พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปุตตมังสสูตร ว่าด้วยอาหาร ๔ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36546
อ่าน  531

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 304

๓. ปุตตมังสสูตร

ว่าด้วยอาหาร ๔ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 304

๓. ปุตตมังสสูตร

ว่าด้วยอาหาร ๔ อย่าง

[๒๔๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างนั้นคือ ๑. กวฬีการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร ๔. วิญญาณาหาร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.

[๒๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กวฬีการาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามีสองคน ถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยๆ น่ารัก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 305

น่าพอใจอยู่คนหนึ่ง เมื่อขณะที่คนทั้งสองกำลังเดินไปในทางกันดาร เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้ ครั้งนั้น เขาทั้งสองคนคิดตกลงกันอย่างนี้ว่า เสบียงเดินทางของเราทั้งสองอันใดแล มีอยู่เล็กน้อย เสบียงเดินทางอันนั้นก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ทางกันดารนี้ก็เหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่.

ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจนั้นเสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตรพลาง ค่อนอกพลางรำพันว่า ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ดังนี้ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นอย่างไร คือว่าเขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนอง หรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดาร่างกายใช่ไหม ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า จึงตรัสต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม ใช่ พระเจ้าข้า.

พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็นกวฬีการาหารว่า [เปรียบด้วยเนื้อบุตร] ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬีการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ เมื่ออริยสาวก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 306

กำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีก ก็ไม่มี.

[๒๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ก็จะถูกพวกสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน ถ้ายืนอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน เป็นอันว่าแม่โคนมตัวนั้นที่ไร้หนังหุ้ม จะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป.

ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.

[๒๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เดินมา บุรุษสองคนมีกำลัง จับเขาที่แขนข้างละคนคร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ ก็จักต้องตายหรือถึงทุกข์แทบตาย.

ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 307

เหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.

[๒๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้วแสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยกันประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น.

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่าเมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอกร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัสซึ่งมีการ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 308

ประหารนั้น เป็นเหตุเท่านั้น มิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็พึงเสวยความทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ แต่จะกล่าวไปไยถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า ข้อนี้ฉันนั้น เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เมื่ออริยสาวกมากำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว.

จบปุตตมังสสูตรที่ ๓

อรรถกถาปุตตมังสสูตรที่ ๓

ในปุตตมังสสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

ในคำว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อาหารา เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

ก็เพราะสูตรนั้นตั้งขึ้นโดยอัตถุปปัตติ ฉะนั้น ครั้นข้าพเจ้าแสดงเรื่องนั้นแล้ว ในที่นี้จักแสดงการพรรณนาตามลำดับบท.

ถามว่าพระสูตรนี้ ตั้งขึ้นโดยอัตถุปปัตติอะไร.

ตอบว่า โดยเรื่องลาภและสักการะ.

ได้ยินว่า ลาภและสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เหมือนสมัยทรงสร้างสมพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญตลอด ๔ อสงไขย.

จริงอยู่ บารมีทั้งหมดของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นประหนึ่งประมวลมาว่า เราจักให้วิบากในอัตภาพหนึ่ง จึงยังห้วงน้ำใหญ่คือลาภและสักการะให้บังเกิดเหมือนเมฆใหญ่ตั้งขึ้นแล้วยังห้วงน้ำใหญ่ให้บังเกิดฉะนั้น. ชนทั้งหลายมีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้น ต่างถือข้าว น้ำ ยาน ผ้า ระเบียบดอกไม้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 309

ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นต้น มาจากที่นั้นๆ พากันคิดว่า พระพุทธเจ้าอยู่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ไหน พระผู้เป็นเทพแห่งเทพ ผู้องอาจกว่านระ ผู้เป็นบุรุษเยี่ยงราชสีห์อยู่ไหน ดังนี้แล้วจึงเสาะหาพระผู้มีพระภาคเจ้า. ชนเหล่านั้นนำปัจจัยมาตั้งหลายร้อยเล่มเกวียน เมื่อไม่ได้โอกาสจึงหยุดอยู่ เอาทูปเกวียนต่อกันกับทูปเกวียนวงเวียนรายรอบประมาณหนึ่งคาวุต เหมือนเรื่องอันธกวินทพราหมณ์ฉะนั้น.

เรื่องทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธกะและในพระสูตรนั้นๆ.

ลาภสักการะเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าฉันใด แม้แก่พระภิกษุสงฆ์ก็ฉันนั้น.

สมจริงตามคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัช บริขาร แม้พระสงฆ์แล ก็เป็นผู้อันชนสักการะ ฯลฯ เป็นผู้ได้ ฯลฯ บริขาร. เหมือนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จุนทะ บัดนี้สงฆ์หรือคณะ มีประมาณเท่าใดเกิดขึ้นในโลก จุนทะ เราไม่มองเห็นสงฆ์หมู่หนึ่งอื่นผู้ถึงความเป็นเลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ เหมือนอย่างภิกษุสงฆ์นี้เลย.

ลาภและสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า และแก่สงฆ์นี้นั้น รวมแล้วประมาณไม่ได้ เหมือนน้ำแห่งมหานทีทั้งสอง. ลำดับนั้น พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ลับ ทรงพระดำริว่า ลาภและสักการะใหญ่ได้เป็นของสมควรแม้แก่พระพุทธเจ้าในอดีต ทั้งจะสมควรแก่พระพุทธเจ้าในอนาคต ภิกษุทั้งหลายประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะอันกำหนดเอาอาหารเป็นอารมณ์ เป็นผู้วางตนเป็นกลาง ปราศจากฉันทราคะ ไม่มีความพอใจและความยินดี สามารถบริโภคหรือหนอ หรือจะไม่สามารถบริโภค.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 310

พระองค์ได้ทรงเห็นกุลบุตรบางพวกผู้บวชใหม่ ผู้ไม่พิจารณาแล้ว บริโภคอาหาร ครั้นพระองค์ทรงเห็นแล้วทรงพระดำริว่า เราบำเพ็ญบารมีสิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป จะได้บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปัจจัยจีวรเป็นต้นก็หาไม่ แต่ที่แท้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตอันเป็นผลสูงสุด. ภิกษุแม้เหล่านี้บวชในสำนักเรา มิได้บวชเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น แต่บวชเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตนั่นเอง. บัดนี้ภิกษุเหล่านั้นกระทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระนั่นว่าเป็นสาระ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั่นแลว่าเป็นประโยชน์. ธรรมสังเวชเกิดขึ้นแก่พระองค์ด้วยประการฉะนี้.

ลำดับนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า ถ้าจักสามารถบัญญัติปัญจมปาราชิกขึ้นได้ไซร้ เราก็จะพึงบัญญัติการบริโภคอาหารโดยไม่พิจารณาให้เป็นปัญจมปาราชิก แต่ไม่อาจทรงทำอย่างนี้ได้ เพราะว่าอาหารนั้นเป็นที่ส้องเสพประจำของสัตว์ทั้งหลาย แต่เมื่อเราตรัสไว้ ภิกษุเหล่านั้นก็จักเห็นข้อนั้นเหมือนปัญจมปาราชิก เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จักตั้งการบริโภคอาหารที่ไม่พิจารณานั้นว่าเป็นกระจกธรรม เป็นข้อสังวร เป็นขอบเขต ซึ่งเหล่าภิกษุในอนาคตรำลึกแล้ว จักพิจารณาปัจจัย ๔ เสียก่อน แล้วบริโภค.

ในอัตถุปปัตติเหตุนี้ ได้เพิ่มปุตตมังสูปมสุตตันตะดังต่อไปนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อาหารา เป็นต้น มีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

ก็ครั้นให้อาหาร ๔ พิสดารแล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงโทษในอาหาร ๔ เหล่านั้น จึงตรัสว่า กถญฺจ ภิกฺขเว กวฬีกาโร อาหาโร ทฏฺพฺโพ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชายปติกา ได้แก่ ภริยาและสามี.

บทว่า ปริตฺตํ สมฺพลํ ได้แก่ เสบียงมีข้าวห่อ ข้าวสัตตุและขนมเป็นต้น อย่างใด

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 311

อย่างหนึ่ง จำนวนน้อย.

บทว่า กนฺตารมคฺคํ ได้แก่ หนทางกันดารหรือหนทางคราวกันดาร.

บทว่า กนฺตารํ ได้แก่ กันดาร ๕ อย่าง คือ โจรกันดาร พาฬกันดาร อมนุสสกันดาร นิรุทกกันดาร อัปปภักขกันดาร.

บรรดากันดาร ๕ อย่างนั้น ที่ที่มีโจรภัย ชื่อว่าโจรกันดาร.

ที่ๆ มีสัตว์ร้าย มีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น ชื่อว่า พาฬกันดาร.

ที่ๆ มีภัยโดยอมนุษย์ มียักษิณี ชื่อว่า พลวามุข เป็นต้น ชื่อว่า อมนุสสกันดาร.

ที่ๆ ไม่มีน้ำดื่มหรืออาบ ชื่อว่า นิรุทกกันดาร.

ที่ที่ไม่มีสิ่งที่จะเคี้ยวหรือกิน โดยที่สุดแม้เพียงหัวเผือกเป็นต้นก็ไม่มี ชื่อว่า อัปปภักขกันดาร.

อนึ่ง ในที่ใดมีภัยทั้ง ๕ อย่างนี้อยู่ ที่นั้น ชื่อว่า กันดารโดยแท้.

กันดารทั้ง ๕ นี้นั้น พึงผ่านไปเสียโดย ๑ - ๒ - ๓ วันก็มี. ทางนั้นท่านไม่ประสงค์ในที่นี้ แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาทางกันดารประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ซึ่งไม่มีน้ำและมีอาหารน้อย ทางในคราวกันดารเห็นปานนี้ ชื่อว่า ทางกันดาร.

บทว่า ปฏิปชฺเชยฺยุํ ความว่า สองสามีภรรยาถูกฉาตกภัย โรคภัย และราชภัยเบียดเบียนพากันเดินไป สำคัญว่า เราจักผ่านกันดารอย่างหนึ่ง อยู่เป็นสุขในรัชสมัยที่ปราศจากอันตรายของพระราชาผู้ทรงธรรม.

บทว่า เอกปุตฺตโก ได้แก่ บุตรน้อยคนเดียว มีร่างกายผ่ายผอม ผู้ควรจะพึงเอ็นดูอุ้มไป.

บทว่า วลฺลูรญฺจ โสณฺฑิกญฺจ ความว่า เอาจากที่มีเนื้อเป็นก้อนๆ ทำเป็นเนื้อแห้ง เอาจากที่ติดกระดูกและติดศีรษะทำเป็นเนื้อย่อยๆ.

บทว่า ปฏิปิํเสยฺยุํ ได้แก่ พึงประหาร.

ศัพท์ว่า กหํ เอกปุตฺตก นี้ เป็นอาการแสดงความคร่ำครวญของสามีภรรยาคู่นั้น.

