พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. กถาวัตถุสูตร ว่าด้วยถ้อยคําที่ควรพูด ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38693
อ่าน  323

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 357

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๗. กถาวัตถุสูตร

ว่าด้วยถ้อยคําที่ควรพูด ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 357

๗. กถาวัตถุสูตร

ว่าด้วยถ้อยคำที่ควรพูด ๓ อย่าง

[๕๐๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๓ นี้ กถาวัตถุ ๓ คืออะไร คือ บุคคลพึงพูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นอดีตว่า กาลที่ล่วงแล้วได้เป็นอย่างนี้ ๑ พูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นอนาคตว่า กาลภายหน้าจักเป็นอย่างนี้ ๑ พูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นปัจจุบันบัดนี้ว่า กาลที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าบัดนี้เป็นอยู่อย่างนี้ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่แก้ตรงซึ่งเอกังสพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ต้องแก้ตรง) ไม่แก้จำแนกซึ่งวิภัชชพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ต้องแก้จำแนก) ไม่ย้อนถามแล้วจึงแก้ซึ่งปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงแก้) ไม่ยกเลิกซึ่งฐปนียปัญหา (ปัญหาที่ต้องยกเลิก) เช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว แก้ตรงซึ่งเอกังสพยากรณียปัญหา แก้จำแนกซึ่งวิภัชชพยากรณียปัญหา ย้อนถามแล้วจึงแก้ซึ่งปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ยกเลิกซึ่งฐปนียปัญหา เช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลควรสนทนา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่มั่นอยู่ในฐานะ (ข้อที่เป็นได้) และอฐานะ (ข้อที่เป็นไม่ได้) ไม่มั่นอยู่ในข้อที่กำหนดไว้ ไม่มั่นอยู่ในวาทะของผู้อื่น ไม่มั่นอยู่ในข้อปฏิบัติ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 358

บุคคลเช่นนี้ เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหา มั่นอยู่ในฐานะและอฐานะ มั่นอยู่ในข้อที่กำหนดไว้ มั่นอยู่ในวาทะของผู้อื่น มั่นอยู่ในข้อปฏิบัติ บุคคลเช่นนี้ เป็นบุคคลควรสนทนา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล พึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว พูดกลบเกลื่อนนอกเรื่องนอกทาง แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น ความน้อยใจให้ปรากฏ บุคคลอย่างนี้ เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่นอกเรื่องไม่นอกทาง ไม่แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น ความน้อยใจให้ปรากฏ บุคคลอย่างนี้ เป็นบุคคลควรสนทนา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว พูดพล่าม พูดเหยียบย่ำ พร่ำหัวเราะ คอยจับคำพลาด บุคคลชนิดนี้ เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำ ไม่พร่ำหัวเราะ ไม่คอยจับคำพลาด บุคคลอย่างนี้ เป็นบุคคลควรสนทนา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลมีอุปนิสัยปัจจัย หรือเป็นบุคคลไม่มีอุปนิสัยปัจจัย ผู้ไม่เงี่ยโสต (คอยฟัง) เป็นบุคคลไม่มีอุปนิสัยปัจจัย ผู้เงี่ยโสต (คอยฟัง) เป็นบุคคลมีอุปนิสัยปัจจัย

บุคคลนั้นเป็นผู้มีอุปนิสัยปัจจัย ย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมกำหนดรู้ซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมละซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมทำให้แจ้งซึ่งธรรม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 359

อันหนึ่ง เมื่อรู้ยิ่งเห็นจริงซึ่งธรรมอันหนึ่ง กำหนดรู้ซึ่งธรรมอันหนึ่ง ละซึ่งธรรมอันหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมถึงวิมุตติโดยชอบ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพูดกันมีอันนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษากันมีอันนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยปัจจัยมีอันนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตมีอันนี้เป็นประโยชน์ อันนี้คืออะไร คือ ความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ยึดถือ

ชนเหล่าใดพูดกันอยู่ ผิดใจกัน มั่นมุ่งไปคนละทาง ต่างยกตัวกระทบกระเทียบกันอย่างอนารยชน จ้องหาช่องผิดของกันและกัน ชนเหล่านั้นย่อมยินดีคำผิด คำพลาด ความเผลอ ความเพ้อของกันและกัน อารยชนไม่ประพฤติการพูดกันอย่างนั้น.

