พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. จูฬนีสูตร ว่าด้วยแสนโกฏิจักรวาล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38707
อ่าน  842

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 431

ทุติยปัณณาสก์

อานันทวรรคที่ ๓

๑๐. จูฬนีสูตร

ว่าด้วยแสนโกฏิจักรวาล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 431

๑๐. จูฬนีสูตร

ว่าด้วยแสนโกฏิจักรวาล

[๕๒๐] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับได้รับมาต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อานนท์ สาวกชื่ออภิภูของพระสิขีพุทธเจ้า ยืนอยู่บนพรหมโลก ย่อมให้ ๑,๐๐๐ โลกธาตุได้ยินเสียงได้ ดังนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทรงสามารถตรัสให้โลกธาตุได้ยินพระสุรเสียงได้เท่าไร.

พ. พระอภิภูนั้นเป็นสาวก อานนท์ พระตถาคตทั้งหลาย ใครจะเปรียบประมาณมิได้.

ท่านพระอานนท์กราบทูลครั้งที่ ๒ เหมือนครั้งแรก พระองค์ก็คงตรัสตอบอย่างนั้น ท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนั้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ พระองค์จึงตรัสถามว่า เธอเคยได้ฟังหรือไม่ อานนท์ สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ (โลกธาตุน้อย ๑,๐๐๐).

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นกาละ ข้าแต่พระสุคตเจ้า เป็นกาละ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้.

ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง พึงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.

ท่านพระอานนท์รับพระพุทธพจน์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง (เรื่องโลกธาตุ) ว่า อานนท์ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์แผ่รัศมี ส่องแสงทำให้สว่างไปทั่วทิศตลอดที่มีประมาณเท่าใด โลกมีเนื้อที่เท่านั้นจำนวน ๑,๐๐๐

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 432

ใน ๑,๐๐๐ โลกนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภูเขาสิเนรุ อย่างละ ๑,๐๐๐ มีชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีปอย่างละ ๑,๐๐๐ มีมหาสมุทร มีมหาราช อย่างละ ๔,๐๐๐ มีสวรรค์ ๖ ชั้น และพรหมโลก ชั้นละ ๑,๐๐๐ นี้เรียกว่า สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ (โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล).

สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุเท่าใด โลกเท่านั้นคูณโดยส่วน ๑,๐๐๐ นี้เรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ (โลกธาตุกลางมีล้านจักรวาล).

ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุเท่าใด โลกเท่านั้นคูณโดยส่วน ๑,๐๐๐ นี้เรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ (โลกธาตุใหญ่มีแสนโกฏิจักรวาล).

อานนท์ ตถาคตเมื่อมีความจำนงจะพูดให้ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ (๑) ได้ยินเสียงได้ หรือจำนงเท่าใดก็ได้.

อา ... . ด้วยวิธีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ตถาคตอยู่ในที่นี้ จะพึงแผ่รัศมีไปทั่วติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ พอสัตว์ทั้งหลาย (ในโลกธาตุ) เหล่านั้นรู้จักแสงสว่างนั้น ตถาคตก็บันลือเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน ... ด้วยวิธีอย่างนี้แล อานนท์.

พอจบพระกระแสพุทธดำรัส ท่านพระอานนท์อุทานออกมาว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีหนอ ซึ่งเราได้พระศาสดามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพใหญ่อย่างนี้.

พระอุทายีกล่าวขัดขึ้นว่า ท่านได้ประโยชน์อะไรในเรื่องนี้ อาวุโส อานนท์ หากว่าพระศาสดาของท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพใหญ่อย่างนั้น.


(๑) คำว่า โลกก็ดี โลกธาตุก็ดี ในที่นี้ ท่านหมายความเป็นอันเดียวกันกับคำว่า จักรวาล

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 433

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระอุทายีว่า อย่าพูดเช่นนั้น อุทายี ถ้าอานนท์จะพึงเป็นผู้ยังไม่สิ้นราคะอย่างนี้มรณภาพไป ด้วยความที่จิตเลื่อมใสนั้น เธอจะพึงได้เป็นเทวราชาในเทวโลก ๗ ชาติ เป็นมหาราชาในชมพูทวีปนี้ ๗ ชาติ แต่ที่แท้นั้น อานนท์จักปรินิพพานในชาติปัจจุบันนี้.

