พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. กาลามสูตร ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38691
อ่าน  361

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 337

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๕. กาลามสูตร

ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 337

๕. กาลามสูตร (๑)

ว่าด้วยมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงแปล

[๕๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า (ผู้มีคุณควรคบ หรือมีคุณควรนับถือ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท (เมืองขึ้นในแว่นแคว้นโกศล) บรรลุถึงเกสปุตตนิคม (เมืองชื่อเกสปุตตะ) ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งหมู่ชนกาลามโคตร (วงศ์กาลาม) ชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่า พระสมณโคดมสักยบุตร (โอรสของกษัตริย์ชาติสักย) เสด็จออกผนวชจากสักยสกุล เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมแล้ว จึงดำริว่า กิตติศัพท์อันงามของพระสมณโคดมขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไกลกิเลส (สิ่งที่เกิดขึ้นในใจแล้วทำใจให้เศร้าหมอง มีโลภเป็นต้น) แลเป็นผู้ควรไหว้ ควรบูชา เป็นผู้รู้ชอบเอง เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วดี เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้


(๑) บาลีเป็น เกสปุตตสูตร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 338

เบิกบานแล้วในคุณทั้งปวงเต็มที่ เป็นผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนโลกนี้กับทั้งเทวดา มาร พรหม และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์และเทวดามนุษย์ให้รู้ตาม ท่านแสดงธรรมไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ (ศาสนา คือ คำสั่งสอน) บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง การได้เห็นท่านผู้ไกลกิเลส แลควรไหว้ ควรบูชาอันทรงคุณเช่นนี้ ย่อมเป็นคุณความดี ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ครั้นดำริอย่างนี้แล้ว พร้อมกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกกราบไหว้ตามอาการของผู้เลื่อมใส บางพวกเป็นแต่กล่าววาจาปราศรัยแสดงความยินดี บางพวกเป็นแต่ประคองอัญชลีประณมมือ บางพวกร้องประกาศชื่อแลโคตรของตนๆ ต่างคนนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง บางพวกนิ่งเฉยอยู่ ครั้นหมู่กาลามชนชาวเกสปุตตนิคมนั้นนั่งเป็นปกติแล้ว จึงทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมาถึงเกสปุตตนิคมนี้ สมณพราหมณ์พวกนั้นพูดแสดงแต่ถ้อยคำของตนเชิดชูให้เห็นว่า ดี ชอบ ควรจะถือตามถ่ายเดียว พูดคัดค้านข่มถ้อยคำของผู้อื่น ดูหมิ่นเสียว่า ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ควรจะถือตาม ทำถ้อยคำของตนให้เป็นปฏิปักษ์แก่ถ้อยคำของผู้อื่น ครั้นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอื่นมาถึงเกสปุตตนิคมนี้อีก ก็เป็นเหมือนพวกก่อน เป็นอย่างนี้ทุกๆ หมู่ จนข้าพระองค์มีความสงสัย ไม่รู้ว่าท่านสมณะเหล่านี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 339

อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสียเมื่อนั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้าม ไม่ให้ถือโดยอาการสิบอย่าง มีถือโดยได้ฟังตามกันมาเป็นต้น ให้พิจารณารู้ด้วยตนเองแล้ว เว้นสิ่งที่ควรเว้นเสียอย่างนี้แล้ว จะทรงแนะนำให้กาลามชนได้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งที่ควรเว้นนั้นด้วยตนเอง จึงตรัสปุจฉา ยกโลภะ (ความละโมบอยากได้เหลือเกิน) โทสะ (ความมีใจโกรธขัดเคือง แล้วประทุษร้ายใจตัวเองแลผู้อื่น) โมหะ (ความหลง) ขึ้นถาม ให้กาลามชนทูลตอบตามความเห็นโดยลำดับอย่างนี้

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โลภ ความอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือ หรือเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

กา. โลภนั้นย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. บุรุษผู้โลภแล้ว อันความโลภครอบงำแล้ว มีใจอันความโลภยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ผิดในภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้โลภแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่.

กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 340

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โทสะความประทุษร้าย เมื่อเกิดขึ้นภายในของบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์.

กา. โทสะนั้นเกิดขึ้นเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. บุรุษอันโทสะประทุษร้ายแล้ว อันโทสะครอบงำแล้ว มีใจอันโทสะยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ผิดในภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้ที่โทสะประทุษร้ายแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่.

กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โมหะ ความหลง เมื่อเกิดขึ้นภายในของบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์.

กา. โมหะนั้นเกิดขึ้นเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. บุรุษผู้หลงแล้ว อันความหลงครอบงำแล้ว มีใจอันความหลงยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ผิดในภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้หลงแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่.

กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

กา. เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าข้า

พ. มีโทษ หรือไม่มีโทษ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 341

กา. มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านผู้รู้ติเตียน หรือท่านผู้รู้สรรเสริญ.