ถ้าอารยชนใคร่จะพูด ก็เป็นผู้ฉลาด รู้จักกาล พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุผล ที่อารยชนประพฤติกัน ไม่โกรธ ไม่ยกตัว มีใจสงบ ไม่ตีเสมอ ไม่รุนแรง ไม่เอาหน้า รู้ชอบแล้วจึงกล่าว ทีเขาพูดถูกก็อนุโมทนา เมื่อเขาพูดผิดก็ไม่รุกราน ไม่ใฝ่เอาเปรียบ เขาพูดพลั้งไปบ้างก็ไม่ถือ ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำเขา ไม่พูดคำสบถสาบาน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 360

การพูดของสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นการพูดเพื่อให้เกิดความรู้ ความเลื่อมใส อารยชนทั้งหลายย่อมพูดกันอย่างนี้ นี่เป็นการสนทนากันแห่งอารยชน ผู้มีปัญญา รู้ความข้อนี้แล้ว พึงพูดจาอย่ายกตัว.

จบกถาวัตถุสูตรที่ ๗

อรรถกถากถาวัตถุสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกถาวัตถุสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กถาวตฺถูนิ ได้แก่ เหตุที่ให้เกิดกถา อธิบายว่า เป็นพื้นฐาน คือ เป็นที่ตั้งแห่งกถา. บทว่า อตีตํ วา ภิกฺขเว อทฺธานํ ความว่า กาลก็ดี ขันธ์ก็ดี ชื่อว่าอตีตัทธา (ระยะกาลอันยืนยาวนานที่ผ่านมาแล้ว) ก็ควร. แม้ในอนาคตและปัจจุบัน ก็มีนัยอย่างเดียวกันนี้.

ในบรรดากาลทั้ง ๓ นั้น เมื่อพูดโดยนัยนี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ที่มาแล้วในอดีต พระเจ้ากรุงกาสีทรงพระนามว่า กิงกิ ได้เป็นอรรคอุปัฏฐากของพระองค์ พระองค์ทรงมีพระชนมายุยืนนานถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวคาถาปรารภอดีต.

เมื่อกล่าวโดยนัยนี้ว่า พระพุทธเจ้าพระนามว่า เมตไตรย จักมีมาในอนาคต พระราชาพระนามว่า สังขะ จักเป็นอรรคอุปัฏฐากของพระองค์ พระองค์จะมีพระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวคาถาปรารภอนาคต.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 361

เมื่อกล่าวโดยนัยมีอาทิว่า ในปัจจุบันนี้ พระราชาพระนามอย่างโน้นเป็นธรรมิกราช พระองค์โน้นก็เป็นธรรมิกราช ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวกถาปรารภปัจจุบัน.

บทว่า กถาสมฺปโยเคน ได้แก่ ประคารมกัน. บทว่า กจฺโฉ แปลว่า ควรเพื่อจะกล่าว. บทว่า อกจฺโฉ ความว่า ไม่ควรเพื่อจะกล่าว.

พึงทราบวินิจฉัยในคำมีอาทิว่า เอกํสพฺยากรณียํ ปญฺหํ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกถามว่า จักษุไม่เที่ยงหรือ ควรตอบโดยส่วนเดียวว่า ถูกแล้ว จักษุไม่เที่ยง. ในอินทรีย์ทั้งหลายมีโสตะเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. นี้ชื่อว่าเป็นปัญหาที่พึงตอบโดยส่วนเดียว (คือตอบประเด็นเดียว).

