พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. มูลสูตร ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38695
อ่าน  344

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 375

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๙. มูลสูตร

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 375

๙. มูลสูตร

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล

[๕๐๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล (รากเหง้าของอกุศล) ๓ นี้. ๓ คืออะไร คือ โลภะ โทสะ โมหะ

ภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวโลภะ โทสะ โมหะเอง ก็เป็นอกุศล แม้กรรมที่บุคคลผู้เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้วสร้างขึ้นด้วยกาย ด้วย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 376

วาจา ด้วยใจ ก็เป็นอกุศล บุคคลเกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว อันโลภะ โทสะ โมหะครอบงำแล้ว มีจิตอันโลภะ โทสะ โมหะจับเสียรอบแล้ว หาเรื่องก่อทุกข์อันใดให้ผู้อื่น โดยฆ่าเสียบ้าง จองจำเสียบ้าง ทำให้เสียทรัพย์บ้าง ตำหนิโทษบ้าง ขับไล่บ้าง ด้วยถือว่า ข้าฯ เป็นคนมีกำลังอำนาจบ้าง ข้าฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง แม้อันนั้นก็เป็นอกุศล ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลมิใช่น้อยซึ่งเกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นแดนเกิด เป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดพร้อมด้วยประการอย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้นี่เรียกว่า อกาลวาที (พูดในเวลาไม่ควร หรือไม่พูดในเวลาที่ควร) บ้าง อภูตวาที (พูดสิ่งที่ไม่จริง หรือไม่พูดสิ่งที่จริง) บ้าง อนัตถวาที (พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์) บ้าง อธรรมวาที (พูดสิ่งที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่พูดสิ่งที่เป็นธรรม) บ้าง อวินัยวาที (พูดสิ่งที่ไม่เป็นวินัย หรือไม่พูดสิ่งที่เป็นวินัย) บ้าง เพราะเหตุอะไร บุคคลเช่นนี้จึงเรียกว่า อกาลวาทีบ้าง ฯลฯ อวินัยวาทีบ้าง เพราะว่าบุคคลนี้หาเรื่องก่อทุกข์ให้ผู้อื่น โดยฆ่าเสียบ้าง ฯลฯ ด้วยถือว่า ข้าฯ เป็นคนมีกำลังอำนาจบ้าง ข้าฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง แต่เมื่อผู้อื่นว่าโดยความจริงก็ปัดเสีย ไม่ยอมรับ เมื่อเขาว่าโดยความไม่จริง ก็ไม่เพียรที่จะแก้ความไม่จริงนั้นว่า สิ่งนี้ไม่จริง สิ่งนั้นไม่เป็น ด้วยเหตุนี้ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงเรียกว่า อกาลวาทีบ้าง ฯลฯ อวินัยวาทีบ้าง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้ อันอกุศลบาปธรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะครอบงำแล้ว มีจิตอันอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นจับเสียรอบแล้ว ในปัจจุบันนี่ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ประกอบไปด้วยความคับแค้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 377

เร่าร้อน เพราะกายแตกตายไป ทุคติเป็นหวังได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นรัง หรือต้นตะแบก หรือต้นตะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย ๓ เถาขึ้นปกคลุมรึงรัดแล้ว ย่อมถึงความไม่เจริญ ย่อมถึงความพินาศ ย่อมถึงทั้งความไม่เจริญทั้งความพินาศฉันใด บุคคลเช่นนี้ก็ฉันนั้นนั่นแล อันอกุศลบาปธรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะครอบงำแล้ว มีจิตอันอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นจับเสียรอบแล้ว ในปัจจุบันนี่ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ประกอบไปด้วยความคับแค้นเร่าร้อน เพราะกายแตกตายไป ทุคติเป็นหวังได้

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล (รากเหง้าของกุศล) ๓ นี้ ๓ คืออะไร คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

ภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวอโลภะ อโทสะ อโมหะเองก็เป็นกุศล แม้กรรมที่บุคคลผู้ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ อันโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ครอบงำแล้ว มีจิตอันโลภะ โทสะ โมหะ ไม่จับรอบแล้ว ไม่หาเรื่องก่อทุกข์อันใดให้ผู้อื่น โดยฆ่าเสียบ้าง ฯลฯ ข้าฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง แม้อันนั้นก็เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลมิใช่น้อยซึ่งเกิดเพราะอโลภะ อโทสะ อโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นแดนเกิด เป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดพร้อมด้วยประการอย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้นี่เรียกว่า กาลวาที (พูดในเวลาที่ควร) บ้าง ภูตวาที (พูดสิ่งที่จริง) บ้าง อัตถวาที (พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์) บ้าง ธรรมวาที (พูดสิ่งที่เป็นธรรม) บ้าง วินัยวาที (พูดสิ่งที่เป็นวินัย) บ้าง เพราะเหตุอะไร บุคคลเช่นนี้จึงเรียกว่า กาลวาที บ้าง ฯลฯ วินัยวาทีบ้าง เพราะว่าบุคคลนี้ไม่หาเรื่องก่อทุกข์ให้ผู้อื่น โดย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 378

ฆ่าเสียบ้าง ฯลฯ ข้าฯ อยู่ในพรรคพวกบ้าง เมื่อผู้อื่นว่าโดยความจริงก็ยอมรับ ไม่ปัดเสีย เมื่อเขาว่าโดยความไม่จริง ก็เพียรแก้ความไม่จริงนั้นว่า สิ่งนี้ไม่จริง สิ่งนั้นไม่เป็น ด้วยเหตุนี้ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงเรียกว่า กาลวาที บ้าง ฯลฯ วินัยวาที บ้าง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะของบุคคลเช่นนี้ อันเขาละเสียแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตอตาลแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเช่นนี้ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความคับแค้นเร่าร้อนในปัจจุบันนี้ ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้แหละ เปรียบเหมือนต้นรัง หรือต้นตะแบก หรือต้นตะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย ๓ เถา ขึ้นปกคลุมรึงรัดแล้ว มีบุรุษผู้หนึ่งถือจอบเสียมและตะกร้ามา ตัดโคนเถาย่านทราย แล้วขุดคุ้ยเอารากขึ้น ที่สุดแม้เท่าก้านแฝก (ก็ไม่ให้เหลือ) แล้วสับผ่าให้เป็นชิ้นละเอียด ผึ่งแดดและลมจนแห้ง แล้วเผาด้วยไฟจนเป็นผุยผง แล้วโปรยเสียในลมแรง หรือสาดเสียในกระแสอันเชี่ยวในแม่น้ำ เมื่อเช่นนี้ เถาย่านทรายนั้นก็เป็นอันรากขาดแล้ว ถูกทำให้เหมือนตอตาลแล้ว ถูกทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันใด ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย อกุศลบาปธรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะของบุคคลเช่นนี้ อันเขาละเสียแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ฯลฯ ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้แหละ

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล ๓.

จบมูลสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 379

อรรถกถามูลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมูลสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

ธรรมที่เป็นมูลแห่งอกุศล ชื่อว่า อกุศลมูล. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมนั้นด้วยเป็นมูลด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อกุศลมูล. บทว่า ยทปิ ภิกฺขเว โลโภ เท่ากับ โยปิ ภิกฺขเว โลโภ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความโลภแม้ใด. บทว่า ตทปิ อกุสลมูลํ ความว่า แม้ความโลภนั้น เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล หรือเป็น (ตัว) อกุศลก็ได้ อธิบายว่า ในที่นี้ แม้อกุศลนั้นหมายถึงอกุศลมูลนั้นก็ควรเหมือนกัน. ในบททั้งปวง พึงนำนัยนี้ (ไป) โดยอุบายนี้.

