ฝึกอบรมเจริญปัญญาอย่างไร

 
kchat
วันที่  27 พ.ค. 2550
หมายเลข  3812
อ่าน  1,241

ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จะค่อยๆ ฝึกอบรมเจริญปัญญาอย่างไร

อ. อบรมคืออะไรคะ..?

ผู้ฟัง การฟัง

อ. ฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่า

ผู้ฟัง พอเข้าใจ

อ. เข้าใจพอแล้วหรือยัง ... ?

ผู้ฟัง ยังค่ะ

อ. ฟังต่อไปอีกจนกว่าจะเข้าใจ เข้าใจขึ้นอีกค่ะ ไม่รู้จบ

ผู้ฟัง คือ “การเห็น” รู้ว่าเห็น

อ. ใครรู้

ผู้ฟัง คือ จิตรู้ว่าเห็นค่ะ ขณะที่เห็น

อ. แล้วมีไหมคะ ไม่รู้ว่าเห็น

ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

อ. ก็ธรรมดา

ผู้ฟัง แต่ทีนี้ระลึกถึงสภาพธรรมไม่ได้

อ. ไม่ใช่ให้ระลึกนะคะ แต่ให้เข้าใจค่ะ อยู่ดีๆ ไปเอาคำว่าระลึก มาแทนคำว่าเข้าใจได้อย่างไร ระลึกมีประโยชน์อะไรถ้าไม่เข้าใจ ไประลึกอะไร เมื่อไม่เข้าใจเลย แล้วไประลึกทำไม เมื่อไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปสนใจเรื่องระลึก แต่สนใจเรื่องเข้าใจ พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงธรรม เพื่อให้คนฟังเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อไม่เข้าใจ เข้าใจตั้งแต่ต้น จนกระทั่งสามารถเข้าใจความจริง ที่ประจักษ์โดยการเกิดขึ้นและดับไปโดยสภาพธรรมนั้นปรากฏให้เห็นกับปัญญา ที่ได้อบรมแล้ว ตามความเป็นจริง แต่ต้องเป็นความเข้าใจตั้งแต่ต้น ทิ้งความ เข้าใจไม่ได้เลย ถ้าศึกษาไป ฟังไป เข้าใจแล้ว กลายเป็นไม่เข้าใจหมด นั่นคือไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ ฟังอีกเพื่อเข้าใจอีกๆ ไม่ใช่ฟังอีก เข้าใจอีก แล้วกลายเป็นไม่เข้าใจหมดเลย ที่ฟังมาเมื่ออาทิตย์ก่อน เข้าใจหรือว่าหายไปหมดแล้ว ... ?

ผู้ฟัง ไม่หายค่ะ

อ. ถ้าไม่หาย ก็หมายความว่า ฟังต่อไป ไม่ใช่ทำค่ะ ทุกครั้ง จะได้ยินคำว่า “เข้าใจ” ไม่ใช่ทำ แล้วเมื่อไหร่จะเลิกคิด เรื่องทำ

ผู้ฟัง เรื่องทำนี้ ไม่ได้คิดแล้วค่ะ

อ. เมื่อกี้นี้ ถามว่าทำยังไง ไม่ใช่ให้ตั้งคำถามให้ถูก ไม่เข้าใจอะไร

ผู้ฟัง คือลักษณะของการเห็น จะไม่เข้าใจลักษณะของการเห็น

อ. เพราะอะไรจึงไม่เข้าใจ ... ?

ผู้ฟัง เพราะปัญญาไม่พอ

อ. นี่ก็เป็นคำตอบอยู่แล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประจักษ์ความจริง ของเห็นหรือเปล่า ... ? เห็น เพราะปัญญาพอที่จะประจักษ์ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ ประจักษ์ จะสามารถพอที่จะประจักษ์ได้ไหม ในเมื่อไม่สามารถ ที่จะเข้าใจได้

ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

อ. แล้วต้องการอะไรล่ะคะ ต้องการประจักษ์ หรือว่าค่อยๆ เข้าใจ เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำถามว่า “ทำ”

ผู้ฟัง คือ การที่ว่าจะรู้ชัดในการกระทบ พอที่จะเข้าใจ

อ. รู้ชัดคืออะไร?

ผู้ฟัง รู้ชัดว่ากระทบค่ะ

อ. ไม่ใช่ค่ะ “ รู้ชัดคือปัญญา ”

ผู้ฟัง รู้คือปัญญา แล้วสิ่งที่ไปกระทบ ขณะที่กระทบจิตคือสภาพที่รู้ ขณะที่กระทบ สั้นๆ

อ. รู้ได้อย่างไรว่าสั้น

ผู้ฟัง รู้ว่ากระทบแข็งน่ะค่ะ แล้วก็ดับไป

อ. รู้ว่าดับไปได้ยังไง

ผู้ฟัง คือช่วงสั้นๆ

อ. นั่นซีคะ แล้วรู้ได้อย่างไรว่าขณะนั้นดับ

ผู้ฟัง รู้แต่ว่าแข็งเท่านั้นเองค่ะ แต่ไม่รู้ว่าดับ

อ. เพราะฉะนั้น ก็เปลี่ยนแล้วจากเมื่อกี้นี้ดับ เป็นไม่รู้ว่าดับ

ผู้ฟัง ก็เป็นอันว่าไม่ถูกเลยนะคะ

อ. ไม่รู้มานานเท่าไหร่ในสังสารวัฏฏ์ แล้วจะรู้จนกระทั่ง ประจักษ์การเกิดดับเมื่อไร คะ ... ?

ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เป็นการละความไม่รู้

อ. ชาตินี้หรือเปล่าคะ ชาตินี้ อาจจะเป็นเย็นนี้ก็ได้ค่ะ

จาก การสนทนา ... โกสลสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๘๒

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๐


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 30 พ.ค. 2550

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 185

ย่อมพิจารณาความของธรรมทั้งหลาย ที่ทรงจำไว้ ธรรมทั้งหลายย่อมทนการเพ่งพินิจของเธอ ผู้พิจารณา ความอยู่เมื่อธรรมทนการเพ่งพินิจอยู่ ฉันทะย่อมเกิด เกิดฉันทะแล้ว ก็อุตสาหะ เมื่ออุตสาหะ ดีใช้ดุลยพินิจ เมื่อใช้ดุลยพินิจ ก็ตั้งความเพียร เมื่อตั้งความเพียร ย่อมทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะ ด้วยกาย [นามกาย] และย่อมเห็นทะลุปรุโปร่ง ด้วยปัญญา ดังนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 14 พ.ย. 2565

ด้วยความยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