แต่ผู้ถูกถามว่า จักษุ ชื่อว่าไม่เที่ยงหรือ ก็ควรแยกตอบอย่างนี้ว่า ไม่ใช่จักษุอย่างเดียวที่ไม่เที่ยง ถึงโสตะก็ไม่เที่ยง ถึงฆานะก็ไม่เที่ยง นี้ชื่อว่าเป็นปัญหาที่ต้องแยกตอบ.

ผู้ถูกถามว่า โสตะเหมือนกับจักษุ จักษุเหมือนกับโสตะหรือ ควรย้อนถามว่า ท่านถามโดยหมายความอย่างไร? เมื่อเขาตอบว่า เราถามหมายถึงการเห็น แล้วจึงตอบว่า ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเขาตอบว่า ผมถามหมายถึงความไม่เที่ยง ก็ควรตอบว่า ถูกแล้ว นี้ชื่อว่าเป็นปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงตอบ.

แต่ผู้ถูกถามปัญหาเป็นต้นว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ? ควรงดตอบ โดยพูดว่า ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาแบบนี้ เป็นปัญหาที่ไม่ควรพยากรณ์ นี้ชื่อว่าเป็นปัญหาที่ควรงดตอบ.

บทว่า านฏฺาเน น สณฺาติ ความว่า ไม่ตั้งอยู่ในเหตุหรือในสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ. ในข้อนั้น มีนัยดังต่อไปนี้ ก็สัสสตวาทีบุคคล (ผู้ถือลัทธิว่ายั่งยืน) สามารถเพื่อจะข่มอุจเฉทวาทีบุคคล (ผู้ถือลัทธิว่าขาดสูญ) ด้วยเหตุ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 362

ที่สมควรได้ อุจเฉทวาทีบุคคลเมื่อถูกข่มขู่ จะแสดงความเป็นสัสสตวาทีบุคคลออกมาว่า ก็ผมพูดความขาดสูญหรือ? เขาชื่อว่า ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในวาทะของตนได้ เมื่ออุจเฉทวาทีบุคคลสามารถ (ถูกข่มอยู่) อย่างนี้ เขาจะกลายเป็นสัสสตวาทีบุคคลไป เมื่อปุคคลวาทีบุคคล (ผู้ถือลัทธิว่ามีบุคคล) สามารถ (ถูกข่มอยู่) เขาก็จะกลายเป็นสุญญตวาทีบุคคล (ผู้ถือลัทธิว่าสูญ) ไป เมื่อสุญญตวาทีบุคคลสามารถ (ถูกข่มอยู่) เขาก็จะกลายเป็นปุคคลวาทีบุคคลไป ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ย่อมชื่อว่า านาาเน น สณฺาติ (ไม่ยืนหยัดอยู่ตั้งอยู่ทั้งในฐานะและอฐานะ).

คำว่า ปริกปฺเป น สณฺาติ นี้ ได้ทั้งในการถามปัญหาและการตอบปัญหา. ถามว่า ข้อนี้อย่างไร ตอบว่า ก็คนบางคนชูคอหมายจะถามปัญหาว่า เราจักถามปัญหาเขาดู อีกฝ่ายหนึ่งพูดว่า ท่านจะถามปัญหานี้หรือ รู้ว่าเขารู้แล้วก็พูดว่า ไม่ใช่ข้อนี้ ผมจะถามข้ออื่น. แม้เธอถูกถามปัญหา ก็เชยคางหมายจะตอบปัญหาว่า เราจักตอบปัญหา. เธอถูกอีกฝ่ายหนึ่งพูดว่า ท่านจักตอบปัญหานี้หรือ รู้ว่าเขารู้แล้วก็พูดว่า ไม่ใช่ข้อนี้ เราจะตอบข้ออื่น อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ตั้งมั่นอยู่ในข้อที่กำหนดไว้.

