กรรมที่ต่างๆ กันของแต่ละบุคคล

 
chatchai.k
วันที่  16 ต.ค. 2564
หมายเลข  38280
อ่าน  137

เรื่องของกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา น่าพิจารณามาก เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิต


เรื่องของกิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ที่ทำกิจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากจุติจิตของชาติก่อน ซึ่งการที่แต่ละชีวิตจะมีการเกิดต่างกัน ไม่ใช่จะจำกัดแต่เฉพาะในมนุษยภูมิเท่านั้น แม้แต่ภูมิอื่นๆ เช่นเดรัจฉานภูมิ สัตว์เดรัจฉาน ก็จะเห็นความวิจิตรได้ ช้างก็อยู่อย่างช้าง มีอาหารของช้าง งูก็อยู่อย่างงู มีอาหารของงู นกก็อยู่อย่างนก ที่อยู่ก็ต่างกัน แม้แต่การเกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมแสดงความวิจิตรของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต่างกันตั้งแต่เกิดเรื่อยไปจนกระทั่งถึงจุติ แล้วก็ตลอดไปจนถึงชาติต่อๆ ไป

ในแต่ละขณะไม่สามารถจะย้อนกลับเป็นบุคคลแม้เมื่อวานนี้ หรือเมื่อวันก่อน หรือแม้ในชาติก่อน แสดงว่าทุกขณะเกิดขึ้นเพื่อที่จะไปเท่านั้น ไปสู่อารมณ์ต่างๆ โดยจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง

เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา น่าพิจารณามาก เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิต

กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งตามปกติเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักประเภทเดียวซึ่งจะขาดเจตนาเจตสิก

เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลก็เป็นกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบาก เป็นผลของกุศล ก็เป็นเจตนาที่เป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกุศลหรืออกุศลที่เป็นเหตุ เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่ทั้งวิบาก แต่ว่าเป็นเจตนาที่เป็นเพียงกิริยา

ถ้าดูข้อความในอรรถกถา จะมีคำว่า “กัมมสมาทาน” แปลโดยศัพท์ หมายความว่า การถือเอาซึ่งกรรม ทุกท่านเวลาที่จะทำกุศล มีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอาหรือที่จะกระทำแล้วซึ่งกุศลนั้นๆ ใช่ไหมคะ อย่างท่านที่ตั้งใจจะถวายทาน มีการถือเอาซึ่งกรรม คือ กระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะกระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะถือกรรมนั้น ต้องการจะเอาซึ่งกรรมนั้น ต้องการจะกระทำกรรมนั้นนั่นเอง หรือขณะที่จะกระทำอกุศลกรรมชนิดหนึ่งชนิดใด กัมมสมาทาน การถือเอาซึ่งกรรม ได้แก่ การตั้งใจยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏได้ใช่ไหมคะ ตั้งใจจะกระทำซึ่งกรรมใด ก็คือการถือเอาซึ่งกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ จงใจ ยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น

เพราะฉะนั้นกรรมของแต่ละท่านก็ต้องต่างกันไปตามกัมมสมาทาน การตั้งใจที่จะถือเอาซึ่งกรรมนั้นๆ บางท่านก็สนใจที่จะถอดเทป ท่านก็มีกัมมสมาทาน คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้น ตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้น กรรมนั้นบุคคลนั้นย่อมถือเอาแล้ว เพราะเหตุว่าสมาทาน คือ ถือเอาซึ่งกรรมนั้น

นี่ก็เป็นสำนวนที่แปลโดยศัพท์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วก็คือความจงใจ ความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะกระทำสิ่งใด บุคคลนั้นก็ย่อมถือเอาแล้วซึ่งกรรมนั้น หมายความว่าย่อมกระทำกรรมนั้นนั่นเอง นี่ก็คือกรรมที่ต่างๆ กันของแต่ละบุคคล

ที่มา ฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

กรรม ตอนที่ 01

เมตตา - กรรม

กิจของจิต กับ ความวิจิตรของกรรม

กรรมคือเจตนาเจตสิก


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