จบจูฬนีสูตรที่ ๑๐

จบอานันทวรรคที่ ๓

อรรถกถาจูฬนีสูตร

ในสูตรที่ ๑๐ มีข้อความที่ยกขึ้นไว้ ๒ อย่าง คือ การยกข้อความที่เกี่ยวกับเหตุเกิดของเรื่อง ๑ ที่เกี่ยวกับอำนาจการถาม ๑. ถ้าจะมีคำถามว่า ในการเกิดขึ้นแห่งข้อความอย่างไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบคำถามของใคร. ตอบว่า ในการเกิดขึ้นแห่งข้อความของอรุณวดีสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบคำถามของพระอานนทเถระเจ้า. ถามว่า อรุณวดีสูตร ใครกล่าวไว้. ตอบว่า พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิขี และพระศาสดาของเราตรัสไว้.

การอุบัติแห่งอรุณวดีสูตรสมัยพระสิขีพุทธเจ้า

ขยายความว่า นับแต่กัปนี้ถอยหลังไปในกัปที่ ๓๑ ที่อรุณวดีนคร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิขี ทรงถือปฏิสนธิในคัพโภทรของพระมเหสีพระนามว่า ปภาวดี ของพระเจ้าอรุณวัต เมื่อพระญาณแก่กล้าแล้ว เสด็จออก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 434

มหาภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณที่ควงไม้มหาโพธิ์ ประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงอาศัยอรุณวดีนครประทับอยู่. วันหนึ่งเวลาเช้าตรู่ ทรงปฏิบัติสรีรกิจแล้ว มีภิกษุสงฆ์จำนวนมากเป็นบริวาร ทรงพระดำริว่า เราจักเข้าไปบิณฑบาตยังอรุณวดีนคร แล้วเสด็จออกไปประทับยืนใกล้ซุ้มประตูพระวิหาร ทรงเรียกพระอัครสาวกนามว่า อภิภู มาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ยังเป็นในเวลาเช้านักที่จะเข้าไปบิณฑบาตยังอรุณวดีนคร เราทั้งหลายจะไปยังพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่งเสียก่อน ดังนี้.

สมดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิขี อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรียกอภิภูภิกษุมารับสั่งว่า มาเถิดพราหมณ์ เราทั้งสองจักไปยังพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง เวลาภัตตาหาร จักยังไม่มีก่อน ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อภิภูภิกษุรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิขีแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิขี และพระอภิภูภิกษุได้เข้าไปยังพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว. มหาพรหมในพรหมโลกนั้น ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ดีใจ จึงทำการต้อนรับ ได้ปูอาสนะพรหมถวาย. ส่วนพระเถระ พรหมทั้งหลายก็ช่วยกันปูอาสนะที่เหมาะสมถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวายแล้ว แม้พระเถระก็นั่งบนอาสนะที่เขาปูถวายตน. ส่วนท้าวมหาพรหมก็ถวายบังคมพระทศพล แล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิขี ได้ตรัสเรียกภิกษุชื่อว่าอภิภูมาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมีกถาจงแจ่มแจ้งแก่เธอ (เธอจงแสดงธรรมีกถา) เพื่อพรหม เพื่อบริษัทของพรหม และเพื่อพรหมชั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 435

ปาริสัชชา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อภิภูภิกษุรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขีแล้ว แสดงธรรมีกถาแก่พรหม พรหมบริษัท และพรหมชั้นปาริสัชชาแล้ว เมื่อพระเถระแสดงธรรมอยู่ พรหมทั้งหลายยกโทษว่า นานๆ พวกเราจักได้เห็นพระบรมศาสดาเสด็จมายังพรหมโลก แต่ภิกษุนี้กีดกันพระศาสดา เตรียมจะแสดงธรรมกถาเสียเอง.

พระศาสดาทรงทราบว่า พวกพรหมเหล่านั้นไม่พอใจ จึงได้ตรัสกะอภิภูภิกษุดังนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ พรหม พรหมบริษัท และพรหมชั้นปาริสัชชาพากันโทษเธอ ถ้าอย่างนั้น เธอจงทำให้พรหมเหล่านั้นสลดใจเกินประมาณเถิด พราหมณ์. พระเถระรับพระพุทธดำรัสแล้ว ทำการแผลงฤทธิ์หลายอย่างหลายประการ เมื่อจะยังโลกธาตุพันหนึ่งให้ทราบชัดด้วยเสียง จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า อารมฺภถ นิกฺขมถ แปลว่า จงเริ่มเถิด จงเพียร พยายามเถิด ท่านทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.