บทว่า อญฺวาเท น สณฺาติ ความว่า ไม่ตั้งมั่นในวาทะที่รู้แล้ว คือ ในวาทะที่ทราบแล้ว. ถามว่า ข้อนี้อย่างไร ตอบว่า คนลางคนถามปัญหาอยู่ อีกฝ่ายหนึ่งพูดกะเขาว่า ท่านถามปัญหาถูกใจ ปัญหานี้ท่านเรียนมาจากไหน? ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งถามปัญหาตามแนวที่จะต้องถามนั่นแหละ ก่อให้เกิดความฉงนในถ้อยคำแก่ผู้นั้นว่า ที่เราถามแล้ว ไม่ตรงประเด็นหรืออย่างไร? ฝ่ายหนึ่งที่ถูกถามปัญหาแล้ว ตอบปัญหาอยู่. คนอื่นพูดกะเขาว่า ท่านตอบปัญหาดีแล้ว ท่านเรียนปัญหามาจากไหน ธรรมดาผู้จะตอบปัญหาต้องตอบอย่างนี้. ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง แม้แก้ปัญหาตามแนวที่จะต้องแก้นั่นแหละ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 363

แต่ก่อให้เกิดความฉงนในถ้อยคำแก่ผู้นั้นว่า ที่เราตอบไปแล้ว ไม่ตรงประเด็นหรืออย่างไร?

บทว่า ปฏิปทาย น สณฺาติ ความว่า ไม่ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติ อธิบายว่า ถามในสิ่งที่ไม่ควรถาม โดยไม่รู้ธรรมเนียม. ก็ธรรมดาปัญหานี้ ผู้ที่ถูกเขาถามที่ลานเจดีย์ ไม่ควรตอบ. ในทางภิกษาจารก็ดี ในเวลาเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านก็ดี ในเวลานั่งบนอาสนศาลาก็ดี ในเวลานั่งรับข้าวยาคูและภัตรก็ดี ในเวลานั่งฉันก็ดี แม้ในเวลาเดินทางไปสู่ที่พักกลางวันก็ดี ก็ไม่ควรตอบเหมือนกัน. แต่ในเวลานั่งในที่พักกลางวัน เมื่อเขาขอโอกาสก่อนถาม ก็ควรตอบ เมื่อไม่ขอโอกาสแล้วถาม ก็ไม่ควรตอบ. ผู้ถามโดยไม่รู้ธรรมเนียมนี้ ชื่อว่าไม่ตั้งมั่นอยู่ในปฏิปทา. บทว่า เอวํ สนฺตายํ ภิกฺขเว ปุคฺคโล อกจฺโฉ โหติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเหตุนี้มีอยู่ บุคคลนี้ชื่อว่าไม่ควรตอบปัญหานี้.

บทว่า านฏฺาเน สณฺาติ ความว่า สัสสตวาทีบุคคลมีพอที่จะข่มอุจเฉทวาทีบุคคล. อุจเฉทวาทีบุคคล แม้ถูกสัสสตวาทีบุคคลข่มอยู่ ก็กล่าว (ยืนยัน) ว่า เราแม้จะถูกท่านข่มขู่อยู่ ๗ ครั้ง ก็ยังคงเป็นอุจเฉทวาทีอยู่นั่นเอง แม้ในสัสสตวาทีบุคคล ปุคคลวาทีบุคคล และสุญญตวาทีบุคคล ก็พึงนำนัยไปโดยนัยนี้แหละ อย่างนี้ ชื่อว่าตั้งมั่นอยู่ในฐานะและอฐานะ.