บทว่า อภิสงฺขโรติ ความว่า ย่อมประมวล คือ รวบรวมมา ได้แก่ ทำให้เป็นกอง. บทว่า อสตา ทุกฺขํ อุปทหติ ความว่า ก่อทุกข์โดยกล่าวโทษอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เป็นจริงแก่เขา ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง คือ ไม่มีอยู่. บทว่า วเธน วา เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อทรงแสดงอาการที่เขาก่อทุกข์ขึ้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานิยา ได้แก่ ความเสื่อมทรัพย์. บทว่า ปพฺพาชนาย ความว่า ได้แก่ การขับออกจากบ้าน ออกจากป่า หรือจากรัฐ. บทว่า พลวมฺหิ ความว่า เราเป็นผู้มีกำลัง. บทว่า พลตฺโถ อิติปิ ความว่า พูดว่า เราต้องการกำลังบ้าง เราอยู่ในกำลังบ้าง.

บทว่า อกาลวาที ความว่า ไม่พูดในเวลาที่ควรพูด ชื่อว่าพูดในเวลาอันไม่ควร. ว่า อภูตวาที ความว่า ไม่พูดเรื่องจริง ชื่อว่าพูดเรื่องไม่จริง. บทว่า อนตฺถวาที ความว่า ไม่พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ ชื่อว่าพูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์. บทว่า อธมฺมวาที ความว่า ไม่พูดสิ่งที่เป็นธรรม

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 380

ชื่อว่าพูดสิ่งที่ไม่เป็นธรรม. บทว่า อวินยวาที ความว่า ไม่พูดสิ่งที่เป็นวินัย ชื่อว่าพูดสิ่งที่มิใช่วินัย.

บทว่า ตถาหยํ ตัดบทเป็น ตถา หิ อยํ. บทว่า น อาตปฺปํ กโรติ ตสฺส นิพฺเพธนาย ความว่า ไม่ทำความเพียรเพื่อประโยชน์แก่การแก้เรื่องที่ไม่เป็นจริงนั้น. บทว่า อิติเปตํ อตจฺฉํ ความว่า สิ่งนี้ไม่แท้ด้วยเหตุแม้นี้. บทนอกนี้ (อภูตํ) เป็นไวพจน์ของบทว่า อตจฺฉํ นั้นนั่นแหละ.

บทว่า ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา ความว่า ทุคติที่แยกประเภทเป็นนรกเป็นต้น พึงหวังได้ อธิบายว่า ทุคติจะต้องเป็นส่วนของเขาแน่นอน คือ เขาจะต้องบังเกิดในทุคตินั้น. (๑) บทว่า อุทฺธสฺสโต ความว่า ถูกเถาย่านทรายขึ้นปกคลุมแล้วในเบื้องบน. บทว่า ปริโยนทฺโธ ความว่า ถูกเถาย่านทรายขึ้นปกคลุมแล้วโดยรอบ.

บทว่า อนยํ อาปชฺชติ แปลว่า ถึงความไม่เจริญเติบโต. บทว่า พฺยสนํ อาปชฺชติ แปลว่า ย่อมถึงความพินาศ อธิบายว่า ในฤดูร้อน เมื่อผลย่านทรายสุกแตกออกแล้ว เมล็ดทั้งหลายจะกระเด็นไปตกที่โคนต้นไทรเป็นต้น ในต้นไม้เหล่านั้น ที่โคนต้นไม้ต้นใดมีเมล็ดตกไป ๓ เมล็ด ในทิศทั้ง ๓ เมื่อต้นไม้นั้นถูกฝนในฤดูฝนโชย หน่อ ๓ หน่อจากเมล็ดทั้ง ๓ จะงอกขึ้นแนบติดต้นไม้นั้น ต่อแต่นั้น รุกขเทวดาเป็นต้นก็ไม่สามารถจะอาศัยอยู่ตามทางของตนได้ หน่อแม้ทั้ง ๓ เหล่านั้น งอกงามขึ้น กลายเป็นเถาเลื้อยเกาะต้นไม้นั้น เกี่ยวพันคาคบ กิ่งน้อย กิ่งใหญ่ทั้งหมด คลุมต้นไม้นั้นจนมิด. ต้นไม้นั้นถูกเถาย่านทรายเกี่ยวพันไว้ ดาดาษไปด้วยเถาย่านทรายหนา (และ) ใหญ่ เมื่อฝนตกลงมา หรือลมพัด ก็จะหักล้มลงในที่นั้นๆ


(๑) ปาฐะว่า ตตฺถ เนน ฉบับพม่าเป็น ตตฺถาเนน.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 381

เหลือแต่ตอเท่านั้น. บทว่า พฺยสนํ อาปชฺชติ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงต้นไม้นั้น.