กา. ท่านผู้รู้ติเตียน พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์หรือไม่ ความเห็นของท่านในข้อนี้เป็นอย่างไร.

กา. ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าในข้อนี้อย่างนี้.

พ. เราได้กล่าวคำใดว่า ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสียเมื่อนั้น ดังนี้ คำนั้นเราได้อาศัยความข้อนี้แลกล่าวแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้กาลามชนได้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งที่ควรเว้นนั้นด้วยตนเองอย่างนี้แล้ว ตรัสสอนให้พิจารณาให้รู้ด้วยตนเองแล้วทำสิ่งที่ควรทำต่อไปว่า ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้-

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 342

ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อสุข ดังนี้ ท่านควรถึงพร้อมธรรมเหล่านั้นอยู่เมื่อนั้น.

ครั้นตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ตรัสปุจฉา ยกอโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความมีใจไม่ขัดเคือง ไม่ประทุษร้ายใจตัวเองแลผู้อื่น) อโมหะ (ความไม่หลง) ขึ้นถาม ให้กาลามชนทูลตอบตามความเห็นโดยลำดับดุจหนหลัง ดังนี้

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน อโลภะ ความไม่อยาก เมื่อเกิดขึ้นภายในแห่งบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์.

กา. อโลภะนั้นย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. บุรุษผู้ไม่โลภแล้ว อันโลภไม่ครอบงำแล้ว มีใจอันโลภะไม่ยึดไว้รอบแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์มีชีวิต ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้ว ไม่ผิดในภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้น สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้ไม่โลภแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่.

กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน อโทสะความไม่ประทุษร้าย เมื่อเกิดขึ้นภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อไม่เป็นประโยชน์.

กา. อโทสะนั้น เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 343

พ. บุรุษอันโทสะไม่ประทุษร้ายแล้ว อันโทสะไม่ครอบงำ มีใจอันโทสะไม่ยึดไว้รอบแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์มีชีวิต ไม่เอาสิ่งที่เจ้าของเขาไม่ให้แล้ว ไม่ผิดในภรรยาผู้อื่น พูดชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้น สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้อันโทสะไม่ประทุษร้ายชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่.

กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านจะสำคัญความนี้เป็นไฉน อโมหะ ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นภายในแห่งบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์.

กา. อโมหะนั้น เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. บุรุษผู้ไม่หลงแล้ว อันความหลงไม่ครอบงำแล้ว มีใจอันความหลงไม่ยึดไว้รอบแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์มีชีวิต ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้ว ไม่ผิดในภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้น สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้ไม่หลงแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่.

กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล.

กา. เป็นกุศล พระพุทธเจ้าข้า.

พ. มีโทษ หรือไม่มีโทษ.

กา. ไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า.

พ. ท่านผู้รู้ติเตียน หรือท่านผู้รู้สรรเสริญ.

กา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 344

พ. ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขหรือไม่ ความเห็นของท่านในข้อนี้เป็นอย่างไร.

กา. ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข ความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าในข้อนี้เป็นอย่างนี้.

พ. เราได้กล่าวคำใดว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อสุข ดังนี้ ท่านควรถึงพร้อมธรรมเหล่านั้นอยู่เมื่อนั้น ดังนี้ คำนั้นเราได้อาศัยความข้อนี้แลกล่าวแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้กาลามชนได้ปัญญาพิจารณาเห็นด้วยตนเองแล้ว ทำสิ่งที่ควรทำอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงอานิสงส์อันชนผู้ปฏิบัติอย่างนั้นจะพึงได้ จะพึงถึง ดังนี้ว่า อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ ปราศจากพยาบาทแล้ว ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสติรู้รอบคอบ ใจประกอบด้วยเมตตา คือ ปรารถนาให้หมู่สัตว์ได้ความสุขทั่วหน้า มีใจประกอบด้วยกรุณา คือ ปรารถนาให้หมู่สัตว์พ้นจากทุกข์ทั่วหน้า มีใจประกอบด้วยมุทิตา คือ ร่าเริงบันเทิงต่อสมบัติที่สัตว์อื่นได้ แลมีใจประกอบด้วยอุเบกขา คือ ตั้งใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้าข้างไหน แผ่อัปปมัญญา (ภาวนาที่แผ่ไปในหมู่สัตว์ไม่มีประมาณ) พรหมวิหาร (ธรรมเป็นที่อยู่ของผู้ประเสริฐ) สี่ประการนี้ไป