บทว่า ปริกปฺเป สณฺาติ ความว่า คนบางคนชูคอหมายจะถามปัญหาว่า เราจะถามปัญหา เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านจักถามปัญหาชื่อนี้หรือ? ก็ตอบว่า ถูกละ เราจะถามปัญหาข้อนี้แหละ (ถึงเธอถูกถามปัญหา) ก็เชยคางหมายจะตอบปัญหาว่า เราจะตอบปัญหา เมื่อถูกถามว่า ท่านจักตอบปัญหาข้อนี้หรือ? ก็พูดยืนยันว่า ถูกละ เราจะตอบปัญหาข้อนี้แหละ อย่างนี้ ชื่อว่าตั้งมั่นอยู่ในข้อที่กำหนด.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 364

บทว่า อญฺวาเท สณฺาติ ความว่า บุคคลบางคนถามปัญหาแล้วมีผู้กล่าวว่า ท่านถามปัญหาดีแล้ว ธรรมดาผู้ถามปัญหาควรถามอย่างนี้ ดังนี้แล้ว ก็รับรองไม่ให้เกิดความฉงน (แก่ผู้อื่น). แม้ตอบปัญหาแล้ว เมื่อมีผู้พูดว่า ท่านตอบปัญหาดีแล้ว ธรรมดาผู้ตอบปัญหาควรตอบอย่างนี้ ก็รับรองไม่ให้เกิดความฉงนขึ้น (อย่างนี้ ชื่อว่าตั้งมั่นอยู่ในเพราะวาทะของผู้อื่น)

บทว่า ปฏิปทาย สณฺาติ ความว่า ภิกษุบางรูปเขานิมนต์ให้นั่งในเรือน ถวายข้าวยาคูและของควรเคี้ยวเป็นต้น นั่งอยู่ในระหว่างจนกว่าจะเสร็จภัตกิจ จึงจะถามปัญหา ถือเอาเภสัช มีเนยใสเป็นต้น น้ำปานะ ๘ อย่าง หรือผ้าเครื่องปกปิด ระเบียบ และของหอมเป็นต้น เดินไปวิหาร ให้ของเหล่านั้นแล้ว เข้าสู่ที่พักกลางวัน ขอโอกาสแล้วจึงถามปัญหา จริงอยู่ ผู้ถามปัญหาโดยรู้ธรรมเนียมอย่างนี้ ชื่อว่าตั้งมั่นอยู่ในปฏิปทา เธอจะตอบปัญหาของเขาก็ควร.

บทว่า อญฺเนญฺํ ปฏิจรติ ความว่า กลบเกลื่อนถ้อยคำอย่างหนึ่ง ด้วยถ้อยคำอีกอย่างหนึ่ง หรือถูกถามปัญหาอย่างหนึ่ง ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง. บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมติ ความว่า เมื่อข้ามเรื่องแรกเสีย ชื่อว่าพูดถลากไถล (ไม่ตรงไปตรงมา). ในข้อนั้นมีเรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องพระพูดถลากไถลนอกเรื่อง

เล่ากันมาว่า ภิกษุทั้งหลายประชุมกันแล้ว กล่าวกะภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งว่า อาวุโส ท่านต้องอาบัติชื่อนี้ และชื่อนี้. ภิกษุหนุ่มตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผมเดินทางไปนาคทวีป. ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโส พวกเราไม่สนใจเรื่องที่ท่านไปนาคทวีป แต่พวกเราถามท่านว่า ท่านต้องอาบัติหรือ.

ภิกษุหนุ่ม. ท่านขอรับ ผมไปนาคทวีป แล้วฉันปลา.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 365

ภิกษุทั้งหลาย. อาวุโส เรื่องฉันปลาของคุณ พวกเราไม่เกี่ยว เขาว่า คุณต้องอาบัติ.

ภิกษุหนุ่ม. ครับผม ปลาไม่ค่อยสุก ทำให้ผมไม่สบาย.

ภิกษุทั้งหลาย. อาวุโส คุณจะสบาย หรือไม่สบาย พวกเราไม่เกี่ยว (แต่) คุณต้องอาบัติ.

ภิกษุหนุ่ม. ขอรับ กระผมเกิดไม่สบาย ตลอดเวลาที่อยู่ในนาคทวีปนั้น.

ด้วยเรื่องตามที่เล่ามานี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมพูดถลากไถลไปนอกเรื่อง โดยการเอาเรื่องอื่นเข้ามาพูดแทรก.