ถามว่า ก็พระเถระทำอย่างไร จึงให้โลกธาตุตั้งพันหนึ่งทราบชัดได้.

ตอบว่า พระเถระเจ้าเข้านีลกสิณก่อน แล้วแผ่ความมืดมนอันธการไปทั่วทิศทั้งปวง แต่นั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดความคำนึงขึ้นว่า นี้เป็นความมืดมนอันธการอะไร จึงแสดงแสงสว่าง. เมื่อพวกเขาคิดว่า นี้แสงสว่างอะไร จึงแสดงตนให้เห็น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในพันจักรวาลจึงได้พากันยืนประคองอัญชลี นมัสการพระเถระอยู่ทีเดียว. พระเถระอธิษฐานว่า ขอมหาชนจงได้ยินเสียงของเราผู้แสดงธรรมอยู่ ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ไว้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงได้ยินเสียงของพระเถระ เสมือนนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัทที่พรั่งพร้อมแล้ว แม้ข้อความ (ที่แสดง) ก็ปรากชัดแก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 436

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จกลับมายังอรุณวดีนคร พร้อมกับพระเถระ เสด็จบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตรแล้ว ตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายได้ยินหรือไม่ (๑) ซึ่งเสียงของอภิภูภิกษุ ผู้ยืนกล่าวคาถาอยู่บนพรหมโลก ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า ได้ยิน พระพุทธเจ้าข้า. เมื่อจะประกาศข้อที่ตนได้ยิน จึงได้ยกเอาคาถาทั้งสองขึ้นมาอ้าง. พระศาสดาทรงประทานสาธุการว่า สาธุ สาธุ แล้วเริ่ม (๒) แสดงพระธรรมเทศนา. พระสูตรนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขีได้ตรัสไว้ในกัปที่ ๓๑ นับแต่ภัทรกัปนี้ถอยหลังไป ด้วยประการดังพรรณนามานี้ก่อน.

การอุบัติแห่งอรุณวดีสูตรแห่งพระพุทธเจ้าของเรา

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร เข้าไปอาศัยพระนครสาวัตถี แล้วประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ในวันกลางเดือน ๗ ต้น ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วทรงเริ่มแสดงพระสูตรชื่อว่า อรุณวดี นี้. พระอานนทเถระเจ้า ยืนถวายงานพัดอยู่นั่นแหละ เรียนพระสูตรทั้งหมดแต่ต้นจนจบ ไม่ให้ตกหล่นแม้แต่พยัญชนะเดียว. ในวันรุ่งขึ้น ท่านกลับจากบิณฑบาต แสดงวัตรต่อพระทศพลแล้ว กลับไปยังที่พักกลางวันของตน เมื่อสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกทั้งหลาย แสดงวัตรแล้วหลีกไป นั่งรำพึงถึงอรุณวดีสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในวันวาน. ครั้งนั้นพระสูตรทั้งหมด ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ท่าน (พระอานนท์).

ท่านพระอานนทเถระคิดว่า อัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขียืนอยู่บนพรหมโลก เปล่งรัศมีออกจากร่างกาย กำจัดความ


(๑) ปาฐะว่า ปสฺสถ ฉบับพม่าเป็น อสฺสุตถ

(๒) ปาฐะว่า นิฏฺ  เปสิ บางฉบับเป็น ปฏฺ เปสิ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 437

มืดมนอันธการในจักรวาลพันหนึ่ง แล้วแสดงธรรมกถาให้เทวดาและมนุษย์ได้ยินเสียงของตน คำดังที่ว่ามานี้ พระบรมศาสดาตรัสไว้แล้วเมื่อวันวาน วิสัยของพระสาวก (มีอานุภาพ) เห็นปานนี้ก่อน ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ แล้วบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จะเปล่งพระสุรเสียงไปได้ไกลเท่าไร. เพื่อจะบรรเทาความสงสัยอันบังเกิดแล้วอย่างนี้ ทันใดนั้นเอง ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามความนั้น. เพื่อจะแสดงข้อความนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวคำว่า อถโข อายสฺมา อานนฺโท ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมุขา ความว่า พระสูตรนี้ ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ฟังแล้ว ไม่ใช่ฟังโดยได้ยินตามกันมา คือ ไม่ได้ฟังโดยสืบต่อจากทูต (๑) พระอานนทเถระเจ้ากล่าวอย่างนี้ โดยมีความมุ่งหมายดังอธิบายมานี้แล.

