ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๓

 
khampan.a
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36308
อ่าน  1,163

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๒๓
* *



~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ สามารถที่จะให้ผู้พิจารณาขัดเกลากิเลสอกุศลธรรมได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่า ชี้ให้เห็นโทษของตนเองซึ่งยากที่จะเห็นได้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ เป็นดุจครูอาจารย์ผู้คอยชี้โทษ เป็นกัลยาณมิตรคือมิตรแท้ ผู้ที่ชี้ให้เห็นโทษของตนเอง

~ ถ้ามีโลภะมากๆ ความทุกข์ก็ต้องมาก เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่ความทุกข์จะลดน้อยลง ก็คือ มีความติดข้องมีความผูกพันลดน้อยลงด้วย และทุกข์นั้นก็เป็นทุกข์ทางใจ เป็นโทมนัส เป็นทุกข์ประเภทหนึ่ง ซึ่งปัญญาสามารถระงับได้ แต่ก็ยังมีทุกข์อย่างอื่นอีกมาก ซึ่งถ้าเป็นทุกข์กายซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนสภาพของทุกข์กายนั้นให้เป็นสุขทางกายได้

~ เวลาที่โลภะเกิด มีความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะไม่สละสิ่งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ นี้ ช่างสละน้อยจริงๆ และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าขณะที่โลภะเกิดขึ้น ขณะใด ขณะนั้นมีการไม่สละโดยรอบ ทุกอย่างสละไม่ได้ในขณะที่พอใจ

~ แน่นอนที่สุดที่ทุกคนจะต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) แล้ว จะสงบจริงๆ เป็นความสุขที่เกิดจากวิเวก คือ สงัดจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ทำอย่างไรจึงจะพลิกใจจากความติดข้องไปสู่การละความติดข้องได้ ซึ่งก็จะต้องอาศัยหลายทางที่จะสะสมกุศลเป็นบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) จนกว่าสามารถละได้จริงๆ

~ ไม่มีใครปรารถนาทุกข์ แต่ทุกคนมีทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ด้วยว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ เหตุของทุกข์คือโลภะนั่นเอง เมื่อมีความปรารถนาสุข เมื่อมีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไม่ได้ความสุขที่ต้องการ ขณะนั้นจึงเป็นทุกข์ แต่ลองคิดถึงผู้ที่ไม่มีความปรารถนาอะไรเลย ดับความปรารถนาหมด ผู้นั้นจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร

~ ถ้ายังคงมีอกุศลมากมาย การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) นี่ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการฟังพระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเพื่อประโยชน์อันแท้จริง

~ ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะมีความคิดต่างๆ มากมายหลายอย่างทีเดียว แต่ถ้าศึกษาพระธรรมแล้ว จะรู้ได้ว่า ไม่จำเป็นต้องไปคิดเองเลย เพราะเหตุว่า มีผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดให้พิจารณาตามว่า เป็นความจริงอย่างที่ทรงแสดงหรือไม่

~ ขณะที่มีเมตตา มีความเป็นเพื่อน ขณะนั้นเป็นกุศล แล้วถ้าเราเพิ่มความเมตตากับทุกๆ คนขึ้น ที่เราพบปะ นั่นคือเราอบรมเจริญความสงบของจิต ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปนั่งท่องภาวนาอยู่ที่มุมหนึ่งมุมใด แต่พอพ้นจากห้องนั้นมาแล้ว เห็นคนอื่นก็หมั่นไส้ หรือไม่ชอบ หรือรำคาญ ขณะนั้นที่เราไปนั่งท่องตั้ง ๒๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง จะไม่มีความหมายเลย เพราะเหตุว่าไม่เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

~ อบรมเจริญเมตตา คือ เป็นผู้ที่มีเมตตาในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากคนที่เคยชัง ความชังนั้นจะต้องลดน้อยลง มีความเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ ก็จะต้องระลึกได้ว่าขณะใดที่ความโกรธเกิด ขณะนั้นไม่มีเมตตาปราศจากเมตตา ถ้าสติเกิดระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ เป็นผู้ที่มีปกติมีเมตตา ในขณะนั้นเมตตาต่อคนรอบข้าง ย่อมมากขึ้น ขยายกว้างไกลออกไป