บทว่า อภิหรติ ความว่า พูดพล่าม โดยนำเอาพระสูตรโน้นบ้าง นี้บ้าง ดุจพระเตปิฎกติสสเถระ. เล่ากันมาว่า เมื่อก่อนภิกษุทั้งหลายประชุมกันที่ลานมหาเจดีย์ กระทำกิจของสงฆ์แล้ว ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วสนทนาได้ถามปัญหากัน. ในที่ประชุมนั้น พระเถระรูปนี้ ชักพระสูตรมาจากคัมภีร์นั้นๆ จากพระไตรปิฎก ตลอดทั้งวัน แม้ปัญหาข้อเดียวก็จบไม่ได้.

บทว่า อภิมทฺทติ ความว่า ชักเหตุมาพูดย่ำยี. บทว่า อนูปชคฺฆติ ความว่า เมื่อภิกษุรูปอื่นถามปัญหาก็ดี ตอบปัญหาก็ดี ปรบมือ หัวเราะเฮฮา อันเป็นเหตุให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า เราถามปัญหาที่ผู้อื่นเขาไม่ถาม หรือตอบปัญหาที่เขาไม่ตอบกัน. บทว่า ขลิตํ คณฺหาติ ความว่า จับเอาข้อความที่กล่าวพลาดไปเล็กน้อย คือ เที่ยวยกโทษว่า ข้อนี้ต้องตอบอย่างนี้ในเมื่อพูดพลาดไปอักขระ ๑ บท ๑ หรือพยัญชนะ ๑.

บทว่า สอุปนิโส ได้แก่ มีอุปนิสัย คือ มีปัจจัย. บทว่า โอหิตโสโต ได้แก่ ตั้งใจฟัง. บทว่า อภิชานาติ เอกํ ธมฺมํ ความว่า รู้ยิ่งซึ่งกุศลธรรมอย่างหนึ่ง คือ รู้อริยมรรค. บทว่า ปริชานาติ เอกํ ธมฺมํ ความว่า

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 366

กำหนดรู้ทุกขสัจธรรมอย่างหนึ่งด้วยตีรณปริญญา (การกำหนดรู้ด้วยการพิจารณา). บทว่า ปชหติ เอกํ ธมฺมํ ความว่า ละธรรมอย่างหนึ่ง คือ อกุศลธรรมทั้งหมด. บทว่า สจฺฉิกโรติ เอกํ ธมฺมํ ความว่า กระทำธรรมอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลธรรมหรือนิโรธนั่นแหละให้ประจักษ์. บทว่า สมฺมา วิมุตตึ ผุสติ ความว่า ถูกต้องวิโมกข์ คือ อรหัตผล ด้วยการถูกต้องด้วยญาณโดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ.

บทว่า เอตทตฺถา ภิกฺขเว กถา ความว่า ภิกษุทั้งหลาย กถาที่เราแสดงไว้ว่า ด้วยการพูดสนทนาปราศรัยกัน มีวิมุตตินี้เป็นประโยชน์ ได้แก่ มีความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ยึดมั่นนี้เป็นพื้นฐานคือเป็นที่ตั้งเป็นวัตถุแห่งกถานั้น พึงทราบการประกอบความในทุกๆ บท ดังพรรณนามานี้. บทว่า เอตทตฺถา มนฺตนา ความว่า ในบรรดาบุคคลผู้สมควรและไม่สมควร การปรึกษากับบุคคลผู้สมควรแม้นี้มีวิมุตตินี้เป็นประโยชน์เหมือนกัน. บทว่า เอตทตฺถา อุปนิสา ความว่า แม้อุปนิสัยที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ผู้เงี่ยโสตลงสดับ ผู้มีอุปนิสัย มีวิมุตตินี้เป็นประโยชน์เหมือนกัน. บทว่า เอตทตฺถํ โสตาวธานํ ความว่า แม้การเงี่ยโสตลงพร้อมทั้งอุปนิสัยของผู้นั้น มีวิมุตตินี้เป็นประโยชน์เหมือนกัน. บทว่า อนุปาทา แปลว่า เพราะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานทั้ง ๔. ความหลุดพ้น คือ พระอรหัตผล ชื่อว่าความหลุดพ้นแห่งจิต.

