พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑.พรหมสูตร ว่าด้วยพรหมของบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38652
อ่าน  448

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 105

ปฐมปัณณาสก์

เทวทูตวรรคที่ ๔

๑.พรหมสูตร

ว่าด้วยพรหมของบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 105

เทวทูตวรรคที่ ๔

๑.พรหมสูตร

ว่าด้วยพรหมของบุตร

[๔๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาอันบุตรแห่งตระกูลทั้งหลายใด บูชาอยู่ในเรือนของตน ตระกูลทั้งหลายนั้น ชื่อว่ามีพรหม ... มีบุรพาจารย์ ... มีอาหุไนย คำว่า พรหม ... บุรพาจารย์ ... อาหุไนย นี่ เป็นคำเรียกมารดาบิดาทั้งหลาย นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะมารดาบิดาทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ฟูมฟักเลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย.

(นิคมคาถา)

มารดาบิดาทั้งหลายผู้เอ็นดูประชา ชื่อว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ และเป็นอาหุไนยของบุตรทั้งหลาย

เพราะเหตุนั้นแหละ บุตรผู้มีปัญญา พึงนอบน้อมสักการะท่าน ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน ด้วยเครื่องอบ ด้วยน้ำสนานกาย และด้วยการล้างเท้า

เพราะการบำรุงมารดาบิดานั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้นในโลกนี้เทียว บุตรนั้นละ (โลกนี้) ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์.

จบพรหมสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 106

เทวทูตวรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาพรหมสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในพรหมสูตรที่ ๑ แห่งเทวทูตวรรคที่ ๔ ดังต่อ ไปนี้ :-

บทว่า อชฺฌาคาเร ได้แก่ ในเรือนของตน. บทว่า ปูชิตา โหนฺติ ความว่า มารดาบิดาเป็นผู้อันบุตรปฏิบัติบำรุงด้วยสิ่งของที่อยู่ในเรือน.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศตระกูลที่บูชามารดาบิดาว่า เป็นตระกูลมีพรหม (ประจำบ้าน) โดยมีมารดาบิดา (เป็นพรหม) อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงข้อที่มารดาบิดาเหล่านั้นเป็นบุรพาจารย์เป็นต้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า สปุพฺพาจริยกานิ (มีบุรพาจารย์) ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมา เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อให้สำเร็จความเป็นพรหมเป็นต้นแก่ ตระกูลเหล่านั้น. บทว่า พหุการา ได้แก่ มีอุปการะมากแก่บุตรทั้งหลาย. บทว่า อาปาทกา ได้แก่ ถนอมชีวิตไว้. อธิบายว่า มารดาบิดาถนอมชีวิตบุตร คือ เลี้ยงดู ประคบประหงม ได้แก่ ให้เป็นไปโดยต่อเนื่องกัน. บทว่า โปสกา ความว่า เลี้ยงดูให้มือเท้าเติบโต ให้ดื่มเลือดในอก. บทว่า อิมสฺส โลกสฺส ทสฺเสตาโร ความว่า เพราะชื่อว่าการที่บุตรทั้งหลายได้เห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้เกิดมีขึ้น เพราะได้อาศัยมารดาบิดา เพราะฉะนั้น มารดาบิดาจึงชื่อว่าเป็นผู้แสดงโลกนี้.

คำว่า พรหม ในบทคาถาว่า พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร นี้ เป็นชื่อของท่านผู้ประเสริฐสุด. พระพรหมจะไม่ละภาวหา ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 107

มุทิตา อุเบกขา ฉันใด มารดาบิดาทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะไม่ละภาวนา ๔ ในบุตรทั้งหลาย ภาวนา ๔ เหล่านั้น พึงทราบตามระยะกาลดังต่อไปนี้.

อธิบายว่า ในเวลาที่บุตรยังอยู่ในท้อง มารดาบิดาจะเกิดเมตตาจิตอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้เห็นบุตรน้อย ปลอดภัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบบริบูรณ์. แต่เมื่อใดบุตรน้อยนั้นยังเยาว์ นอนแบเบาะ มีเลือดไรไต่ตอม หรือนอนกระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องจ้า เมื่อนั้นมารดาบิดาครั้นได้ยินเสียงบุตรนั้น จะเกิดความกรุณา. แต่ในเวลาที่บุตรวิ่งเล่นไปมา หรือในเวลาที่บุตรตั้งอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว มารดาบิดามองดูแล้ว จะมีจิตอ่อนไหว บันเทิงเริงใจเหมือนกับสำลีและปุยนุ่นที่เขายีตั้ง ๑๐๐ ครั้ง หย่อนลงในฟองเนยใส เมื่อนั้นมารดาบิดาจะมีมุทิตา (จิต). แต่เมื่อใดบุตรเริ่มมีครอบครัว แยกเรือนออกไป เมื่อนั้นมารดาบิดาจะเกิดความวางใจว่า บัดนี้บุตรของเราจะสามารถจะเป็นอยู่ได้ตามลำพัง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เวลานั้นมารดาบิดาจะมีอุเบกขา. ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ดังนี้.

