า ร้อนได้ที่แล้ว.

บทว่า สมฺมา สมาธิยติ อาสวานํ ขยาย ได้แก่ (จิต) ตั้งมั่นอยู่โดยชอบ เพื่อประโยชน์แก่อรหัตผล. ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุอรหัตผล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 509

บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาเป็นเหตุให้บรรลุอภิญญาของพระขีณาสพนั้น จึงตรัสคำว่า ยสฺส ยสฺส จ เป็นต้น. คำนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั่นแล.

จบอรรถกถาสมุคคตสูตรที่ ๑๑

จบโลณผลวรรควรรณนาที่ ๕

จบทุติยปัณณาสก์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัจจายิกสูตร ๒. วิวิตตสูตร ๓. สรทสูตร ๔. ปริสาสูตร ๕. ปฐมอาชานียสูตร ๖. ทุติยอาชานียสูตร ๗. ตติยอาชานียสูตร ๘. นวสูตร ๙. โลณกสูตร ๑๐. สังฆสูตร ๑๑.สมุคคตสูตร และอรรถกถา.