บทว่า กีวตกํ ปโหติ สเรน วิญฺาเปตุํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงกำจัดความมืดมนอันธการ ด้วยพระรัศมีที่เปล่งออกจากพระวรกายแล้วเปล่งพระสุรเสียงไปได้ไกลเท่าไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ว่า สาวโก โส อานนฺท อปฺปเมยฺยา ตถาคตา โดยมีพระพุทธประสงค์ดังนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอพูดอะไร (อย่างนี้) พระสาวกดำรงอยู่ในญาณเฉพาะส่วน แต่พระตถาคตเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ แล้วทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ มีพระญาณ หาประมาณมิได้. เธอนั้นพูดอะไรอย่างนี้ เหมือนเอาปลายเล็บช้อนฝุ่นขึ้นมาเปรียบกับฝุ่นในพื้นมหาปฐพี เพราะวิสัยของพระสาวกทั้งหลายก็เป็นอย่างหนึ่ง ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นอย่างหนึ่ง ธรรมเป็นโคจรของพระสาวกทั้งหลายก็เป็นอย่างหนึ่ง ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นอย่างหนึ่ง พลังของพระสาวก


(๑) ปาฐะว่า น อนุสฺสาเสน สุตปรมปรมตาว น อนุสฺสเวน น ทูตปรมฺปราย.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 438

ทั้งหลายก็เป็นอย่างหนึ่ง ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นอย่างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพหาประมาณมิได้ ด้วยมีพระพุทธประสงค์ดังพรรณนามานี้ แล้วทรงดุษณีภาพ. แม้พระเถระก็ทูลถามเป็นครั้งที่ ๒. พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงแสดงว่า อานนท์ เธอพูดอะไรอย่างนี้ เหมือนกับเอาโพรงของต้นตาล ไปเทียบกับอากาศที่เวิ้งว้างหาที่สุดมิได้ เหมือนกับเอานกนางแอ่น ไปเทียบกับพญาครุฑตัวผู้บินได้วันละ ๑๕๐ โยชน์ เหมือนกับเอาน้ำในงวงช้าง ไปเทียบกับน้ำในแม่น้ำมหาคงคา เหมือนกับเอาน้ำในหลุมกว้างยาว ๘ ศอก ไปเทียบกับสระทั้ง ๗ เหมือนกับเอาคนที่มีรายได้เพียงข้าว ๑ ทะนาน ไปเทียบกับพระเจ้าจักรพรรดิ เหมือนกับเอาปีศาจคลุกฝุ่น ไปเทียบกับท้าวสักกเทวราช และเหมือนกับเอาแสงสว่างของหิ่งห้อย ไปเทียบกับแสงสว่างพระอาทิตย์ ดังนี้แล้ว ตรัสความที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพหาประมาณมิได้ เป็นครั้งที่ ๒ แล้วทรงดุษณีภาพ. ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า พระศาสดาอันเราทูลถามแล้ว ไม่ตรัสตอบเลย เราจะขอ (โอกาสทูลถาม) ถึง ๓ ครั้ง แล้วจักให้พระศาสดาบันลือพุทธสีหนาท ดังนี้ จึงทูลขอเป็นครั้งที่ ๓. เพื่อแสดงถึงการทูลขอเป็นครั้งที่ ๓ นั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตติยมฺปิ โข ไว้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงตอบปัญหาของพระอานนท์เถระ จึงตรัสคำมีอาทิว่า สุตา เม อานนฺท ดังนี้ พระเถระคิดว่า พระบรมศาสดาตรัสคำมีประมาณเท่านี้ เท่านั้น แก่เราว่า อานนท์ โลกธาตุพันหนึ่ง จำนวนเล็กน้อย เธอได้ฟังแล้ว (มิใช่หรือ) แล้วทรงดุษณีภาพ ต่อไปนี้ พระพุทธเจ้าจักทรงบันลือพุทธสีหนาท ดังนี้. เมื่อจะทูลขอพระบรมศาสดา จึงได้กราบทูลคำมีอาทิว่า เอตสฺส ภควา กาโล ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 439