บทว่า ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร ความว่า แท้จริง มารดาบิดาทั้งหลาย จำเดิมแต่บุตรเกิดแล้ว ย่อมให้บุตรเรียน ให้บุตรสำเหนียกว่า จงนั่งอย่างนี้ จงยืนอย่างนี้ จงเดินอย่างนี้ จงนอนอย่างนี้ จงเคี้ยวอย่างนี้ จงกินอย่างนี้ คนนี้บุตรควรเรียกพ่อ คนนี้ควรเรียกพี่ คนนี้ควรเรียกน้อง บุตรควรทำสิ่งนี้ ไม่ควรทำสิ่งนี้ ควรเข้าไปหาคนชื่อโน้น คนชื่อโน้นไม่ควรเข้าไปหา. ในเวลาต่อมา อาจารย์เหล่าอื่นจึงให้ศึกษาศิลปะเรื่องช้าง ศิลปะเรื่องม้า ศิลปะเรื่องรถ ศิลปะเรื่องธนู และการนับด้วยนิ้วมือเป็นต้น. อาจารย์เหล่าอื่นให้สรณะ อาจารย์อื่นให้ตั้งอยู่ในศีล อาจารย์อื่นให้บรรพชา อาจารย์อื่นให้เรียนพุทธพจน์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 108

อาจารย์อื่นให้อุปสมบท อาจารย์อื่นให้บรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นต้น. ดังนั้น อาจารย์เหล่านั้นแม้ทั้งหมด จึงชื่อว่าเป็นปัจฉาจารย์ ส่วนมารดาบิดาเป็นอาจารย์ก่อนกว่าทุกอาจารย์ (บุรพาจารย์) ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุจฺจเร แปลว่า เรียก คือ กล่าว.

บทว่า อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ความว่า ย่อมควรได้รับข้าวน้ำเป็นต้น ที่บุตรจัดมาเพื่อบูชา เพื่อต้อนรับ คือ เป็นผู้เหมาะสมเพื่อจะรับข้าวและน้ำเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ดังนี้. บทว่า ปชาย อนุกมฺปกา ความว่า มารดาบิดาย่อมฟูมฟักรักษาบุตรของตน แม้โดยการฆ่าชีวิตของสัตว์เหล่าอื่น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปชาย อนุกมฺปกา ดังนี้. บทว่า นมสฺเสยฺย แปลว่า ทำความนอบน้อม. บทว่า สกฺกเรยฺย ความว่า พึงนับถือโดยสักการะ.

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงสักการะนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อนฺเนน ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺเนน ได้แก่ ข้าวยาคู ภัตร และของควรเคี้ยว. บทว่า ปาเนน ได้แก่ ปานะ ๘ อย่าง. บทว่า วตฺเถน ได้แก่ ผ้าสำหรับนุ่ง และผ้าสำหรับห่ม. บทว่า สยเนน ได้แก่ เครื่องรองรับ คือ เตียงและตั่ง. บทว่า อุจฺฉาทเนน ได้แก่ เครื่องลูบไล้สำหรับกำจัดกลิ่นเหม็น ทำให้มีกลิ่นหอม. บทว่า นหาปเนน ความว่า ด้วยการให้อาบรดตัวด้วยน้ำอุ่นในหน้าหนาว ด้วยน้ำเย็นในหน้าร้อน. บทว่า ปาทานํ โธวเนน ความว่า ด้วยการให้ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นและน้ำเย็น และด้วยการทาด้วยน้ำมัน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 109

บทว่า เปจฺจ คือ ไปสู่ปรโลก. บทว่า สคฺเค ปโมทติ ความว่า ก่อนอื่นในโลกนี้ มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิต เห็นการปรนนิบัติในมารดาบิดา (ของเขา) แล้ว ก็สรรเสริญเขาในโลกนี้แหละ. เพราะมีการปรนนิบัติเป็นเหตุ. ก็บุคคลผู้บำรุงมารดาบิดานั้น ไปสู่ปรโลกแล้ว สถิตอยู่ในสวรรค์ ย่อมร่าเริงบันเทิงใจ ด้วยทิพย์สมบัติดังนี้.

จบอรรถกถาพรหมสูตรที่ ๑