ก็ในข้อนี้มีการพรรณนาเนื้อความโดยย่อ ตั้งต้นแต่ทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง ดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 312

ได้ยินว่า สองสามีภรรยาอุ้มลูกเดินทางกันดารประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ด้วยเสบียงเล็กน้อย. เขาเดินทางไปได้ ๕๐ โยชน์ เสบียงหมด กระสับกระส่ายเพราะความหิว นั่งที่ร่มไม้อันงอกงาม. ลำดับนั้น สามีได้กล่าวกะภรรยาว่า ที่รัก จากนี้ไปโดยรอบ ๕๐ โยชน์ไม่มีบ้านหรือนิคม ฉะนั้น บัดนี้เราไม่สามารถจะกระทำกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นเป็นอันมากที่ผู้ชายจะพึงทำได้ มาเถิด เธอจงฆ่าเราแล้วกินเนื้อครึ่งหนึ่ง ทำเสบียงครึ่งหนึ่งแล้วจงข้ามทางกันดารไปพร้อมกับลูก. ฝ่ายภรรยากล่าวว่า พี่ บัดนี้ ฉันไม่สามารถจะทำกรรมมีการกรอด้ายเป็นต้น แม้มากที่ผู้หญิงจะพึงทำ มาเถิด พี่จงฆ่าฉัน กินเนื้อครึ่งหนึ่ง ทำเสบียงครึ่งหนึ่งแล้วจงข้ามทางกันดารไปพร้อมกับลูก. สามีกล่าวกะภรรยาอีกว่า ที่รัก ความตายย่อมปรากฏแก่คนสองคนเพราะแม่ตาย เพราะเด็กอ่อน เว้นแม่เสียแล้ว ก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเราทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะพึงได้ลูกอีก เอาเถอะ เราจะฆ่าลูกน้อยในบัดนี้ ถือเอาเนื้อกิน ข้ามผ่านทางกันดาร.

ลำดับนั้น แม่กล่าวกะลูกว่า ลูกรัก เจ้าจงไปหาพ่อ. ลูกก็ไปหาพ่อ. ครั้งนั้น พ่อของเด็กน้อย กล่าวว่า เราได้รับความทุกข์มิใช่น้อยเพราะกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นก็เพื่อจะเลี้ยงดูลูกน้อย เราไม่อาจฆ่าลูกได้ เธอนั่นแหละจงฆ่าลูกของเธอ แล้วกล่าวกะลูกน้อยว่า ลูกรัก เจ้าจงไปหาแม่. ลูกก็ไปหาแม่. ครั้งนั้น แม่ของเด็กน้อย กล่าวว่า เมื่อเราอยากได้ลูก เราได้รับความทุกข์มิใช่น้อย ด้วยการบวงสรวงเทวดา ด้วยโควัตรและกุกกุรวัตรเป็นต้นก่อน ไม่ต้องพูดถึงการบริหารครรภ์ ฉันไม่อาจฆ่าลูกได้ แล้วกล่าวกะลูกน้อยว่า ลูกรัก เจ้าจงไปหาพ่อเถิด. ลูกน้อยนั้นเมื่อเดินไปในระหว่างพ่อแม่นั่นแหละ ตายแล้วด้วยประการ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 313

ฉะนี้. สองสามีภรรยาเห็นดังนั้น คร่ำครวญ ถือเอาเนื้อลูกเคี้ยวกิน เดินทางไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว.

อาหารคือเนื้อลูกของสองสามีภรรยานั้น ไม่ใช่กินเพื่อจะเล่น ไม่ใช่กินเพื่อจะมัวเมา ไม่ใช่กินเพื่อประดับ ไม่ใช่กินเพื่อตกแต่ง เพราะปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการ เป็นอาหารเพื่อข้ามผ่านทางกันดารอย่างเดียวเท่านั้น.

หากจะถามว่า เพราะปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการ อะไรบ้าง.

พึงแก้ว่า เพราะเป็นเนื้อของผู้ร่วมชาติ ๑ เพราะเป็นเนื้อของญาติ ๑ เพราะเป็นเนื้อของบุตร ๑ เพราะเป็นเนื้อของบุตรที่รัก ๑ เพราะเป็นเนื้อเด็กอ่อน ๑ เพราะเป็นเนื้อดิบ ๑ เพราะไม่เป็นโครส ๑ เพราะไม่เค็ม ๑ เพราะยังไม่ได้ปิ้ง ๑.

จริงอยู่ สองสามีภรรยานั้นเคี้ยวกินเนื้อบุตรนั้น ซึ่งปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ จึงมิได้เคี้ยวกินด้วยความยินดีติดใจ แต่ตั้งอยู่ในภาวะกลางๆ นั่นเอง คือ ในการบริโภคโดยไม่มีความพอใจและยินดี มีใจแตกทำลาย เคี้ยวกินแล้ว เขาจะได้เอาเนื้อที่ติดกระดูกเอ็นและหนังออกแล้วเคี้ยวกินแต่เนื้อที่ล่ำๆ คือเนื้อที่ดีๆ เท่านั้นก็หาไม่ เคี้ยวกินเฉพาะเนื้อที่อยู่ตรงหน้า มิได้เคี้ยวกินตามที่ต้องการจนล้นคอหอย แต่เคี้ยวกินทีละน้อยๆ พอยังชีพให้เป็นไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น มิได้หวงกันและกัน เคี้ยวกิน เคี้ยวกินด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ มิได้เคี้ยวกินอย่างงมงายว่า พวกเราเคี้ยวกินเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเนื้อมฤคหรือเนื้อนกยูงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่เคี้ยวกินทั้งที่รู้ว่าเป็นเนื้อของลูกรัก มิได้เคี้ยวกินโดยปรารถนาว่า ไฉนหนอ เราพึงเคี้ยวกินเนื้อลูกเห็นปานนี้อีก แต่เคี้ยวกินโดยไม่ปรารถนา มิได้สั่งสมด้วยตั้งใจว่า เราเคี้ยวกินเพียงเท่านี้ในทางกันดาร

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 314

เมื่อพ้นทางกันดารแล้ว จักเอาเนื้อที่เหลือไปปรุงด้วยรสเค็มรสเปรี้ยวเป็นต้น เคี้ยวกิน แต่เมื่อล่วงกันดารไปแล้ว คิดว่า พวกชนในเมืองจะเห็น จึงฝังไว้ในดินหรือเอาไฟเผา มิได้ถือตัวหรือโอ้อวดว่า ใครอื่นจะได้เคี้ยวกินเนื้อบุตรเห็นปานนี้อย่างเรา แต่เคี้ยวกินโดยขจัดความถือตัวและโอ้อวดเสียได้ มิได้เคี้ยวกินอย่างดูหมิ่นว่า ประโยชน์อะไรด้วยเนื้อนี้ซึ่งไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว ยังไม่ได้ปิ้ง มีกลิ่นเหม็น แต่เคี้ยวกินโดยปราศจากความดูหมิ่น ไม่ดูหมิ่นกันและกันว่า ส่วนของท่าน ส่วนของเรา บุตรของท่าน บุตรของเรา แต่มีความพร้อมเพรียงบันเทิงเคี้ยวกิน.

พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นสองสามีภรรยาบริโภคโดยปราศจากฉันทราคะเห็นปานนั้นนี้ เมื่อจะทรงให้ภิกษุสงฆ์ทราบเหตุนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ตํ กิํ มญฺถ ภิกฺขเว อปิ นุ เต ทวาย วา อาหารํ อาหเรยฺยุํ ดังนี้.

ในพระบาลีนั้น คำเป็นต้นว่า ทวาย วา กล่าวไว้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแล.

บทว่า กนฺตารสฺส ได้แก่ กันดารนอกจากที่สองสามีภรรยาผ่านมา.

บทว่า เอวเมว โข ความว่า พึงเห็นอาหารเสมือนเนื้อลูกรัก ด้วยอำนาจความเป็นของปฏิกูล ๙ อย่าง.

ถามว่า ความเป็นของปฏิกูล ๙ อย่าง อะไรบ้าง ตอบว่า มีความเป็นของปฏิกูลในการไปเป็นต้น.

จริงอยู่ เมื่อพิจารณาความปฏิกูลโดยการไปก็ดี เมื่อพิจารณาความปฏิกูลโดยการแสวงหาก็ดี เมื่อพิจารณาความปฏิกูลโดยการบริโภค โดยที่ฝังไว้ โดยที่อาศัย โดยเป็นของสุก โดยเป็นของไม่สุก โดยเป็นของเปื้อน และโดยเป็นของไหลออกก็ดี ชื่อว่าย่อมกำหนดกวฬิงการาหาร.

ก็ความปฏิกูลโดยการไปเป็นต้นเหล่านี้นั้น กล่าวไว้พิสดารแล้วทั้งนั้นในอาหารปาฏิกุลย-

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 315

นิทเทสในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

พึงบริโภคอาหารเปรียบด้วยเนื้อลูกทีเดียว ด้วยอำนาจความปฏิกูล ๙ อย่างเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.

สองสามีภรรยานั้นเมื่อเคี้ยวกินเนื้อลูกรักซึ่งเป็นของปฏิกูล มิได้เคี้ยวกินด้วยความยินดีติดใจ แต่ตั้งอยู่ในภาวะกลางๆ นั่นเอง คือในการบริโภคโดยไม่มีความพอใจและยินดี เคี้ยวกินแล้ว ฉันใด พึงบริโภคอาหารโดยไม่มีความพอใจและยินดี ฉันนั้น.

เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้นจะได้เอาเนื้อที่ติดกระดูกเอ็นและหนังออก เคี้ยวกินแต่เนื้อที่ล่ำๆ คือเนื้อที่ดีๆ เท่านั้นก็หาไม่ แต่เคี้ยวกินเนื้อที่หยิบถึงเท่านั้น ฉันใด ภิกษุไม่พึงใช้หลังมือเขี่ยข้าวแห้งและกับข้าวแข็งเป็นต้นออก ไม่แสดงความเจาะจง ดุจนกกระจาบและดุจไก่มิได้เลือกเฉพาะโภชนะที่ดี ซึ่งผสมเนยใสและเนื้อเป็นต้นแต่ที่นั้นๆ บริโภค พึงบริโภคตามลำดับดุจราชสีห์ ฉันนั้น.

เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้น มิได้เคี้ยวกินตามที่ต้องการจนล้นคอหอย แต่เคี้ยวกินทีละน้อยๆ พอยังชีพให้เป็นไปในวันหนึ่งๆ เท่านั้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ไม่บริโภคตามที่ต้องการจนเรอ ดุจพวกพราหมณ์ที่มีอาหารอยู่ในมือเป็นต้นบางคน เว้นโอกาสสำหรับคำข้าว ๔ - ๕ คำไว้แล้วบริโภคดุจพระธรรมเสนาบดี.

เล่ากันว่า พระธรรมเสนาบดีเถระนั้นดำรง (ความเป็นภิกษุ) อยู่ ๔๕ พรรษา กล่าวว่า แม้วันหนึ่งเราก็มิได้ฉันอาหารจนสำรอกออกมาเป็นรสเปรี้ยวภายหลังฉันอาหาร ดังนี้ เมื่อบันลือสีหนาทได้กล่าวคาถานี้ว่า

ภิกษุงดฉันคำข้าว ๔ - ๕ คำ พึงดื่มน้ำ พอที่จะอยู่อย่างสบายสำหรับภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 316

เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้นจะได้หวงกันและกันเคี้ยวกินก็หาไม่ แต่เคี้ยวกินด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้วไม่ตระหนี่ คิดว่า เมื่อภิกษุรับบิณฑบาตนี้ได้ทั้งหมด เราก็จักให้ทั้งหมด เมื่อรับได้ครึ่งหนึ่ง เราจักให้ครึ่งหนึ่ง ถ้าจักมีบิณฑบาตเหลือจากที่ภิกษุรับไป เราจักบริโภคเอง ดังนี้ ตั้งอยู่ในสาราณียธรรมมั่นคงบริโภค.

เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้น มิได้เคี้ยวกินอย่างงมงายว่า พวกเราเคี้ยวกินเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเนื้อมฤคหรือเนื้อนกยูงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่เคี้ยวกินทั้งที่รู้ว่าเป็นเนื้อของลูกรัก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้ว ไม่พึงเกิดความงมงายเพราะเห็นแก่ตัวว่า เราจะเคี้ยวกิน จะบริโภค พึงคิดว่า กวฬิงการาหารย่อมไม่รู้ว่า เราทำกายที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ให้เจริญ แม้กายก็ไม่รู้ว่า กวฬิงการาหารทำเราให้เจริญ ดังนี้ พึงละความงมงายบริโภค ด้วยอาการอย่างนี้.

จริงอยู่ กวฬิงการาหารนี้ ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่งมงายบริโภคแม้ด้วยสติสัมปชัญญะ.

เหมือนอย่างว่า สองสามีภรรยานั้นไม่เคี้ยวกินด้วยตั้งความปรารถนาว่า ไฉนหนอ เราพึงเคี้ยวกินเนื้อลูกเห็นปานนี้แม้อีก แต่พอพ้นความปรารถนาไปแล้วก็เคี้ยวกัน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้โภชนะอันประณีตแล้ว คิดว่า ไฉนหนอ เราพึงได้โภชนะเห็นปานนี้ ในวันพรุ่งนี้ก็ดี ในวันต่อไปก็ดี ก็แลครั้นได้โภชนะที่เศร้าหมองก็คิดว่า วันนี้เราไม่ได้โภชนะอันประณีตเหมือนวันวาน มิได้ทำความปรารถนาหรือเศร้าใจ เป็นผู้ปราศจากความอยาก ระลึกถึงโอวาทนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 317

ชนทั้งหลายย่อมไม่เศร้าโศกถึงอาหารที่เป็นอดีต ย่อมไม่พะวงถึงอาหารที่เป็นอนาคต ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส.

พึงบริโภคด้วยคิดว่า จักยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น.

อนึ่ง สองสามีภรรยานั้น มิได้สั่งสมด้วยคิดว่า เราจักเคี้ยวกินเนื้อลูกเท่านี้ในทางกันดาร ล่วงทางกันดารไปแล้ว จักเอาเนื้อลูกส่วนที่เหลือไปปรุงด้วยรสเปรี้ยวเป็นต้นเคี้ยวกิน แต่เมื่อล่วงทางกันดารไปแล้ว คิดว่า พวกชนในเมืองนั้นจะเห็น จึงฝังไว้ในดิน หรือเอาไฟเผา ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ระลึกถึงโอวาทนี้ว่า ได้ข้าวหรือน้ำก็ตาม ของเคี้ยวหรือผ้าก็ตาม ไม่พึงสั่งสม เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่พึงสะดุ้ง ถือเอาพอยังอัตภาพให้เป็นไป จากปัจจัย ๔ ตามที่ได้นั้นๆ ส่วนที่เหลือแจกจ่ายแก่เพื่อนสพรหมจารี เว้นการสั่งสมบริโภค. อนึ่ง สองสามีภรรยานั้นมิได้ถือตัวหรือโอ้อวดว่า ใครอื่นจะได้เคี้ยวกินเนื้อบุตรเห็นปานนี้อย่างเรา แต่เคี้ยวกินโดยขจัดความถือตัวและโอ้อวดเสียได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้โภชนะอันประณีตแล้ว ไม่พึงถือตัวหรือโอ้อวดว่า เราได้จีวรและบิณฑบาตเป็นต้น พึงพิจารณาว่า การบวชนี้มิใช่เหตุแห่งจีวรเป็นต้น แต่การบวชนี้เป็นการบวชเพราะเหตุแห่งพระอรหัต แล้วพึงบริโภคโดยปราศจากความถือตัวและโอ้อวดทีเดียว.

อนึ่ง สองสามีภรรยานั้นมิได้เคี้ยวกินอย่างดูหมิ่นว่า ประโยชน์อะไรด้วยเนื้อที่ไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว ยังไม่ได้ปิ้ง มีกลิ่นเหม็น แต่เคี้ยวกินโดย

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 318

ปราศจากความดูหมิ่นฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้ว ไม่พึงดูหมิ่นบิณฑบาตว่า ประโยชน์อะไรด้วยภัตรที่เลวไม่มีรสชาติอย่างอาหารม้าอาหารโค จงเอามันไปใส่ในรางสุนัข หรือไม่ดูหมิ่นทายกอย่างนี้ว่า ใครจักบริโภคภัตรนี้ได้ จงให้แก่กาและสุนัขเป็นต้นเถิด ระลึกถึงโอวาทนี้ว่า

เขาอุ้มบาตรเที่ยวไป ไม่ใบ้ก็ทำเป็นใบ้ ไม่พึงดูหมิ่นทานที่น้อย ไม่พึงดูหมิ่นผู้ให้ ดังนี้

พึงบริโภค.

อนึ่ง สองสามีภรรยานั้น มิได้ดูหมิ่นกันและกันว่า ส่วนของท่าน ส่วนของเรา บุตรของท่าน บุตรของเรา แต่มีความพร้อมเพรียงบันเทิงเคี้ยวกินฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บิณฑบาตแล้ว ไม่พึงดูหมิ่นใครๆ อย่างที่ภิกษุบางพวกดูหมิ่นเพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลว่า ใครจักให้แก่คนอย่างพวกท่าน พวกท่านเป็นผู้ไม่มีเหตุ เที่ยวลื่นล้มที่ธรณีประตู แม้มารดาผู้บังเกิดเกล้าของท่าน ก็ไม่สำคัญของที่จะให้ แต่พวกเราย่อมได้จีวรเป็นต้นที่ประณีต ในที่ที่ไปแล้วๆ อย่างที่พระองค์หมายตรัสไว้ว่า ภิกษุนั้นดูหมิ่นภิกษุเหล่าอื่นผู้มีศีลเป็นที่รัก โดยลาภสักการะและสรรเสริญนั้น ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นย่อมมีแก่โมฆบุรุษนั้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดังนี้ พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงบันเทิงบริโภคกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งปวง.

