พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๔ ประวัติพระปฏาจาราเถรี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38385
อ่าน  656

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 24

อรรถกถาสูตรที่ ๔

ประวัติพระปฏาจาราเถรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 24

อรรถกถาสูตรที่ ๔

๔. ประวัติพระปฏาจาราเถรี

ในสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า วินยธรานํ ยทิทํ ปฏาจารา ท่านแสดงว่า พระปฏาจาราเถรีเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงวินัย.

ดังได้สดับมา พระเถรีนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว กรุงหังสวดี ต่อมา กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงวินัย ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นพระธิดาพระองค์หนึ่งระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างบริเวณถวายภิกษุสงฆ์ บังเกิดในเทวโลกอีก เสวยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในครอบครัวเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

ต่อมา นางเจริญวัยได้ทำการลักลอบกับลูกจ้างคนหนึ่งในบ้าน ภายหลังกำลังจะมีสามีที่มีชาติเสมอกัน จึงได้ทำการนัดหมายกับบุรุษที่ลักลอบกันนั้นว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไป เจ้าจักไม่ได้เห็นเรา แม้จะประหารสัก ๑๐๐ ครั้ง ถ้าเจ้ายังรักเรา ก็จงพาเราไปเสียเดี๋ยวนี้. บุรุษผู้นั้นรับคำว่า ตกลง แล้วก็ถือเอาสิ่งของมีค่าติดมือไปพอสมควร พานางออกไป ๓ - ๔ โยชน์จากพระนคร อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 25

ภายหลังนางตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์แก่จึงกล่าวว่า ที่นี้ไม่สมควรแก่เรา ฉันจะไปเรือนสกุลนะนาย. เขาก็ผัดว่า วันนี้จะไป พรุ่งนี้ค่อยไป แต่ก็ไม่ได้ไปจนล่วงเวลาไป. นางรู้เหตุของสามีนั้น คิดว่า สามีนี้เขลาจึงไม่พาเราไป เมื่อสามีนั้นออกไปนอกบ้าน จึงเดินไปลำพังคนเดียว ด้วยหมายใจจะกลับไปยังครอบครัว. สามีกลับมาไม่เห็นนางในเรือน จึงถามคนที่คุ้นเคยกัน รู้ว่านางกลับไปยังครอบครัวก็คิดว่า นางเป็นธิดาของสกุล อาศัยแต่เราไม่มีที่พึ่งเลย จึงเดินตามรอยเท้าจนทันกัน นางก็คลอดบุตรเสียในระหว่างทางนั่นเอง. สองสามีภริยาปรึกษากันว่า ประโยชน์ที่เราจะพึงเดินทางไปก็สำเร็จแล้วในระหว่างทาง เดี๋ยวนี้เราจักไปทำไมเล่า จึงพากันกลับ. นางก็ตั้งครรภ์อีก. พึงทำเรื่องให้พิสดารตามนัยก่อนนั้นแล. แต่ในระหว่างทาง พอนางคลอดบุตร เมฆฝนก็ตั้งเค้ามาทั้ง ๔ ทิศ. นางจึงกล่าวกะสามีว่า นาย ไม่ใช่เวลาแล้ว เมฆฝนตั้งเค้ามาทั้ง ๔ ทิศ จงพยายามทำที่อยู่สำหรับตัวเราเถิด. สามีรับคำว่า จักทำเดี๋ยวนี้ เอาท่อนไม้มาทำกระท่อม คิดว่า จะหาหญ้ามามุงบัง จึงตัดหญ้าที่เชิงจอมปลวกใหญ่แห่งหนึ่ง. ทีนั้น งูเห่าที่นอนในจอมปลวกก็กัดเท้าเขา. บุรุษผู้นั้นก็ล้มลงที่นั้นนั่นเอง. แม้นางคิดว่าเดี๋ยวเขาคงมา. รอจนตลอดทั้งคืนก็คิดอีกว่า เขาคงจักคิดว่า เรานี้เป็นหญิงอนาถาพึ่งไม่ได้แล้ว ทอดทิ้งไว้ในทางหนีไปแล้ว ครั้นเกิดแสงสว่างแวบขึ้น จึงมองดูตามรอยเท้า เห็นสามีล้มลงที่เชิงจอมปลวกก็คร่ำครวญว่า เพราะเรา เขาจึงเสีย แล้วเอาลูกคนเล็กแนบข้าง เอานิ้วมือจูงลูกคนโต เดินไปตานทาง ระหว่างทางพบแม่น้ำตื้นๆ สายหนึ่ง คิดว่า เราไม่อาจพาลูกไปคราวเดียวกันได้ทั้ง ๒ คน จึงวางลูกคนโตไว้ฝั่งนี้ นำลูกคนเล็กไปฝั่งโน้น ให้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 26

นอนบนเบาะเก่าๆ ลงข้ามแม่น้ำ ด้วยหมายจะพาลูกคนนี้ไป. เวลาที่นางถึงกลางแม่น้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งก็มาโฉบเด็กไปด้วยสำคัญว่าเป็นก้อนเนื้อ. นางก็ยกมือไล่เหยี่ยว. ลูกคนโตเห็นนางทำมืออย่างนั้นสำคัญว่าแม่เรียก ก็ลงข้ามแม่น้ำ ตกไปในกระแสน้ำ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำ. เมื่อนางยังข้ามไม่ถึงนั่นเอง เหยี่ยวก็โฉบเอาลูกคนเล็กนั้นไป. นางเศร้าโศกเป็นกำลัง ในระหว่างทาง ก็เดินขับเพลงรำพัน ดังนี้ว่า

อุโภ ปุตฺตา กาลกตา

ปนฺเถ มยฺหํ ปตี มโต.