~ ผู้ที่เป็นมิตรที่หวังดี มีหรือที่จะไม่ให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์กับผู้นั้นเองที่จะรู้ว่าสิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่กล่าวถึงพระธรรมวินัย ก็ด้วยประโยชน์ของความเป็นมิตรที่ดีที่หวังว่าพุทธบริษัทก็จะต้องรู้ว่าถ้าไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัยให้ถูกต้องจริงๆ ก็เป็นผู้ที่ทำลายพระพุทธศาสนา

~ คนไหนโกรธ คนนั้นเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่โกรธ ไม่มีคนอื่นจะทำให้เดือดร้อนได้เลย

~ ถ้าคิดถึงความดีของเขา เราก็ไม่เดือดร้อน แต่พอคิดถึงความไม่ดีของเขา ทั้งๆ ที่เป็นความไม่ดีของเขา เราก็ไปเดือดร้อน ขณะนั้น เราต่างหากที่เดือดร้อน

~ บุคคลอื่นไม่สามารถทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเองเป็นผู้กระทำ ถ้าคิดได้อย่างนี้ ในขณะนั้นจะเห็นโทษของอกุศล

~ เจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่จะขัดเกลาอกุศล ด้วยความจริงใจที่จะละคลายอกุศล ไม่ใช่ต้องการหรือปรารถนาสิ่งอื่น นี่คือ ผู้เห็นคุณของพระธรรมและเห็นโทษของอกุศล และรู้ว่าสิ่งที่ควรเจริญในชาตินี้คือปัญญา เพราะเหตุว่า สิ่งอื่นไม่สามารถจะติดตามไปได้ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ ก็ติดตามไปไม่ได้ แต่ปัญญาความเข้าใจพระธรรม จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่งก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

~ มีความเข้าใจถูกตามความเป็นจริง แสดงว่าก่อนหน้านั้น เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด? และถ้ายังผิดอยู่ ประโยชน์อยู่ไหน แม้สักเล็กน้อย? แต่เมื่อเข้าใจแล้ว คุณมหาศาลจากการที่ไม่เคยเข้าใจถูกมาก่อน และใครจะเอาความเข้าใจผิดๆ ออกไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจถูกนั่นแหละประโยชน์มหาศาล เพราะว่า จะไม่ผิด แต่ต้องเป็นผู้ที่ระมัดระวัง ละเอียด และไตร่ตรองที่จะเข้าใจในความถูกต้องจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อน เมื่อเข้าใจถูกแล้ว ประโยชน์มหาศาลแน่นอน เพราะจะไม่นำสิ่งที่ผิดมาให้เลย


~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำ มีผู้ฟัง มีสาวก สาวกทุกท่าน ก็กล่าวธรรม เพื่อที่จะนำให้คนอื่นได้เข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ ถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเข้าใจไหม? เพราะฉะนั้น นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการฟังคำของพระองค์ ฟังแล้วไตร่ตรองเข้าใจ เมื่อเข้าใจ จึงนับถือว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ เชื่อมั่นในความถูกต้อง ในความดี อยู่ได้สบายมาก จะกลัวอะไรในเมื่อถูกต้อง ในเมื่อจริง ในเมื่อเป็นประโยชน์ ไม่มีทางที่จะหวั่นไหวหรือเกรงกลัวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ผิด ไม่ใช่สิ่งที่เป็นโทษ เพราะฉะนั้น พร้อมที่จะชี้แจง ให้เหตุผล ช่วยคนอื่นให้ได้มีความเข้าใจถูกต้องด้วย