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 345

ตลอดทิศที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ มีใจประกอบด้วยเมตตา (ความปรารถนาให้เป็นสุข) กรุณา (ความปรารถนาให้พ้นจากทุกข์) มุทิตา (ความร่าเริงยินดีต่อสมบัติที่ผู้อื่นได้) อุเบกขา (ความเฉยเป็นกลาง) ไพบูลย์เต็มที่ เป็นจิตใหญ่ มีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่อัปปมัญญาพรหมวิหารตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวงในที่ทั้งปวง ด้วยความเป็นผู้มีใจในสัตว์ทั้งปวง ทั้งทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ดังนี้อยู่เสมอ อริยสาวกนั้นมีจิตหาเวรมิได้อย่างนี้ มีจิตหาความเบียดเบียนมิได้อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองแล้วอย่างนี้ มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ เธอได้ความอุ่นใจสี่ประการในชาตินี้ ความอุ่นใจที่หนึ่งว่า ถ้าโลกเบื้องหน้ามีอยู่ ผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ข้อนี้เป็นสถานที่ตั้งซึ่งจะเป็นได้ คือ เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้ว เราจะเข้าไปถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่หนึ่ง ความอุ่นใจที่สองว่า ถ้าโลกเบื้องหน้าไม่มี ผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วก็ไม่มี เราก็จะรักษาตนให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีความลำบาก ไม่มีทุกข์ มีแต่สุขในชาตินี้ ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สอง ความอุ่นใจที่สามว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปชื่อว่าเป็นอันทำ เราไม่ได้คิดบาปให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาป ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สาม ความอุ่นใจที่สี่ว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ เราก็ได้พิจารณาเห็นตนเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สี่ อริยสาวกนั้นมีจิตหาเวรมิได้อย่างนี้ มีจิตหาความเบียดเบียนมิได้อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองแล้วอย่างนี้ มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ เธอได้ความอุ่นใจสี่ประการเหล่านี้แลในชาตินี้.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาจบแล้ว กาลามชนทูลรับว่า ข้อนั้นเป็นจริงอย่างนั้นๆ แล้วทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 346

และแสดงตนเป็นอุบาสกว่า ภาษิตของพระองค์ไพเราะยิ่งนักๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมเทศนาโดยบรรยาย (เหตุหรือกระแสความ) หลายอย่าง ให้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นทางที่จะปฏิบัติแจ้งชัดแก่ปัญญา อุปมาดุจบุคคลหงายของที่คว่ำ หรือเช่นเปิดของที่มีสิ่งกำบังไว้ หรือเหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือเปรียบอย่างตามตะเกียงไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีนัยน์ตาจักได้เห็นรูปฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งพำนัก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าไว้ว่าเป็นอุบาสก ถึงสรณะ (สิ่งที่ควรถึงว่าเป็นที่พึ่งพำนัก) จนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้.

จบกาลามสูตรที่ ๕

อรรถกถากาลามสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกาลามสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กาลามานํ นิคโม ได้แก่ นิคมของพวกกษัตริย์ ชื่อว่ากาลามะ. บทว่า เกสปุตฺติยา ได้แก่ ผู้อยู่ในนิคม ชื่อว่าเกสปุตตะ. บทว่า อุปสงฺกมึสุ ความว่า ให้ถือเอาเภสัช มีเนย ใสเนยข้น เป็นต้น และน้ำปานะ ๘ อย่าง เข้าไปเฝ้า.

บทว่า สกํเยว วาทํ ทีเปนฺติ ความว่า กล่าวลัทธิของตนนั่นแหละ. บทว่า โชเตนฺติ ได้แก่ ประกาศ. บทว่า ขุํเสนฺติ ได้แก่ พูดกระทบกระเทียบ. บทว่า วมฺเภนฺติ ได้แก่ พูดดูหมิ่น. บทว่า ปริภวนฺติ ได้แก่ กระทำให้ลามก. บทว่า โอปปกฺขี กโรนฺติ ได้แก่ ทำการลบล้าง คือ ยก

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 347

ทิ้งไป. บทว่า อปเรปิ ภนฺเต ความว่า เล่ากันมาว่า บ้านนั้นตั้งอยู่ที่ปากดง เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลายข้ามดงมาก็ดี จะถอยกลับก็ดี ต้องพักอยู่ในบ้านนั้น. แม้บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มาถึงก่อนจะแสดงลัทธิของตนแล้วหลีกไป พวกที่มาภายหลังก็แสดงลัทธิของตนว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะรู้อะไร เขาเหล่านั้นเป็นอันเตวาสิกของพวกเรา เล่าเรียนศิลปะบางอย่างในสำนักของเรา ดังนี้ แล้วก็หลีกไป. ชาวกาลามะทั้งหลายไม่สามารถเพื่อจะยืนหยัดอยู่แม้ในลัทธิเดียวได้.

ชาวกาลามะเหล่านั้นแสดงความนี้แล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า เตสํ โน ภนฺเต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โหเตว กงฺขา ความว่า (ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย) มีความเคลือบแคลงจริงๆ. บทว่า วิจิกิจฺฉา เป็นไวพจน์ของ กงฺขา นั่นแหละ. บทว่า อลํ แปลว่า ควรแล้ว.