เพราะว่าคำทั้งหมดนี้ตรัสไว้เพื่อประโยชน์แก่อรหัตผล เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์จะทรงสรุปพระสูตรรวมยอดด้วยพระคาถาต่อไป จึงตรัสคำมีอาทิว่า เย วิรุทฺธา ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิรุทฺธา ความว่า ผิดใจกันเพราะโกรธ กล่าวคือ พิโรธ. บทว่า สลฺลปนฺติ ได้แก่ การเจรจาปราศรัยกัน. บทว่า วินิวิฏฺา ได้แก่ เป็นผู้หมายมั่น. บทว่า สมุสฺสิตา ความว่า ยกขึ้นสูงโดยการยกด้วยอำนาจมานะ. บทว่า อนริยคุณมาสชฺช

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 367

ความว่า กล่าวคุณกถาที่ไม่ใช่แบบอย่างพระอริยะ กระทบกระเทือนคุณความดี อธิบายว่า กล่าวกถากระทบกระทั่งคุณความดี ที่ชื่อว่าอนริยกถา ไม่ใช่อริยกถา บทว่า อญฺโญฺวิวเรสิโน ความว่า จ้องหาช่อง คือ ความผิดของกันแลกัน. บทว่า ทุพฺภาสิตํ ได้แก่ พูดไม่ดี. บทว่า วิกฺขลิตํ ได้แก่ พูดพลั้งปากไปเล็กน้อย. บทว่า สมฺปโมหํ ปราชยํ ความว่า ยินดีข้อพลาดพลั้งและความพ่ายแพ้ของกันและกัน เพราะปากร้ายไปเล็กน้อย. บทว่า อภินนฺทนฺติ แปลว่า ยินดี. บทว่า นาจเร ความว่า ไม่ประพฤติ คือ ไม่พูด.

บทว่า ธมฺมฏฺปฏิสํยุตฺตา ความว่า กถาที่ผู้ตั้งอยู่ในธรรมสนทนากัน ชื่อว่า ธัมมัฏฐปฏิสังยุตตา เพราะตั้งอยู่ในธรรมด้วย ประกอบด้วยธรรมนั้นด้วย. บทว่า อนุตฺติณฺเณน มนสา ได้แก่ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน. บทว่า อปฬาโส ความว่า ไม่ตีเสมอ ด้วยการตีเสมอโดยถือเป็นคู่แข่ง (๑). บทว่า อสาหโส ความว่า ไม่รุนแรง ด้วยสามารถแห่งความรุนแรง คือ ราคะ โทสะ และโมหะ.

บทว่า อนุสฺสุยฺยายมาโน ได้แก่ ไม่ริษยา. บทว่า ทุพฺภฏฺเ นาปสาทเย ความว่า ไม่รุกราน ในเพราะถ้อยคำที่พลั้งพลาด. บทว่า อุปารมฺภํ น สิกฺเขยฺย ความว่า ไม่สนใจคำติเตียนที่มีลักษณะเกินกว่าเหตุ. บทว่า ขลิตญฺจ น คาหเย ความว่า คำพูดที่พลั้งปากไปเล็กน้อยก็ไม่ถือว่านี้เป็นความผิดของท่าน. บทว่า นาภิหเร ได้แก่ ไม่พูดทับถม. บทว่า นาภิมทฺเท ได้แก่ ไม่พูดย่ำยี โดยอ้างเหตุอีกอย่างหนึ่ง.

จบอรรถกถากถาวัตถุสูตรที่ ๗


(๑) ปาฐะว่า อปฬาโส หุตฺวา ฉบับพม่าเป็น ยุคคฺคาหปฬาสวเสน อปฬาโส หุตฺวา แปลตามฉบับพม่า.