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำมีอาทิว่า เตนหานนฺท ดังนี้ เพื่อจะตรัสกถาอย่างพิสดารแก่พระอานนท์. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตา ความว่า ตลอดที่มีประมาณเท่าใด. ทั้งพระจันทร์ ทั้งพระอาทิตย์ ชื่อว่า จนฺทิมสุริยา. บทว่า ปริหรนฺติ แปลว่า โคจรไป. บทว่า ทิสา ภนฺติ ได้แก่ ส่องสว่างไปทั่วทิศ. บทว่า วิโรจนา แปลว่า รุ่งโรจน์อยู่. ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันทรงแสดงจักรวาล โดยกำหนดจักรวาลเดียว. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงจักรวาลพันคูณด้วยพัน จึงตรัสว่า ตาว สหสฺสา โลโก ดังนี้. บทว่า ตสฺมึ สหสฺสธา โลเก ความว่า ในพันแห่งจักรวาลนั้น. บทว่า สหสฺสํ จาตุมฺมหาราชิกานํ ได้แก่ เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง. ก็เพราะเหตุที่ในแต่ละจักรวาล มีท้าวมหาราชประจำอยู่จักรวาลละ ๔ๆ ฉะนั้น จึงตรัสว่า จตฺตาริ มหาราชสหสฺสานิ ดังนี้. ในทุกๆ บท พึงทราบเนื้อความโดยอุบายนี้. บทว่า จูฬนิกา แปลว่า โลกธาตุขนาดเล็ก. นี้เป็นวิสัยของพระสาวกทั้งหลาย. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงนำโลกธาตุขนาดเล็กนี้มา (แสดงไว้). ตอบว่า เพื่อทรงแสดงถึงการกำหนดโลกธาตุขนาดกลาง. บทว่า ยาวตา แปลว่า มีประมาณเท่าใด. บทว่า ตาว สหสฺสธา ความว่า โดยส่วนแห่งพันเพียงนั้น.

ด้วยบทว่า ทฺวิสหสฺสี มชฺฌิมิกา โลกธาตุ นี้ ทรงแสดงว่า โลกธาตุนี้มีจำนวนพันกำลังสอง มีจักรวาลแสนหนึ่งเป็นประมาณ โดยเอาพันส่วนคูณจักรวาลพันหนึ่ง ชื่อว่าโลกธาตุขนาดกลาง. นี้มิใช่วิสัยของพระสาวกทั้งหลาย เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้น. เพราะว่า ในที่เท่านี้ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายสามารถจะทรงเปล่งพระรัศมีจากพระพุทธสรีระ ขจัดความมืดมนอันธการ แล้วให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ยินพระสุรเสียงได้.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 440

ขึ้นชื่อว่า ชาติเขต ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงแสดงไว้แล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้. อธิบายว่า ในภพสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ในวันที่พระองค์เสด็จจุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในคัพโภทรของพระพุทธมารดา ๑ ในวันประสูติจากพระครรภ์ ๑ ในวันเสด็จออกผนวช ๑ ในวันตรัสรู้ ๑ ในวันทรงแสดงธรรมจักร ๑ ในวันทรงปลงอายุสังขาร ๑ และในวันปรินิพพาน ๑ สถานที่มีประมาณเท่านี้ (โลกธาตุขนาดกลาง) ย่อมหวั่นไหว.

บทว่า ติสหสฺสี มหาสหสฺสี ความว่า ชื่อว่า ติสหสฺสี เพราะตั้งแต่จำนวนหนึ่งพันไป เอาพันคูณ ๓ ครั้ง (พันกำลัง ๓). โลกธาตุที่คูณด้วยหลายๆ พัน เพราะตั้งพันไว้ เอาพันคูณ ตั้งโลกธาตุขนาดกลางไว้ เอาพันคูณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มหาสหสฺสี. ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันทรงแสดงโลก มีแสนโกฏิจักรวาลเป็นประมาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมีพุทธประสงค์ จะทรงเปล่งพระรัศมีออกจากพระพุทธสรีระ ขจัดความมืดมนอันธการ ให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ยินพระสุรเสียง ในสถานที่เท่านี้. ส่วนพระคณกปุตตติสสเถระกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ติสหัสสีโลกธาตุ และมหาสหัสสีโลกธาตุมีประมาณอย่างนี้ เพราะปริมาณนี้เป็นที่ตั้งแห่งการบริหารด้วยวาจา (พูดกันติดปาก) เป็นเค้ามูล แห่งการสาธยายของพระอาจารย์ทั้งหลาย แต่สถานที่ ที่ชื่อว่า ติสหสฺสีโลกธาตุ และมหาสหสฺสีโลกธาตุ มีปริมาณล้านโกฏิจักรวาล. ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเขตที่ชื่อว่า อาณาเขต แล้ว เพราะในระหว่างนี้ อาณา (อำนาจ) ของ อาฏานาฏิยปริต อิสิคิลิปริต ธชัคคปริต โพชฌังคปริต ขันธปริต โมรปริต เมตตาปริต และรตนปริต ย่อมแผ่ไปถึง.