บทว่า มา อนุสฺสเวน ได้แก่ อย่าเชื่อถือแม้โดยถ้อยคำตามที่ได้ฟังมา. บทว่า มา ปรมฺปราย ได้แก่ อย่าเชื่อถือแม้โดยถ้อยคำที่นำสืบๆ กันมา. บทว่า มา อิติกิริยาย ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า ได้ยินว่าข้อนี้เป็นอย่างนี้. บทว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า ข้อความนี้สมกับตำราของเราบ้าง. บทว่า มา ตกฺกเหตุ ได้แก่ อย่าเชื่อถือแม้โดยการถือเอาตามที่ตรึกไว้. บทว่า มา นยเหตุ ได้แก่ อย่าเชื่อถือแม้โดยการถือเอาตามนัย. บทว่า มา อาการปริวิตกฺเกน ได้แก่ อย่าเชื่อถือแม้โดยการตรึกตามเหตุการณ์อย่างนี้ว่า เหตุนี้ดี. บทว่า ทิฏฺินิชฺฌานกฺขนฺติยา ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า ข้อนี้สมกับความเห็นที่พวกเราพินิจพิจารณา ทนต่อการพิสูจน์ จึงถือเอา. บทว่า มา ภพฺพรูปตาย ได้แก่ อย่าเชื่อถือโดยคิดว่า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 348

ภิกษุนี้เหมาะสม ควรเชื่อถือถ้อยคำของภิกษุนี้ได้. บทว่า มา สมโณ โน ครุ ได้แก่ อย่าเชื่อถือว่า พระสมณะรูปนี้เป็นครูของเรา ควรเชื่อถือถ้อยคำของพระสมณะรูปนี้ได้.

บทว่า สมตฺตา ได้แก่ บริบูรณ์. บทว่า สมาทินฺนา ได้แก่ ที่เราถือเอาแล้ว คือ ลูบคลำแล้ว. บทว่า ยํ ตสฺส โหติ ความว่า เหตุใดมีแก่บุคคลนั้น. กุศลมูลทั้งหลาย มีอโลภะเป็นต้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะเป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบุพภาคแห่งเมตตาด้วยบทมีอาทิว่า วิคตาภิชฺโฌ ดังนี้.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสกัมมัฏฐาน มีเมตตาเป็นต้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เมตฺตาสหคเตน ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทใดพึงกล่าวโดยนัยแห่ง กัมมัฏฐานกถา และภาวนาปธาน หรือโดยอรรถกถาแห่งบาลี คำทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล้ว

บทว่า เอวํ อเวรจิตฺโต ความว่า ชื่อว่ามีจิตหาเวรมิได้ เพราะไม่มีทั้งเวรที่เป็นอกุศล ทั้งบุคคลผู้เป็นคู่เวร. บทว่า อพฺยาปชฺฌจิตฺโต ความว่า ชื่อว่ามีจิตหาทุกข์มิได้ เพราะไม่มีจิตโกรธเคือง. บทว่า อสงฺกิลิฏฺจิตฺโต ความว่า ชื่อว่าผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง เพราะไม่มีกิเลส. บทว่า วิสุทฺธจิตฺโต มีอธิบายว่า ชื่อว่ามีจิตบริสุทธิ์ เพราะไม่มีมลทิน คือ กิเลส. บทว่า ตสฺส ได้แก่ พระอริยสาวกนั้น คือ เห็นปานนั้น. บทว่า อสฺสาสา ได้แก่ เป็นที่อาศัย คือ เป็นที่พึ่ง.

บทว่า สเจ โข ปน อตฺถิ ปโร โลโก ความว่า ถ้าชื่อว่าโลกอื่น นอกจากโลกนี้ มีอยู่ไซร้. บทว่า านเมตํ เยนาหํ กายสฺส เภทาฯ เปฯ อุปปชฺชิสฺสามิ ความว่า ข้อที่เราจักเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 349

หลังจากตายแล้ว เพราะกายแตกสลายไป เป็นเหตุที่มีได้ ฉะนั้น ในทุกๆ บท พึงทราบนัยดังที่พรรณนามานี้. บทว่า อนีฆํ แปลว่า ไม่มีทุกข์. บทว่า สุขึ แปลว่า ถึงแล้วซึ่งความสุข. บทว่า อุภเยเนว วิสุทฺธํ อตฺตานํ สมนุปสฺสามิ ความว่า เราจะพิจารณาเห็นตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุทั้งสองนี้ คือ (ถ้าบาปเป็นอันบุคคลต้องทำ) เราก็ไม่ได้ทำบาป ๑ แม้เมื่อบุคคลทำบาปมีอยู่ เราก็ไม่ได้ทำ ๑. คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถากาลามสูตรที่ ๕