บทว่า ปริญฺาเต ได้แก่ กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา.

กำหนดอย่างไร. คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า ชื่อว่า กวฬีการาหารนี้ เป็นรูปมีโอชาเป็นที่ ๘

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 319

(โอชัฏฐมกรูป) ด้วยอำนาจรูปที่มีวัตถุ. โอชัฏฐมกรูปถูกกระทบในที่ไหน. กระทบที่ชิวหาประสาท. ชิวหาประสาทอาศัยอะไร. อาศัยมหาภูตรูป ๔. รูปมีโอชาเป็นที่ ๘ ชิวหาประสาท มหาภูตรูป อันเป็นปัจจัยแห่งชิวหาประสาทนั้น ธรรมเหล่านี้ ดังว่ามานี้ ชื่อว่ารูปขันธ์ เมื่อภิกษุกำหนดรูปขันธ์ ธรรมอันมีผัสสะเป็นที่ ๕ ที่เกิดขึ้น ชื่อว่าอรูปขันธ์ ๔. ธรรมแม้ทั้งหมดเหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์ ๕ โดยสังเขป ย่อมเป็นเพียงนามรูป.

ภิกษุนั้นครั้นกำหนดธรรมเหล่านั้น โดยลักษณะพร้อมด้วยกิจแล้วแสวงหาปัจจัยของธรรมเหล่านั้น ย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาทอันเป็นอนุโลม. ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันภิกษุนั้นกำหนดรู้กพฬีการาหาร ด้วยญาตปริญญา เพราะเห็นนามรูปพร้อมด้วยปัจจัยโดยมุขคือกพฬีการาหารตามความเป็นจริง เธอยกนามรูปพร้อมด้วยปัจจัยนั้นนั่นแลขึ้นสู่ลักษณะ ๓ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วพิจารณาเห็นด้วยอนุปัสสนา ๗.

ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันเธอกำหนดรู้กพฬีการาหารนั้น กล่าวคือ ญาณเป็นเครื่องแทงตลอดและพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ ด้วยตีรณปริญญา.

ก็กวฬีการาหาร นั้น เป็นอันเธอกำหนดรู้ด้วยปหานปริญญา เพราะกำหนดรู้ด้วยอนาคามิมรรค อันคร่าเสียซึ่งฉันทราคะในนามรูปนั้นเอง.

บทว่า ปญฺจกามคุณิโก เป็นอันเธอกำหนดรู้การเกิดแห่งกามคุณ ๕. แต่ในที่นี้ ปริญญา ๓ ได้แก่ เอกปริญญา สัพพปริญญา มูลปริญญา.

ถามว่า เอกปริญญาเป็นไฉน.

แก้ว่า ภิกษุใดกำหนดรู้ตัณหามีรสเป็นอันเดียวในชิวหาทวาร ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นอันกำหนดราคะอันเป็นไปในกามคุณ ๕. เพราะเหตุไร.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 320

เพราะตัณหานั้นแลเกิดขึ้นในที่นั้น.

จริงอยู่ ตัณหานั้นแล เกิดขึ้นในจักขุทวาร ชื่อว่าเป็นรูปราคะ ในโสตทวารเป็นต้นก็เกิดสัททราคะ เป็นต้น ดังนั้น ราคะอันเป็นไปในกามคุณ ๕ เป็นอันภิกษุนั้นกำหนดรู้แล้ว ด้วยการกำหนดรู้รสตัณหาในชิวหาทวาร เหมือนเมื่อราชบุรุษจับโจรคนหนึ่ง ผู้ฆ่าคนในทาง ๕ สายได้ในทางสายหนึ่ง แล้วตัดศีรษะเสีย หนทางทั้ง ๕ สายย่อมเป็นทางปลอดภัยฉะนั้น นี้ชื่อว่า เอกปริญญา.

ถามว่า สัพพปริญญาเป็นไฉน.

แก้ว่า ความจริง เมื่อบิณฑบาตที่เขาใส่ลงในบาตร อย่างเดียวเท่านั้น ย่อมได้ความยินดีอันประกอบด้วยกามคุณ ๕.

อย่างไร. คือ อันดับแรก เมื่อภิกษุนั้นแลดูสีอันบริสุทธิ์ ความยินดีในรูปย่อมมี เมื่อราดเนยใสอันร้อนลงในที่นั้น เสียงย่อมดัง ปฏะปฏะ เมื่อเคี้ยวของที่ควรเคี้ยวเห็นปานนั้น เสียงว่า มุรุ มุรุ ย่อมดังขึ้น เมื่อยินดีเสียงนั้น ความยินดีในเสียงย่อมเกิดขึ้น เมื่อยินดีกลิ่นเครื่องปรุงมียี่หร่าเป็นต้น ความยินดีในกลิ่นย่อมเกิดขึ้น ความยินดีในรส ด้วยอำนาจรสที่ดี ย่อมเกิดขึ้น เมื่อยินดีว่า โภชนะอ่อนละมุนน่าสัมผัส ความยินดีในโผฏฐัพพะย่อมเกิดขึ้น. ดังนั้น เมื่อภิกษุกำหนดอาหารด้วยสติและสัมปชัญญะแล้วบริโภค ด้วยการบริโภคที่ปราศจากราคะ การบริโภคทั้งหมด เป็นอันชื่อว่าอันภิกษุกำหนดรู้แล้ว การกำหนดรู้ดังว่ามานี้ ชื่อว่า สัพพปริญญา.

มูลปริญญาเป็นไฉน.

