พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. พราหมณสูตร ว่าด้วยธรรมคุณ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38679
อ่าน  298

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 219

ทุติยปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๑

๓. พราหมณสูตร

ว่าด้วยธรรมคุณ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 219

๓. พราหมณสูตร

ว่าด้วยธรรมคุณ

[๔๙๓] ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ชื่นชมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ พราหมณ์นั้นนั่ง ณ ที่ ควรส่วนหนึ่ง แล้วกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ที่ว่าพระธรรมเป็นสนฺทิฏฺิโก สนฺทิฏฺิโก ด้วยเหตุเท่าไร พระธรรมจึงเป็นสนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พราหมณ์ คนที่เกิดราคะแล้ว อันราคะครอบงำแล้ว มีจิตอันราคะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อทำตนให้ลำบากบ้าง เพื่อทำคนอื่นให้ลำบากบ้าง เพื่อทำให้ลำบากด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง ย่อมรู้สึกทุกข์โทมนัสในใจบ้าง ครั้นละราคะเสียได้แล้ว เขาก็ไม่คิดเพื่อทำตนให้ลำบาก ฯลฯ ไม่รู้สึกทุกข์โทมนัสในใจ อย่างนี้แล พราหมณ์ พระธรรมเป็นสนฺทิฏฺิโก ...

คนที่เกิดโทสะแล้ว อันโทสะครอบงำแล้ว มีจิตอันโทสะกลุ้มรุมแล้ว ... คนที่เกิดโมหะแล้ว อันโมหะครอบงำแล้ว มีจิตอันโมหะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อทำตนให้ลำบากบ้าง ฯลฯ ย่อมรู้สึกทุกข์โทมนัสในใจบ้าง ครั้นละโทสะ ... โมหะเสียได้แล้ว เขาก็ไม่คิดเพื่อทำตนให้ลำบาก ฯลฯ ไม่รู้สึกทุกข์โทมนัสในใจ แม้อย่างนี้ พราหมณ์ พระธรรมเป็นสนฺทิฏฺิโก ...

พราหมณ์นั้นกราบทูล (สรรเสริญพระธรรมเทศนาและแสดงตนเป็นอุบาสก) ว่า ดีจริงๆ พระโคดมผู้เจริญ พระโคคมผู้เจริญบอกพระธรรมหลายปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปกปิด บอกทางแก่คนหลง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 220

ส่องตะเกียงในที่มืดเพื่อให้คนตาดีเห็นรูปต่างๆ ฉะนั้น ข้าพระเจ้าถึงพระโคดมผู้เจริญและพระธรรมพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญทรงจำข้าพระเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสกถึงสรณะแล้ว ตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ไป.

จบพราหมณสูตรที่ ๓

อรรถกถาพราหมณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในพราหมณสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมฺโมทนียํ ได้แก่ ให้เกิดการบันเทิงใจ. บทว่า สาราณียํ ได้แก่ ที่สมควรให้ระลึกถึงกัน. บทว่า วีติสาเรตฺวา แปลว่า ครั้น (ให้ระลึกถึงกัน) เรียบร้อยแล้ว. บทว่า กิตฺตาวตา แปลว่า โดยเหตุกี่อย่าง.

บทว่า สนฺทิฏฺิโก ธมฺโม โหติ ความว่า เป็นธรรมที่จะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง. บทว่า อกาลิโก ความว่า ไม่ให้ผลในกาลอื่น. ด้วยบทว่า เอหิปสฺสิโก นี้ พราหมณ์ทูลถามถึงอาคมนียปฏิปทาว่า พระธรรมอันผู้ปฏิบัติสามารถเพื่อจะชี้ได้อย่างนี้ว่า เอหิ ปสฺส (ท่านจงมาดูเถิด) ดังนี้ บทว่า โอปนยิโก ความว่า พึงน้อมจิตของตนเข้าไปหา. บทว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ ความว่า พึงทราบได้ด้วยตนเองนั่นแหละ. บทว่า วิฺญูหิ ได้แก่ บัณฑิตทั้งหลาย. บทว่า ปริยาทินฺนจิตโต ได้แก่ เป็นผู้มีจิตอันราคะถือเอาแล้ว จับแล้ว และลูบคลำแล้ว. บทว่า เจเตติ แปลว่า คิด. คำที่เหลือในพระสูตรง่ายทั้งนั้นแล. แต่ในพระสูตรนี้ พราหมณ์ทูลถามถึงโลกุตรมรรค แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสโลกุตรมรรคนั้นเหมือนกัน. ด้วยว่าโลกุตรมรรคนั้น ชื่อว่าสันทิฏฐิกะ. เพราะจะต้องเห็นด้วยตนเอง ฉะนี้แล

จบอรรถกถาพราหมณสูตรที่ ๓