บทว่า ยาวตา ปน อากงฺเขยฺย ความว่า ทรงปรารถนาสถานที่มีประมาณเท่าใด. ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงถึง วิสัยเขต เพราะตามธรรมดา วิสัยเขตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีกำหนดประมาณ. ในข้อที่ วิสยเขต

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 441

ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีกำหนดประมาณนั่นแหละ พระโบราณาจารย์ทั้งหลายนำข้ออุปมามาอ้างไว้ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าจะมีใครๆ เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดไปกองให้เต็มแสนโกฏิจักรวาล จนถึงพรหมโลก ใส่เมล็ดพันธุ์ผักกาดลงไปในจักรวาล จักรวาลละหนึ่งเมล็ดทางทิศบูรพาไซร้ เมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้ทั้งหมดเหล่านั้น พึงถึงความสิ้นไปก่อน แต่จักรวาลในด้านทิศบูรพา จะยังไม่ถึงความสิ้นไป. แม้ในจักรวาลด้านทิศทักษิณเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

ในวิสัยเขตนั้น ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ไม่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีเลย. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระเถระคิดว่า พระศาสดาตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ตถาคตเมื่อจำนงอยู่ ก็พึงยังโลกธาตุชื่อว่าติสหัสสี (และ) มหาสหัสสี ให้ได้ยินสุรเสียงตามที่จำนงหมาย ดังนี้ ก็แลโลกนี้ไม่เสมอกัน จักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด พระอาทิตย์ขึ้นที่หนึ่ง เที่ยงที่หนึ่ง ตกที่หนึ่ง ปฐมยามมีในที่หนึ่ง มัชฌิมยามมีในที่หนึ่ง ปัจฉิมยามก็มีในที่หนึ่ง. แม้สัตว์ทั้งหลายขวนขวายในการงาน สนใจในการเล่น แสวงหาอาหาร เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย ย่อมฟุ้งซ่าน และประมาทด้วยเหตุนั้นๆ อย่างนี้ พระบรมศาสดาจักยังสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้ยินพระสุรเสียงได้อย่างไรหนอแล ดังนี้. พระอานนทเถระ ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทูลถามพระตถาคตเจ้าเพื่อบรรเทาความสงสัย จึงกราบทูลคำเป็นต้นว่า ยถา กถํ ปน ดังนี้.

ลำดับนั้น พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงพยากรณ์แก่พระอานนทเถระ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อิธานนฺท ตถาคโต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอภาเสน ผเรยฺย ความว่า แผ่ไปด้วยรัศมีแห่งพระสรีระ. ถามว่า โอภาส

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 442

นั้น เมื่อแผ่ไปพึงทำอาการอย่างใด. ตอบว่า ที่ใดมีพระอาทิตย์ปรากฏ ที่นั้นพระองค์ก็ทำให้พระอาทิตย์ตกด้วยอานุภาพของพระองค์ แต่ที่ใดพระอาทิตย์ไม่ปรากฏ ที่นั้นพระองค์จะทำให้พระอาทิตย์ปรากฏ เห็นสถิตอยู่ท่ามกลาง (ท้องฟ้า) แต่นั้น ในที่ใดพระอาทิตย์ปรากฏ ในที่นั้นมนุษย์ทั้งหลายก็พึงเกิดความวิตกว่า พระอาทิตย์ (เพิ่ง) ปรากฏเมื่อไม่นานนี้เอง แต่พระอาทิตย์นั้น ก็ตกไปเดี๋ยวนี้เอง ข้อนี้คงจะเป็นการบันดาลของนาค หรือการบันดาลของภูต การบันดาลของยักษ์ หรือการบันดาลของเทวดาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในที่ใดพระอาทิตย์ไม่ปรากฏ ในที่นั้นมนุษย์ทั้งหลายจะเกิดความวิตกว่า พระอาทิตย์เพิ่งตกไปเดี๋ยวนี้เอง พระอาทิตย์ดวงเดียวกันนี้ก็กลับขึ้นเดี๋ยวนี้อีก นี้จะเป็นการบันดาลของนาค การบันดาลของภูต การบันดาลของยักษ์ และการบันดาลของเทวดาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออย่างไรหนอแล? แต่นั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นรำพึงถึงความสว่าง และความมืดอยู่ แล้วพากันแสวงหา (เหตุผล) ด้วยคิดว่า นี้มีอะไรเป็นปัจจัยหนอแล พระบรมศาสดาทรงเข้านีลกสิณ พึงแผ่ความมืดทึบไป.