จริงอยู่ กวฬีการาหารเป็นมูลแห่งความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ ๕.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 321

เพราะเหตุไร. เพราะเมื่อกวฬีการาหารยังมีอยู่ ความยินดีในอาหารนั้นอันเป็นไปในกามคุณ ๕ ก็เกิดขึ้น. ได้ยินว่า สองสามีภรรยามิได้มีจิตคิดเพ่งเล็งตลอด ๑๒ ปี ในเพราะภัยเกิดแต่ติสสะพราหมณ์. เพราะเหตุไร. เพราะมีอาหารน้อย แต่เมื่อภัยสงบลง เกาะตามพปัณณิทวีป ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ได้มีมงคลเป็นอันเดียวกัน โดยมงคลที่เกิดขึ้นแก่ผู้กระทำ ดังนั้น เมื่อกำหนดรู้อาหารที่เป็นมูลได้แล้ว ก็เป็นอันชื่อว่าภิกษุกำหนดรู้ราคะ ความยินดีอันเป็นไปในกามคุณ ๕ ด้วย ดังว่ามานี้ ชื่อว่า มูลปริญญา.

บทว่า นตฺถิ ตํ สํโยชนํ ความว่า สังโยชน์นั้นไม่มี เพราะอริยสาวกละธรรมอันมีที่ตั้งเดียวกับธรรมที่ควรละพร้อมทั้งราคะนั้นได้.

เทศนานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้จนถึงอนาคามิมรรคด้วยประการฉะนี้. แต่ควรเจริญวิปัสสนาในขันธ์ ๕ ด้วยสามารถแห่งรูปเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล แล้วตรัสจนถึงพระอรหัต ด้วยทรงดำริว่า ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุทั้งหลายอย่าได้ถึงความสิ้นสุดเลย.

จบอาหารที่ ๑ (กพฬีการาหาร)

ในอาหารที่ ๒ (ผัสสาหาร) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า นิจฺจมฺมา ได้แก่ หนังที่ถูกถลกจากสรีระทิ้งสิ้นตั้งแต่อกถึงโคนเขา มีสีเหมือนกองดอกทองกวาว.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร อุปมานี้จึงไม่ทรงถือเอาอุปมาด้วยช้างม้าและโคเป็นต้น ทรงถือเอาแต่อุปมาด้วยแม่โคที่ไม่มีหนัง.

แก้ว่า เพื่อทรงแสดงภาวะที่ไม่สามารถจะอดกลั้นได้.

จริงอยู่ มาตุคามไม่สามารถอดกลั้นอดทนทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นได้. เพื่อจะทรงแสดงว่า ผัสสาหารไม่มีกำลัง มีกำลังเพลาเหมือนอย่างนั้น จึงทรงนำ

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 322

อุปมามาเทียบเท่านั้น.

บทว่า กุฑฺฑํ ได้แก่ ฝา มีฝาศิลาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. ชื่อว่าจำพวกสัตว์ที่เกาะฝา ได้แก่ สัตว์มีแมลงมุม ตุ๊กแก และหนูเป็นต้น.

บทว่า รุกฺขนิสฺสิตา ได้แก่ สัตว์เล็กๆ มีตังบุ้งเป็นต้น.

บทว่า อุทกนิสฺสิตา ได้แก่ สัตว์น้ำมีปลาและจระเข้เป็นต้น.

บทว่า อากาสนิสฺสิตา ได้แก่ เหลือบ ยุง กา และแร้งเป็นต้น.

บทว่า ขาเทยฺยุํ ได้แก่ ทึ้งจิกกิน.

แม่โคนั้นพิจารณาเห็นที่นั้นๆ ว่าเป็นภัยแต่การเคี้ยวกินของปาณกสัตว์ ซึ่งมีที่ชุมนุม อาศัยกายเป็นมูล ไม่ได้ปรารถนาสักการะและความนับถือสำหรับตน ทั้งไม่ปรารถนาการทุบหลัง การนวดร่างกายและน้ำร้อน. ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นภัยคือการเคี้ยวกินของปาณกสัตว์คือกิเลสอันมีผัสสาหารเป็นมูล ย่อมไม่มีความต้องการด้วยผัสสะอันเป็นไปในภูมิ ๓.

บทว่า ผสฺเส ภิกฺขเว อาหาเร ปริญฺาเต ได้แก่ เมื่อกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓.

แม้ในที่นี้ท่านก็กำหนดเอาปริญญา ๓. ในปริญญา ๓ เหล่านั้น การเห็นซึ่งกิจของนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ผัสสะจัดเป็นสังขารขันธ์ เวทนาที่สัมปยุตด้วยผัสสะนั้น จัดเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาจัดเป็นสัญญาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ อารมณ์ที่เป็นวัตถุ แห่งขันธ์เหล่านั้น จัดเป็นรูปขันธ์ ชื่อว่า ญาตปริญญา.

ในปริญญา ๓ เหล่านั้นนั่นแล การที่ภิกษุยกนามรูปขึ้นสู่ไตรลักษณ์แล้วพิจารณาเห็นโดยเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนา ๗ ชื่อว่า ตีรณปริญญา.

ก็พระอรหัตมรรค ที่คร่าฉันทราคะในนามรูปนั้นเองออกไป ชื่อว่า ปหานปริญญา.

บทว่า ติสฺโส เวทนา ความว่า เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารด้วย

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 323

ปริญญา ๓ อย่างนี้แล้ว เวทนา ๓ ย่อมเป็นอันกำหนดรู้แล้วเหมือนกัน เพราะมีผัสสาหารนั้นเป็นมูล และเพราะสัมปยุตด้วยผัสสาหารนั้น.

ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันตรัสเทศนาจนถึงพระอรหัตด้วยอำนาจผัสสาหาร.

จบอาหารที่ ๒ (ผัสสาหาร)

ในอาหารที่ ๓ (มโนสัญเจตนาหาร) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า องฺคารกาสุ ได้แก่ หลุมถ่านเพลิง.

บทว่า กาสุ ท่านกล่าวหมายความว่า กองบ้าง ว่าหลุมบ้าง ในคำนี้ว่า

องฺคารกาสุํ อปเร ผุณนฺติ นรา รุทนฺตา ปริทฑฺฒคตฺตาฯ ภยํ หิ มํ วินฺทติ สุต ทิสฺวา ปุจฺฉามิ ตํ มาตลิ เทวสารถี.