บุตรสองคนก็ตาย สามีเราก็ตายเสียที่หนทาง.

นางรำพันอย่างนี้ จนถึงกรุงสาวัตถี ไปหาคนที่ชอบพอกันของสกุล ก็กำหนดจำเรือนของตนไม่ได้ด้วยอำนาจความเศร้าโศก สอบถามว่า ที่ตรงนี้ มีสกุลชื่ออย่างนี้ เรือนอยู่ไหนเล่า. ผู้คนทั้งหลายกล่าวว่า เจ้าสอบถามถึงสกุลนั้นจักทำอะไร เรือนที่อยู่ของคนเหล่านั้นล้มแล้วเพราะลมกระหน่ำ คนเหล่านั้นในเรือนหลังนั้นเสียชีวิตหมด เขาเผาคนเหล่านั้นบนเชิงตะกอนอันเดียวกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ดูเสียสิ กลุ่มควันไฟยังปรากฏอยู่นั่น. นางฟังคำบอกเล่าแล้วก็พูดว่า พวกท่านพูดอะไร ก็ทรงผ้านุ่งของตนไว้ไม่ได้ ทำนองวันเกิดนั่นแหละ ประคองสองแขนร่ำไห้ เดินไปสถานที่เชิงตะกอนเผาเหล่าญาติ คร่ำครวญเพลงรำพันพิลาปจนครบคาถาว่า

อุโภ ปุตฺตา กาลกตา

ปนฺเถ มยฺหํ ปตี มโต

มาตา ปิตา จ ภาตา จ

เอกจิตฺตกสฺมึ ฑยฺหเร.

บุตรสองคนก็ตาย สามีเราก็ตายเสียที่หนทาง มารดาบิดาและพี่ชาย เขาก็เผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 27

ทั้งยังฉีกผ้าที่คนอื่นให้เสียอีก. ครั้งนั้น มหาชนก็เที่ยวห้อมล้อมนางในที่พบเห็นแล้ว. คนทั้งหลายจึงขนานชื่อนางว่า ปฏาจารา เพราะนางปฏาจารานี้เว้นการนุ่งผ้าเที่ยวไป. อนึ่ง เพราะเหตุที่ปรากฏว่า นางมีอาจาระที่ไม่มีความละอาย เพราะเป็นผู้เปลือยกาย ฉะนั้น คนทั้งหลายจึงขนานชื่อนางว่า ปฏาจารา. เพราะมีอาจาระอันตกไปแล้ว. วันหนึ่งเมื่อพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรมแก่มหาชน นางก็เข้าไปในพระวิหาร ยืนอยู่ท้ายบริษัท พระศาสดาทรงแผ่พระเมตตาตรัสว่า น้องหญิง จงกลับได้สติ น้องหญิง จงกลับได้สติเถิด. เพราะสดับพระพุทธดำรัส หิริโอตตัปปะมีกำลังก็กลับคืนมา. นางก็นั่งลงที่พื้นตรงนั้นนั่นเอง. ชายคนที่ยืนอยู่ไม่ไกลก็โยนผ้านุ่งไปให้. นางนุ่งผ้านั้นแล้วก็ฟังธรรม. เพราะจริยาของนาง พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาในพระธรรมบท ดังนี้ว่า

น สนฺติ ปุตฺตา ตาณาย

น ปิตา นปิ พนฺธวา

อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส

นตฺถิ ญาตีสุ ตาณตา.

ไม่มีบุตรจะช่วยได้ บิดาก็ไม่ได้ พวกพ้องก็ไม่ได้ เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำแล้ว หมู่ญาติก็ช่วยไม่ได้เลย.

เอตมตฺถวสํ ตฺวา

ปณฺฑิโต สีลสํวุโต

นิพฺพานคมนํ มคฺคํ

ขิปฺปเมว วิโสธเย.

บัณฑิตรู้ความจริงข้อนี้แล้ว สำรวมในศีล พึงรีบเร่งชำระทางไปพระนิพพานทีเดียว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 28

จบพระคาถา นางก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลทั้งที่ยืนอยู่ จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วทูลขอบวช. พระศาสดาทรงรับการบวชของนางว่า ไปสำนักภิกษุณีบวชเสีย. นางครั้นบวชแล้ว ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต เรียนพุทธวจนะ. ท่านเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในวินัยปิฎก ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระปฏาจาราเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้ทรงวินัย แล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๔