ถามว่า เพราะเหตุใด. ตอบว่า เพราะทรงแผ่ไปเพื่อให้สัตว์ทั้งหลายผู้ขวนขวายการงานเป็นต้นเหล่านั้น เกิดความสะดุ้ง. ลำดับนั้น พระบรมศาสดาทรงทราบว่า สัตว์เหล่านั้นถึงความสะดุ้งแล้ว ก็ทรงเข้าโอภาสกสิณสมาบัติ ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีออกเป็นลำขาว ทรงบันดาลให้ที่ทุกแห่งมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน โดยการเปล่งพระรัศมีอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนเวลาที่พระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกันเป็นพันๆ ดวง และทรงเปล่งพระโอภาสนั้น ออกโดยส่วนแห่งพระวรกายมีประมาณเท่าเมล็ดงา. ก็ถ้าผู้ใดบันดาลแผ่นดินทั่วทั้งจักรวาลให้เป็นตะเกียง บันดาลน้ำในมหาสมุทร

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 443

ให้เป็นน้ำมัน บันดาลเขาสิเนรุให้เป็นไส้ตะเกียง จุดวางไว้บนยอดเขาสิเนรุลูกอื่นได้ ผู้นั้นคงจะทำให้สว่างในจักรวาลเดียวเท่านั้น ไม่สามารถจะทำพื้นที่แม้เพียงคืบเดียวนอกไปจากนั้นให้สว่างไสวได้. ส่วนพระตถาคตเจ้า ทรงเปล่งพระโอภาสด้วยประเทศแห่งพระสรีระประมาณเท่าเมล็ดงา พึงกระทำให้โลกธาตุติสหัสสีและมหาสหัสสีหรือยิ่งกว่านั้น ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกันได้. เพราะว่าคุณของพระพุทธเจ้ามี (อานุภาพ) มากมายอย่างนี้ ฉะนี้แล.

บทว่า ตํ อาโลกํ สญฺชาเนยฺยุํ ความว่า คนทั้งหลายเห็นแสงสว่างนั้นแล้ว คิดว่า พระอาทิตย์ตกแล้วขึ้นไปด้วย ความมืดทึบก็หายไปด้วย เพราะผู้ใด บัดนี้ ผู้นี้นั้นยืนบันดาลให้เกิดแสงสว่างไสวขึ้นแล้ว โอ อัศจรรย์จริง อัจฉริยบุรุษ ดังนี้ แล้วยืนประคองอัญชลีอยู่.

บทว่า สทฺทมนุสฺสาเวยฺย ความว่า พระตถาคตยังเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้สนใจฟังเสียงพระธรรมกถา. จริงอยู่ ผู้ใดบันดาลเขาจักรวาลบรรพตลูกหนึ่งให้เป็นกลอง บันดาลมหาปฐพีให้เป็นหนังหุ้มกลอง บันดาลเขาสิเนรุให้เป็นค้อนตีกลอง แล้ววางไว้บนยอดเขาสิเนรุลูกอื่น แล้วตี ผู้นั้นจะให้คนทั้งหลายได้ยินเสียงนั้นเฉพาะในจักรวาลเดียวเท่านั้น ไม่สามารถจะให้เสียงนั้นดังเลยไปข้างหน้าแม้เพียงคืบเดียวได้. ส่วนพระตถาคต ประทับนั่งบนบัลลังก์ หรือตั่ง ทรงยังโลกธาตุสหัสสีและมหาสหัสสีหรือยิ่งไปกว่านั้น ให้ได้ยินพระสุรเสียงได้ พระตถาคตเจ้าทรงมีอานุภาพมากอย่างนี้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงวิสัยเขตนั่นแหละ โดยที่มีประมาณเท่านี้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 444

