พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. คูถภาณีสูตร ว่าด้วยผู้พูด ๓ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38649
อ่าน  290

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 91

ปฐมปัณณาสก์

ปุคคลวรรคที่ ๓

๘. คูถภาณีสูตร

ว่าด้วยผู้พูด ๓ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 91

๘. คูถภาณีสูตร

ว่าด้วยผู้พูด ๓ จำพวก

[๔๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร คือ คูถภาณี (คนพูดเหม็น) ปุปผภาณี (คนพูดหอม) มธุภาณี (คนพูดหวาน)

บุคคลคูถภาณีเป็นอย่างไร บุคคลลางคนในโลกนี้ เข้าสภาก็ดี เข้าชุมนุมชนก็ดี เข้าหมู่ญาติก็ดี เข้าหมู่ข้าราชการก็ดี เข้าหมู่เจ้าก็ดี ถูกนำตัวไปซักถามเป็นพยานว่า "มา บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อันใดจงบอกอันนั้น" บุคคลนั้นไม่รู้ กล่าวว่ารู้บ้าง รู้กล่าวว่าไม่รู้บ้าง ไม่เห็นกล่าวว่าเห็นบ้าง เห็นกล่าวว่าไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเห็นแก่ตนบ้าง เพราะเห็นแก่คนอื่นบ้าง เพราะเห็นแก่ลาภผลเล็กน้อยบ้าง ดังนี้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า บุคคลคูถภาณี

ก็บุคคลปุปผภาณีเป็นอย่างไร บุคคลลางคนในโลกนี้ เข้าสภาก็ดี ฯลฯ ถูกนำตัวไปซักถามเป็นพยาน ฯลฯ บุคคลนั้นไม่รู้ ก็กล่าวว่าไม่รู้ รู้ก็กล่าว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 92

ว่ารู้ ไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เห็นก็กล่าวว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเห็นแก่ตนบ้าง ฯลฯ ดังนี้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า บุคคลปุปผภาณี

ก็บุคคลมธุภาณีเป็นอย่างไร บุคคลลางตนในโลกนี้ เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นจากวาจาหยาบแล้ว วาจาใดไม่มีโทษ สบายหู น่าดูดดื่มจับใจ เป็นคำชาวเมือง เป็นที่ใคร่ ... ที่พอใจแห่งชนมาก เป็นผู้กล่าววาจาอย่างนั้น นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า บุคคลมธุภาณี

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ มีอยู่ในโลก.

จบคูถภาณีสูตรที่ ๘

อรรถกถาคูถภาณีสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในคูถภาณีสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บุคคลใด กล่าวถ้อยคำส่งกลิ่นเหม็นเหมือนคูถ บุคคลนั้นชื่อว่า คูถภาณี. บุคคลใดกล่าวถ้อยคำส่งกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ บุคคลนั้นชื่อว่า ปุปผภาณี. บุคคลใดกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานเหมือนน้ำผึ้ง บุคคลนั้นชื่อว่า มธุภาณี.

บทว่า สภาคโต คือ อยู่ในสภา. บทว่า ปริสคโต คือ อยู่ในหมู่ชาวบ้าน. บทว่า าติมชฺฌคโต คือ อยู่ในท่ามกลางทายาททั้งหลาย. บทว่า ปูคมชฺฌคโต คือ อยู่ในท่ามกลางเสนาทั้งหลาย. บทว่า ราชกุลมชฺฌคโต คือ อยู่ในท่ามกลางราชตระกูล คือ ในท้องพระโรง สำหรับวินิจฉัยของหลวง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 93

บทว่า อภินีโต คือ ถูกนำไปเพื่อต้องการจะซักถาม. บทว่า สกฺขิปุฏฺโ คือ ถูกเขาอ้างให้เป็นพยานแล้วซัก. บทว่า เอวํ โภ ปุริส นี้ เป็นอาลปนะ. บทว่า อตฺตเหตุ วา ปรเหตุ วา ได้แก่ เพราะเหตุแห่งอวัยวะ มีมือละเท้าเป็นต้นของตนหรือของบุคคลอื่น. ลาภ ท่านประสงค์เอาว่า อามิส ในบทว่า อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ วา นี้. บทว่า กิญฺจิกฺขํ ได้แก่ สิ่งของนิดๆ หน่อยๆ คือ ของเล็กน้อย อธิบายว่า เหตุแห่งอามิส โดยที่สุดแม้เพียงนกกระทา นกคุ่ม ก้อนเนยใส และก้อนเนยข้น เป็นต้น. บทว่า สมุปชานมุสา ภาสิตา โหติ ความว่า กล่าวมุสาวาททั้งที่รู้ๆ.

โทษเรียกว่า เอละ ในบทว่า เนลา. วาจา ชื่อว่า เนลา เพราะหมายความว่าไม่มีโทษ อธิบายว่า หมดโทษ. วาจาไม่มีโทษเหมือนศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคาถานี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท.

วาจา ชื่อว่า กัณณสุขา ได้แก่ วาจาที่สบายหู เพราะมีพยัญชนะไพเราะ. วาจานั้น ไม่ให้เกิดการเสียดแทงหูเหมือนใช้เข็มแทงฉะนั้น.

วาจา ชื่อว่า เปมนียา เพราะหมายความว่า ให้เกิดความรัก ไม่ให้เกิดความโกรธทั่วทั้งร่างกาย เพราะมีอรรถไพเราะฉะนั้น.

วาจา ชื่อว่า หทยังคมา เพราะหมายความว่า ถึงใจ คือ ไม่กระทบกระทั่ง เข้าไปสู่จิตโดยสะดวก

วาจา ชื่อว่า โปรี เพราะหมายความว่า มีในเมือง เพราะบริบูรณ์ด้วยคุณ. อนึ่ง วาจาชื่อว่า โปรี เพราะหมายความว่า ละเอียดอ่อนดี เหมือนนารีที่เจริญเติบโตในเมืองฉะนั้น. อนึ่ง วาจาชื่อว่า โปรี เพราะหมายความว่าเป็นวาจาของชาวเมือง อธิบายว่า เป็นวาจาของคนที่อยู่ในเมือง. จริงอยู่ ชาวเมืองย่อมมีถ้อยคำเหมาะสม คือ เรียกคนวัยปูนพ่อว่า คุณพ่อ เรียกคนวัยปูนพี่ชายหรือน้องชายว่า พี่ชาย น้องชาย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 94

ด้วยว่า ถ้อยคำชนิดนี้ ชื่อว่า พหุชนกันตา เพราะหมายความว่า เป็นวาจาที่ชนเป็นอันมากรักใคร่.

วาจา ชื่อว่า พหุชนมนาปา เพราะหมายความว่า เป็นที่ชอบใจ คือ ทำความเจริญใจให้แก่ชนเป็นอันมาก เพราะเป็นวาจาที่ชนเป็นอันมากรักใคร่นั่นเอง.

จบอรรถกถาคูถภาณีสูตรที่ ๘