ก็ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ ก็สัตว์โลก พึงเห็นเหมือนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งในบรรดาต้นรังเป็นต้น อกุศลมูล ๓ พึงเห็นเหมือนเถาย่านทราย ๓ เถา. เวลาที่ความโลภเป็นต้นยังไม่ประจวบทวาร พึงเห็นเหมือนการที่เถาวัลย์เหล่านั้นโอบต้นไม้ขึ้นไปตรงๆ ยังไม่ถึงกิ่งไม้. เวลาที่ความโลภเป็นต้นดำเนินไปด้วยอำนาจแห่งทวาร พึงเห็นเหมือนเวลาที่เถาวัลย์เลื้อยไปตามแนวกิ่งไม้. เวลาที่ความโลภเป็นต้นกลุ้มรุมจิตใจ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เถาวัลย์คลุมต้นไม้. เวลาที่ภิกษุต้องอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ด้วยอำนาจแห่งกิเลสทั้งหลายที่มาประจวบทวารแล้ว พึงเห็นเหมือนเวลาที่กิ่งเล็กๆ หลุดลงมา. เวลาที่ภิกษุต้องครุกาบัติ พึงเห็นเหมือนเวลาที่กิ่งไม้ใหญ่หักลงมา. เวลาที่ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้วตกลงไปในอบายทั้ง ๔ ตามลำดับ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ต้นไม้ล้มลงที่พื้นดิน ในเมื่อโคนชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำที่ไหลลงมาตามแนวเถาวัลย์.

ธรรมฝ่ายขาว (กุศลธรรม) พึงทราบโดยตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว. แต่ในบทว่า เอวเมว โข นี้ พึงทราบข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ สัตว์โลกนี้ พึงเห็นเหมือนต้นไม้อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาต้นรังเป็นต้น. อกุศลมูลทั้ง ๓ พึงเห็นเหมือนเถาย่านทราย ๓. พระโยคาวจร พึงเห็นเหมือนบุรุษผู้มาทำเถาวัลย์เหล่านั้นให้เป็นไป (ขุดเถาวัลย์ทิ้ง). ปัญญา พึงเห็นเหมือนจอบ. พลังแห่งศรัทธา พึงเห็นเหมือนพลังแห่งจอบ. การขุดด้วยวิปัสสนา พึงเห็นเหมือนการขุดด้วยจอบ. เวลาที่พระโยคาวจรใช้วิปัสสนาญาณตัดรากของอวิชชา พึงเห็นเหมือนการตัดรากของเถาวัลย์โดยการขุด. เวลาที่พระโยคาวจรเห็น (รูปนาม) ด้วยสามารถแห่งขันธ์ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ตัดเถาวัลย์

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 382

ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่. เวลาที่พระโยคาวจรถอนกิเลสขึ้นได้ด้วยมัคคญาณ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ผ่าเถาวัลย์. เวลาที่เบญจขันธ์ยังดำรงอยู่ พึงเห็นเหมือนเวลาทำเถาวัลย์ให้เป็นขี้เถ้า. เวลาที่พระโยคาวจรดับอุปาทินนกขันธ์ โดยการดับไม่ให้มีปฏิสนธิ แล้วไม่ถือปฏิสนธิในภพใหม่ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เขาโปรยขี้เถ้าลงไปที่พายุใหญ่ ทำให้ไม่ไห้เกิดอีกฉะนั้นแล. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะ.

จบอรรถกถามูลสูตรที่ ๙