พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาสูตรที่ ๑๐ ประวัติพระวักกลิเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38354
อ่าน  374

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 389

อรรถกถาสูตรที่ ๑๐

ประวัติพระวักกลิเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 389

อรรถกถาสูตรที่ ๑๐

ประวัติพระวักกลิเถระ

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.

ด้วยบทว่า สทฺธาธิมุตฺตานํ ทรงแสดงว่า พระวักกลิเถระ เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา มีศรัทธาแรง จริงอยู่ ศรัทธาของคนอื่นๆ มี แต่ทำให้เจริญ ส่วนของพระเถระต้องลดลง เพราะฉะนั้น พระเถระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา. คำว่า วักกลิ เป็นชื่อของพระเถระนั้น. ในปัญหากรรมของพระเถระนั้น มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังต่อไปนี้ :-

ดังจะกล่าวโดยย่อ ในอดีตกาล ครั้งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระเถระนี้ ไปวิหารยืนฟังธรรมท้ายบริษัท โดยนัยที่กล่าวแล้ว นั่นแล. เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นเช่นนี้ ในอนาคตกาล จึงนิมนต์พระศาสดาโดยนัยที่กล่าวแล้ว นั่นแล ถวายมหาทาน ๗ วัน ถวายบังคมพระทศพลแล้ว กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยกุศลกรรมอันนี้ ขอข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคต เหมือนภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 390

พระศาสดาทรงเห็นว่า ท่านไม่มีอันตรายจึงทรงพยากรณ์แล้ว เสด็จกลับไป.

ฝ่ายท่านกระทำกุศลตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดา และมนุษย์ ถือเอาปฏิสนธิในตระกูลพราหมณ์กรุงสาวัตถี ครั้งพระศาสดาของเรา ญาติทั้งหลายได้ขนานนามของท่านว่า วักกลิ ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท เห็นพระทศพล มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จจาริกในกรุงสาวัตถี ตรวจดูสรีรสมบัติของพระศาสดา ไม่อิ่มด้วยการเห็นสรีรสมบัติ จึงเที่ยวไปพร้อมกับพระทศพลนั้นด้วย เสด็จไปวิหารก็ไปกับพระทศพล ยืนมองความสำเร็จแห่งพระสรีรสมบัติอยู่เทียว ยืนฟังธรรมในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระศาสดา ผู้ประทับนั่งตรัสธรรมในธรรมสภา ท่านได้ศรัทธาแล้วคิดว่า เราอยู่ครองเรือน ไม่ได้เห็นพระทศพลเป็นนิตย์ จึงทูลขอบรรพชา บวชแล้วในสำนักของพระศาสดา ตั้งแต่นั้น เว้นเวลากระทำอาหาร ในเวลาที่เหลือ ยืนอยู่ในที่ที่ยืนเห็นพระทศพล จึงละโยนิโสมนสิการเสีย อยู่ดูพระทศพลอย่างเดียว พระศาสดาทรงรอให้ญาณของท่านสุกเสียก่อน เมื่อท่านเที่ยวไปดูรูปในที่นั้นๆ เป็นเวลายาวนานก็ไม่ตรัสอะไร ทรงทราบว่า บัดนี้ญาณของท่านแก่กล้าแล้ว ท่านอาจตรัสรู้ได้ จึงตรัสอย่างนี้ว่า วักกลิ ท่านจะประโยชน์อะไร ด้วยมองรูปกายอันเปื่อยเน่านี้ ที่ท่านเห็น วักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม วักกลิ เห็นธรรมจึงจะชื่อว่าเห็นเรา. เมื่อพระศาสดาแม้ทรงโอวาทอยู่อย่างนี้ พระเถระก็ไม่อาจละการดูพระทศพลแล้ว ไปในที่อื่น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 391

แต่นั้นพระศาสดาทรงดำริว่า ภิกษุนี้ไม่ได้ความสังเวช จักไม่ตรัสรู้ เมื่อใกล้เข้าพรรษา ทรงประกาศขับไล่พระเถระนั้นว่า วักกลิจงหลีกไป ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงมีพระดำรัสที่พึงยึดถือ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงยืนโต้ตอบพระศาสดาไม่ได้ ไม่บังอาจมาเฉพาะพระพักตร์พระทศพล คิดว่า บัดนี้เราจะทำอย่างไรได้ เราถูกพระตถาคตประฌามเสียแล้ว เราก็ไม่ได้อยู่ต่อหน้าพระองค์ ประโยชน์อะไรด้วยชีวิตของเรา จึงขึ้นสู่ที่เขาขาด ที่เขาคิชฌกูฏ พระศาสดาทรงทราบว่า พระเถระนั้น มีความลำบาก ทรงดำริว่า ภิกษุนี้เมื่อไม่ได้ความปลอบใจจากเรา ก็จะพึงทำลายอุปนิสัยแห่งมรรคผลเสีย จึงทรงเปล่งรัศมีไปแสดงพระองค์ ครั้งนั้น ตั้งแต่พระวักกลินั้น เห็นพระศาสดาก็ละความโศกศัลย์อย่างใหญ่ ด้วยประการฉะนี้. พระศาสดาเพื่อจะให้พระวักกลิเถระ เกิดปีติโสมนัสแรงขึ้น เหมือนหลั่งกระแสน้ำลงในสระที่แห้ง จึงตรัสพระคาถาในพระธรรมบทว่า

ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน

อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารุปสมํ สุขนฺติ.

ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะพึงบรรลุบทอันสงบ ที่ระงับสังขารเป็นความสุข ดังนี้.

อนึ่ง พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ ประทานแก่ พระวักกลิเถระว่า มาเถิดวักกลิ. พระเถระบังเกิดปีติอย่างแรงว่า เราเห็นพระทศพลแล้ว ได้รับพระดำรัส ตรัสเรียกว่า มาเถิดวักกลิ ทั้งไม่รู้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 392

การไปของตนว่าจะไปทางไหน จึงโลดแล่นไปในอากาศ ต่อพระพักตร์พระทศพล แล้วทั้งเท้าแรกเหยียบบนภูเขา นึกถึงพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสแล้ว ข่มปีติในอากาศ นั่นเอง บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระตถาคต. ภายหลังพระศาสดาประทับนั่ง ท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๑๐

จบ วรรคที่ ๒