พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. วัชชีปุตตสูตร ว่าด้วยการเจริญไตรสิกขาเพื่อละอกุศลมูล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38716
อ่าน  288

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 450

ทุติยปัณณาสก์

สมณวรรคที่ ๔

๔. วัชชีปุตตสูตร

ว่าด้วยการเจริญไตรสิกขาเพื่อละอกุศลมูล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 450

๔. วัชชีปุตตสูตร

ว่าด้วยการเจริญไตรสิกขาเพื่อละอกุศลมูล

[๕๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้า ฯลฯ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบทที่สำคัญ ๑๕๐ นี้ ย่อมมาสู่อุทเทส (คือ สวดในท่ามกลางสงฆ์) ทุกกึ่งเดือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจศึกษา (คือ ปฏิบัติรักษา) ในสิกขาบทมากนี้ได้พระเจ้าข้า.

พ. ก็ท่านอาจหรือไม่ ภิกษุ ที่จะศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 451

ภ. อาจอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ...

พ. เพราะเหตุดังนั้น ท่านจงศึกษาในสิกขา ๓ นี้เถิด ภิกษุ เมื่อใดท่านจักศึกษาทั้งอธิศีล ทั้งอธิจิต ทั้งอธิปัญญา เมื่อนั้นท่านศึกษาอธิสีลสิกขาอยู่ก็ดี ... จักละราคะ โทสะ โมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ โมหะได้ กรรมใดเป็นอกุศล ท่านก็จักไม่ทำกรรมนั้น กรรมใดเป็นบาป ท่านก็จักไม่เสพกรรมนั้น.

ต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี อธิจิตอยู่ก็ดี อธิปัญญาอยู่ก็ดี เมื่อเธอศึกษาอธิสีลสิกขาอยู่ก็ดี ... จักละราคะ โทสะ โมหะได้ เพราะละราคะ โทสะ โมหะได้ กรรมใดเป็นอกุศล เธอก็ไม่ทำกรรมนั้น กรรมใดเป็นบาป เธอก็ไม่เสพกรรมนั้น.

จบวัชชีปุตตสูตรที่ ๔

อรรกถาวัชชีปุตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวัชชีปุตตสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วชฺชีปุตฺตโก ได้แก่ บุตรของราชตระกูลวัชชี. บทว่า ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ ได้แก่ สิกขาบท ๑๕๐. ภิกษุวัชชีบุตรหมายเอาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ในสมัยนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ. ได้ยินว่า ภิกษุนั้นถึงพร้อมด้วยอาชวธรรม เป็นผู้มีนิสัยซื่อตรง ไม่คดโกง ฉะนั้น ท่านจึงคิดว่า เราจะสามารถรักษาสิกขาบทจำนวนเท่านี้ได้หรือไม่ ดังนี้ แล้วกราบทูลให้พระศาสดาทรงทราบ. บทว่า สกฺโกมหํ ตัดบทเป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 452

สกฺโกมิ อหํ (เราสามารถ) ได้ยินว่า ภิกษุนั้นสำคัญอยู่ว่า เมื่อเราศึกษาอยู่ในสิกขาบทจำนวนเท่านี้ได้ ก็ไม่หนักใจที่จะศึกษาในไตรสิกขา จึงกราบทูลอย่างนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงยกสิกขาอีก ๒ สิกขา ขึ้นไว้ในลำดับที่สูงขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สามารถจะศึกษาในสิกขาข้อเดียว จึงตรัสคำว่า ตสฺมาติห ตฺวํ ภิกฺขุ เป็นต้น เปรียบเหมือนบุคคลผูกกำหญ้า ๑๐๐ กำ วางไว้บนศีรษะของบุคคลผู้ไม่สามารถจะยกกำหญ้า ๕๐ กำขึ้นได้ฉะนั้น.

ตัวอย่าง

ได้ยินว่า ในโรหณชนบท ชาวชนบทคนหนึ่งชื่ออุตตระ อยู่ในเภรปาสาณวิหาร. อยู่มา ภิกษุหนุ่มทั้งหลายได้พูดกะเขาว่า อุตตระ โรงไฟถูกฝนรั่วรด ขอเธอจงทำหญ้าให้เหมาะสม แล้วให้เถิด ดังนี้ แล้วพาเขาเข้าไปป่า มัดหญ้าที่อุตตระนั้นเกี่ยวแล้วให้เป็นฟ่อนๆ แล้วกล่าวว่า อุตตระ เธอจักสามารถแบกหญ้า ๕๐ ฟ่อนไปได้ไหม? อุตตระนั้นกล่าวว่า จักไม่สามารถหรอกครับ. แต่ (ถ้า) ๘๐ ฟ่อนเล่า เธอจักสามารถไหม?. จักไม่สามารถหรอกครับ. ๑๐๐ ฟ่อน (ที่มัดรวมเป็นฟ่อนเดียวกัน) เล่า เธอจักสามารถไหม?. (ถ้าอย่างนั้น) ได้ขอรับ ผมแบกไปได้. ภิกษุหนุ่มทั้งหลายจึงมัดหญ้า ๑๐๐ ฟ่อน รวมกันเข้า แล้ววางไว้บนศีรษะเขา. นายอุตตระนั้นยกขึ้นแล้วทอดถอนใจ ไปโยนทิ้งไว้ใกล้โรงไฟ. ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า เหนื่อยละซี่ อุตตระ. นายอุตตระตอบว่า เหนื่อยครับท่าน พวกพระหนุ่มลวงผม (อันที่จริง) ผมไม่สามารถแบกกำหญ้า ๑๐๐ กำนี้ได้หรอก (แต่) ท่านบอกว่า เธอจงแบกไป ๕๐ กำ ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ใช่ อุตตระ พวกพระหนุ่มลวงเธอ พึงทราบข้ออุปไมยนี้เป็นอย่างนั้น.

แม้ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสิกขา ๓ ไว้ปนกัน.

จบอรรถกถาวัชชีปุตตสูตรที่ ๔