ชนอีกพวกหนึ่งกระจายกองถ่านเพลิง นระผู้มีร่างกายเร่าร้อนร้องไห้อยู่ ภัยมาถึงเราเพราะเห็นสารถี แน่ะเทพสารถีมาตลี เราขอถามท่าน.

บทว่า กาสุ ท่านกล่าวหมายความว่า กอง.

ในคำนี้ว่า กิํนุ สนฺตรมาโนว กาสุํ ขณสิ สารถิ แน่ะนายสารถี ท่านตัวสั่นขุดหลุมอยู่เพราะเหตุไรหนอ. ท่านกล่าวหมายความว่า หลุม แม้ในที่นี้ก็ประสงค์ความว่าหลุมนี้แหละ.

บทว่า สาธิกโปริสา ได้แก่ เกินชั่วบุรุษ คือประมาณ ๕ ศอก.

ด้วยบทว่า วีตจฺฉิกานํ วีตธูมานํ นี้ ท่านแสดงว่าหลุมถ่านเพลิงนั้น มีความเร่าร้อนมาก. ด้วยว่า เมื่อมีเปลวไฟหรือควัน ความเร่าร้อนก็มาก ลมตั้งขึ้น ความเร่าร้อนย่อมไม่มาก เมื่อมีเปลวไฟหรือควัน

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 324

นั้น แต่ไม่มีลืม ความเร่าร้อนย่อมมาก.

บทว่า อารกาวสฺส แปลว่า พึงมีในที่ไกลทีเดียว.

ในคำว่า เอวเมว โข นี้ มีการเปรียบเทียบด้วยอุปมาดังต่อไปนี้.

พึงเห็นวัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓ เหมือนหลุมถ่านเพลิง ปุถุชนคนโง่ผู้อาศัยวัฏฏะ เหมือนบุรุษผู้อยากจะเป็นอยู่ กุศลกรรมและอกุศลกรรม เหมือนบุรุษ ๒ คนผู้มีกำลัง เวลาที่ปุถุชนก่อกรรมทำเข็ญ เหมือนเวลาที่บุรุษ ๒ คน จับบุรุษนั้นที่แขนคนละข้างฉุดมายังหลุมถ่านเพลิง.

จริงอยู่ กรรมที่ปุถุชนคนโง่ก่อกรรมทำเข็ญ ย่อมชักไปหาปฏิสนธิ วัฏทุกข์ที่มีกรรมเป็นเหตุ พึงทราบเหมือนทุกข์ที่มีหลุมถ่านเพลิงเป็นเหตุ.

บทว่า ปริญฺาเต ได้แก่ กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ก็การประกอบความเรื่องปริญญาในที่นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในผัสสะนั่นแล.

บทว่า ติสฺโส ตณฺหา ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.

ตัณหาเหล่านี้ ย่อมเป็นอันกำหนดรู้แล้วเหมือนกัน. เพราะเหตุไร. เพราะมโนสัญเจตนามีตัณหาเป็นมูล ด้วยว่า เมื่อละเหตุยังไม่ได้ ก็ละผัสสะไม่ได้.

ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันตรัสเทศนาจนถึงพระอรหัตด้วยอำนาจมโนสัญเจตนาหาร.

จบอาหารที่ ๓ (มโนสัญเจตนาหาร)

ในอาหารที่ ๔ (วิญญาณาหาร) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อาคุจาริํ ได้แก่ ผู้ประพฤติชั่ว คือผู้กระทำผิด.

ด้วยบทว่า กถํ โส ปุริโส พระราชาตรัสถามว่า บุรุษนั้นเป็นอย่างไร คือเลี้ยงชีพอย่างไร.

บทว่า ตเถว เทว ชีวติ ความว่า แม้ในบัดนี้เขาก็เลี้ยงชีพเหมือนเมื่อก่อนนั่นแหละ.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 325

แม้ในคำว่า เอวเมว โข นี้ มีการเปรียบเทียบด้วยอุปมาดังต่อไปนี้.

จริงอยู่ กรรมพึงเห็นเหมือนพระราชา ปุถุชนคนโง่ผู้อาศัยวัฏฏะเหมือนบุรุษผู้ประพฤติชั่ว ปฏิสนธิวิญญาณเหมือนหอก ๓๐๐ เล่ม เวลาที่พระราชาคือกรรมจับปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะซัดไปในปฏิสนธิ เหมือนเวลาที่พระราชาจับบุรุษผู้ประพฤติชั่ว สั่งบังคับว่า จงประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม.

ในอุปมาเหล่านั้น ปฏิสนธิวิญญาณเปรียบเหมือนหอก ๓๐๐ เล่ม ก็จริงถึงอย่างนั้น ทุกข์ย่อมไม่มีในหอก ทุกข์มีปากแผลที่ถูกหอกแทงเป็นมูล ทุกข์ก็เหมือนกัน ย่อมไม่มีแม้ในปฏิสนธิ แต่เมื่อวิบากให้ปฏิสนธิ วิบากทุกข์ในปัจจุบัน ย่อมเป็นเหมือนทุกข์มีปากแผลที่ถูกหอกแทงเป็นมูล.

บทว่า ปริญฺาเต ได้แก่ กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓.

แม้ในที่นี้ การประกอบความเรื่องปริญญา พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในผัสสาหารนั่นแล.

บทว่า นามรูปํ ได้แก่ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดมีนามรูป เพราะเมื่อกำหนดรู้วิญญาณ ย่อมเป็นอันกำหนดรู้นามรูปนั้นเหมือนกัน เพราะมีวิญญาณนั้นเป็นปัจจัย และเพราะเกิดพร้อมกัน.

ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันตรัสเทศนา จนถึงพระอรหัตแม้ด้วยอำนาจวิญญาณาหารแล.

จบอรรถกถาปุตตมังสสูตรที่ ๓