พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สวิฏฐสูตร ว่าด้วยบุคคล ๓ พวก ที่พยากรณ์ยาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38642
อ่าน  311

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 66

ปฐมปัณณาสก์

ปุคคลวรรคที่ ๓

๑. สวิฏฐสูตร

ว่าด้วยบุคคล ๓ พวก ที่พยากรณ์ยาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 66

ปุคคลวรรคที่ ๓

๑. สวิฏฐสูตร

ว่าด้วยบุคคล ๓ พวกที่พยากรณ์ยาก

[๔๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกะ ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านสวิฏฐะ และท่านมหาโกฏฐิตะ เข้าไปหาท่านสารีบุตร ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ก็ชื่นชมกับท่านสารีบุตร กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความยินดีต่อกัน เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ท่านสารีบุตรได้กล่าวคำนี้กะท่านสวิฏฐะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้วว่า อาวุโส สวิฏฐะ บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร? คือ กายสักขิ ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุตตะ นี้แล อาวุโส บุคคล ๓ จำพวกมีอยู่ในโลก บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลไหนชอบใจท่านว่า ดีกว่าและประณีตกว่า.

ท่านสวิฏฐะตอบว่า อาวุโส สารีบุตร บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ฯลฯ บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลผู้สัทธาวิมุตตะ ชอบใจข้าพเจ้าว่า ดีกว่าประณีตกว่า นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะสัทธินทรีย์ของบุคคลนี้มีประมาณยิ่ง.

ลำดับนั้น ท่านสารีบุตรถามท่านมหาโกฏฐิตะว่า อาวุโส โกฏฐิตะ บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ฯลฯ บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลไหนชอบใจท่านว่า ดีกว่าประณีตกว่า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 67

ท่านมหาโกฏฐิตะตอบว่า อาวุโส สารีบุตร บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ฯลฯ บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลผู้กายสักขิชอบใจข้าพเจ้าว่า ดีกว่าประณีตกว่า นั่นเพราะอะไร เพราะสมาธินทรีย์ของบุคคลนี้มีประมาณยิ่ง.

คราวนี้ท่านมหาโกฏฐิตะถามท่านสารีบุตรว่า อาวุโส สารีบุตร บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ฯลฯ บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลไหนชอบใจท่านว่า ดีกว่าประณีตกว่า.

ท่านสารีบุตรตอบว่า อาวุโส โกฏฐิตะ บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ฯลฯ บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะชอบใจข้าพเจ้าว่า ดีกว่าประณีตกว่า นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะปัญญินทรีย์ของบุคคลนี้มีประมาณยิ่ง.

ครั้นแล้วท่านสารีบุตรได้กล่าวกะท่านสวิฏฐะและท่านมหาโกฏฐิตะว่า เราทุกรูปได้แก้ปัญหาตามปฏิภาณของตนแล้ว มาเถิด อาวุโส เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเล่าความอันนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงพยากรณ์แก่เราอย่างใด เราจักทรงจำพระพุทธพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น ท่านสวิฏฐะและท่านมหาโกฏฐิตะรับคำท่านสารีบุตรแล้ว ท่านสารีบุตร ท่านสวิฏฐะ และท่านมหาโกฏฐิตะ ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ท่านสารีบุตรผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลเล่าถ้อยคำที่ปราศรัยกับท่านสวิฏฐะและท่านมหาโกฏฐิตะทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 68

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ในเรื่องนี้ ไม่ง่ายเลย สารีบุตร ที่จะพยากรณ์โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลผู้นี้ดีกว่าประณีตกว่า เพราะว่านี่เป็นฐานะมีอยู่ สารีบุตร คือว่า บุคคลผู้สัทธาวิมุตตะ พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหัตผล (๑) บุคคลผู้กายสักขิ พึงเป็นพระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง แม้บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ ก็พึงเป็นพระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง

ในเรื่องนี้ ไม่ง่ายเลย สารีบุตร ที่จะพยากรณ์โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลผู้นี้ดีกว่าประณีตกว่า เพราะว่านี่เป็นฐานะมีอยู่ สารีบุตร คือว่า บุคคลผู้กายสักขิ พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหัตผล บุคคลผู้สัทธาวิมุตตะ พึงเป็นพระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง แม้บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ ก็พึงเป็นพระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง

ในเรื่องนี้ ไม่ง่ายเลย สารีบุตร ที่จะพยากรณ์โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ นี้ บุคคลผู้นี้ดีกว่าประณีตกว่า เพราะว่านี่เป็นฐานะมีอยู่ สารีบุตร คือว่า บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหัตผล บุคคลผู้สัทธาวิมุตตะ พึงเป็นพระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง แม้บุคคลผู้กายสักขิ ก็พึงเป็นพระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง

ในเรื่องนี้ ไม่ง่ายเลย สารีบุตร ที่จะพยากรณ์โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ บุคคลผู้นี้ดีกว่าประณีตกว่า.

จบสวิฏฐสูตรที่ ๓


(๑) หมายความว่า ตั้งอยู่ในพระอรหัตมรรคแล้ว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 69

ปุคคลวรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถา สวิฏฐสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสวิฎฐสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

พระอริยบุคคล ชื่อว่า กายสกฺขี (๑) เพราะสัมผัสฌานผัสสะมาก่อน ภายหลังจึงกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ คือ พระนิพพาน.

ชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ เพราะบรรลุธรรมนั้นที่ตนเห็นแล้ว.

ชื่อว่า สัทธาวิมุตตะ เพราะเชื่ออยู่ (มีศรัทธา) จึงได้หลุดพ้น.

บทว่า ขมติ แปลว่า ชอบใจ. บทว่า อภิกฺกนฺตตโร (๒) แปลว่า ดียิ่งกว่า. บทว่า ปณีตตโร แปลว่า ประณีตยิ่งกว่า.

บทว่า สทฺธินทริยํ อธิมตฺตํ โหติ ความว่า พระสวิฏฐเถระ ในขณะแห่งอรหัตมรรค ได้มีสัทธินทรีย์เป็นธุระ (เป็นใหญ่) อินทรีย์ ๔ ที่เหลือเป็นบริวาร. ดังนั้น พระเถระเมื่อจะกล่าวถึงมรรคที่ตนได้บรรลุแล้ว จึงได้กล่าวอย่างนี้. (ส่วน) ท่านมหาโกฏฐิตเถระ ในขณะแห่งอรหัตมรรค ได้มีสมาธินทรีย์เป็นธุระ (เป็นใหญ่) อินทรีย์ ๔ อย่างที่เหลือได้เป็นบริวารของสมาธินั่นเอง. เพราะฉะนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตเถระแม้นั้นเมื่อจะบอกว่า สมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง (เป็นใหญ่) จึงได้กล่าวถึงมรรคที่ตนได้บรรลุนั่นแหละ. ส่วนพระสารีบุตรเถระ ในขณะแห่งอรหัตมรรค ได้มีปัญญินทรีย์เป็นธุระ (เป็นใหญ่) อินทรีย์ ๔ อย่างที่เหลือได้เป็นบริวารของปัญญินทรีย์นั้นนั่นเอง. เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระแม้นั้นเมื่อจะ


(๑) พระสูตรเป็น กายสกฺขิ

(๒) ปาฐะว่า สุนฺทรตโร ฉบับพม่าเป็น อติสุนฺทรตโร แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 70

บอกว่า ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง (เป็นใหญ่) จึงได้บอกมรรคที่ตนได้บรรลุแล้วนั่นแหละ.

บทว่า น เขฺวตฺถ ตัดบทเป็น น โข เอตฺถ. บทว่า เอกํเสน พฺยากาตุํ ความว่า เพื่อพยากรณ์โดยส่วนเดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความพร้อมเพรียงแห่งอรหัตมรรคด้วยบทว่า อรหตฺตาย ปฏิปนฺโน. ในพระสูตรนี้ พระเถระแม้ทั้ง ๓ ได้กล่าวเฉพาะมรรคที่ตนได้บรรลุแล้ว ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้. แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส โดยผู้ดำรงอยู่ในภูมิธรรมอื่น.

จบอรรถกถาสวิฎฐสูตรที่ ๑