~ เขาจะว่าอะไร เขาจะกล่าวร้ายอย่างไร เราไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เรายังคงมีความหวังดีที่จะให้เขาได้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้น คำร้ายร้ายต่างๆ ไม่กระทบกระเทือนใจของเราให้หวั่นไหวเลย เพราะว่า เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วเรายังมีความหวังดีต่อเขาด้วย ถึงเขาไม่ชอบ ถึงเขาโกรธ แต่ว่าใจของเรา ไม่ได้หวั่นไหว ไม่ได้ถูกกระทบกระเทือนด้วยความไม่ดีต่างๆ แต่ยังมีความดีที่หวังจะช่วยเขา สบายไหม? ใครจะไม่รัก ไม่เป็นไร ใครจะว่าอะไร ก็ไม่เป็นไร เรามีความหวังดีที่จะให้เขาได้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้น ใจขณะนั้น ของเรา สบายไหม? อยู่อย่างสบายไหม?

~ ถ้าไม่รัก จะผิดหวังไหม? ที่ผิดหวัง ก็เพราะมาจากความพอใจ ความชอบใจในสิ่งใดก็ตาม อยากได้แล้วไม่ได้ จะใช้คำว่าอกหักทุกครั้งก็ได้ เพราะอยากได้แล้วไม่ได้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ไม่ได้รองเท้าที่อยากได้ อกหักไหม? เมื่อมีความติดข้องต้องการสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ก็เกิดทุกข์

~ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ ความดีอย่างหนึ่ง เกิดขึ้น คือ หวังดี เป็นมิตรกับผู้อื่น ที่จะให้เขาได้เข้าใจด้วย เป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะปัญญาเห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับปัญญาที่จะทำให้ความดีงามทั้งหลายเพิ่มขึ้น

~ โรคไม่รู้ธรรม นั่นแหละ คือ โรคใหญ่ที่สุด นำมาซึ่งโรคอื่นๆ ทั้งหมดเลย เพราะไม่รู้ จึงทำทุจริตต่างๆ เป็นโรคที่น่ากลัวมาก ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ ก็กระทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่รู้ว่าผลที่เกิดจากการกระทำที่ไม่เป็นประโยชน์ ร้ายแรงขนาดไหน

~ ปัญญา รักษาโรคไม่รู้

~ ธรรม มีสอบด้วยหรือ?
ธรรม เพื่อสอบหรือเพื่อเข้าใจ?
ธรรม เพื่อละหรือเพื่อได้?

~ ไม่คบคนพาล ก็ยังไม่พอ ต้องคบบัณฑิตด้วย คนพาล คือ ผู้ที่ไม่ได้นำสิ่งที่มีประโยชน์มาให้เลย แต่บัณฑิต คือ ผู้มีแต่นำสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้นมาให้ ไม่นำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์มาให้เลย เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด บัณฑิตไม่เอามาให้ใคร เพราะไม่มีประโยชน์

~ ใครเป็นมิตรที่สูงสุดเหนือใครๆ? คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ไม่อย่างนั้น เราไม่มีโอกาสได้ฟังเลย ไม่ว่าใครอยู่ที่ไหน ไกลแสนไกล ถ้าเขาสามารถที่จะเข้าใจได้ พระองค์ก็เสด็จไปเพื่ออนุเคราะห์



* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ครั้งที่ ๕๒๒



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 29 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มังกรทอง
วันที่ 29 ส.ค. 2564

อบรมเจริญเมตตา คือ เป็นผู้ที่มีเมตตาในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากคนที่เคยชัง ความชังนั้นจะต้องลดน้อยลง มีความเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ ก็จะต้องระลึกได้ว่าขณะใดที่ความโกรธเกิด ขณะนั้นไม่มีเมตตาปราศจากเมตตา ถ้าสติเกิดระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ เป็นผู้ที่มีปกติมีเมตตา ในขณะนั้นเมตตาต่อคนรอบข้าง ย่อมมากขึ้น ขยายกว้างไกลออกไป

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jans
วันที่ 29 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 30 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Lai
วันที่ 30 ส.ค. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sea
วันที่ 17 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