ก็และเพราะได้สดับพุทธสีหนาทนี้ พระเถระได้เกิดปีติ มีกำลังขึ้นในภายใน ท่านเมื่อจะเปล่งอุทานด้วยสามารถแห่งปีติ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า ลาภา วต เม (เป็นลาภของเราหนอ) ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส เม สตฺตา เอวํ มหิทฺธิโก ความว่า การได้พระศาสดาผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ ของเราผู้มีศาสดาผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ เป็นทั้งลาภ เป็นทั้งสิ่งที่ได้มาด้วยดี อีกอย่างหนึ่ง พระอานนท์เถระเจ้ากล่าวอย่างนี้ หมายถึงว่า ข้อที่เราได้มีโอกาสถือบาตรและจีวรของพระศาสดาเห็นปานนี้ แล้วเที่ยวไป (ก็ดี) มีโอกาสนวดฟั้นพระบาท (ก็ดี) มีโอกาสถวายน้ำสรงพระพักตร์และน้ำสรงสนาน (ก็ดี) มีโอกาสปัดกวาดบริเวณพระคันธกุฎี (ก็ดี) มีโอกาสทูลถามปัญหาตามข้อสงสัยที่เกิดขึ้นแล้ว (ก็ดี) ได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะ (ก็ดี) เหล่านี้แม้ทั้งหมด จัดเป็นทั้งลาภ เป็นทั้งสิ่งที่ได้มาด้วยดี ดังนี้บ้าง. ก็ในพระสูตรนี้ นักศึกษาพึงทราบความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก เพราะทรงมีฤทธิ์ กล่าวคือ การทำความมืดให้สว่าง การทำเทวดาและมนุษย์ให้ได้ยินพระสุรเสียง มีมาก. (และพึงทราบ) ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีอานุภาพมาก โดยที่ฤทธิ์เหล่านั้นนั่นแหละแผ่ไปเนืองๆ.

บทว่า อุทายี ได้แก่ โลฬุทายีเถระ. เล่ากันมาว่า ท่านพระโลฬุทายีเถระ เที่ยวผูกพยาบาทในพระเถระ ด้วยความปรารถนาที่ตั้งไว้ครั้งก่อน เพราะฉะนั้น บัดนี้ พอได้โอกาส จึงทำการหักหาญความเลื่อมใสของพระเถระ กล่าวอย่างนี้เหมือนดับเปลวประทีปที่ลุกโพลงอยู่ ในเวลาจบพุทธสีหนาทนี้ เหมือนเอาไม้ตีโคตัวกำลังเดินไป และเหมือนคว่ำถาดที่มีอาหารเต็มฉะนั้น. บทว่า เอวํ วุตฺเต ภควา ความว่า เมื่อพระอุทายีเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงห้ามพระอุทายีเถระจากคำนั้น

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 445

จึงตรัสคำว่า มา เหวํ อุทายิ (อย่าพูดอย่างนั้นเลย อุทายี) ดังนี้. เหมือนบุรุษผู้มุ่งประโยชน์ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พึงพูดแล้วๆ เล่าๆ กับชายผู้ยืนสั่นอยู่ที่ปากเหวว่า จงมาทางนี้ จงมาทางนี้ ฉะนั้น.

บทว่า มหารชฺชํ ได้แก่ จักรพรรดิราชสมบัติ. ถามว่า ก็พระศาสดาได้ทรงกระทำอานิสงส์อันใหญ่หลวงแห่งความเลื่อมใสที่เกิดขึ้น เพราะพระธรรมเทศนาแก่สาวกรูปหนึ่ง ไม่มีกำหนดมิใช่หรือ เหตุไฉน พระองค์จึงทรงกำหนดอานิสงส์แห่งความเลื่อมใสที่บังเกิดขึ้นแก่พระอานนท์นี้ เพราะปรารภพุทธสีหนาท. ตอบว่า เพราะพระอริยสาวกมีอัตภาพเพียงเท่านี้เป็นประมาณ. เพราะว่าพระโสดาบัน แม้มีปัญญาเชื่องช้า จะได้อัตภาพในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ๗ ครั้ง (เท่านั้น) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงกำหนดคติของพระอานนท์นั้น จึงได้ตรัสอย่างนี้. บทว่า ทิฏฺเว ธมฺเม ความว่า ดำรงอยู่ในอัตภาพนี้เท่านั้น. บทว่า ปรินิพฺพายิสฺสติ ความว่า จักปรินิพพานด้วยปรินิพพานอันหาปัจจัยมิได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถือเอายอด ด้วยพระนิพพาน แล้วทรงยังสีหนาทสูตรนี้ให้จบลง ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล.

จบอรรถกถาจูฬนีสูตรที่ ๑๐

จบอานันทวรรควรรณนาที่ ๓

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ฉันนสูตร ๒. อาชีวกสูตร ๓. สักกสูตร ๔. นิคัณฐสูตร ๕. สมาทปกสูตร ๖. นวสูตร ๗. ภวสูตร ๘. สีลัพพตสูตร ๙. คันธสูตร ๑๐. จูฬนีสูตร และอรรถกถา.