พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36076
อ่าน  415

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 440

ปริพพาชกวรรคที่ ๓

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร

เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 440

๓. ปริพพาชกวรรค

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร

เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

[๒๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กุฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ก็สมัยนั้น ปริพาชกวัจฉโคตร อาศัยอยู่ในปริพาชการาม ซึ่งมีต้นมะม่วงขาวต้นหนึ่ง. ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งห่มแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังเมืองเวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดําริว่า เราจะเที่ยวบิณฑบาตในเมืองเวสาลีก่อนก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาวัจฉโคตรที่ปริพาชการามอันมีต้นมะม่วงขาวต้นหนึ่งเถิด. ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหาปริพาชกวัจฉโคตร ถึงปริพาชการาม ซึ่งมีต้นมะม่วงขาวต้นหนึ่ง ปริพาชกวัจฉโคตรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้กราบทูลว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาดีแล้ว กว่าจะเสด็จมาในที่นี้นานทีเดียว ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง นี้อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว แม้ปริพาชกวัจฉโคตรก็ถือเอาอาสนะต่ําแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๒๔๑] ปริพาชกวัจฉโคตรนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญู มีปรกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสนะ ไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสนะปรากฏ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 441

แล้วเสมอติดต่อกันไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญู มีปรกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไป ดังนี้ เป็นอันกล่าวตามพระดํารัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคําที่ไม่เป็นจริง และชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรมแลหรือ อนึ่ง วาทะและอนุวาทะอันเป็นไปกับด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะที่ผู้รู้จะพึงติเตียนแลหรือ.

ดูก่อนวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญู มีปรกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไป ดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคําที่เรากล่าวแล้ว และชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคําที่ไม่มี ไม่เป็นจริง.

พยากรณ์วิชชา ๓

[๒๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพยากรณ์อย่างไร จึงจะเป็นอันกล่าวตามพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคําไม่จริง เป็นอันพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม อนึ่ง วาทะและอนุวาทะอันเป็นไปกับด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะที่ผู้รู้จะพึงติเตียนเล่า.

ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะดังนี้แล เป็นอันกล่าวตามคําที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคําไม่เป็นจริง ชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม อนึ่ง วาทะและอนุวาทะอันเป็นไปกับด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะที่ผู้รู้พึงติเตียนเลย.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 442

ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยทุกข์เสวยสุขอย่างนั้น มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

ดูก่อนวัจฉะ เราทําให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 443

ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ เป็นอันกล่าวตามคําที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคําไม่เป็นจริง เป็นอันพยากรณ์ถูก สมควรแก่ธรรม อนึ่ง วาทะและอนุวาทะอันไปกับด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะที่ผู้รู้พึงติเตียน.

ลัทธิเดียรถีย์ไปสวรรค์ไม่ได้

[๒๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกวัจฉโคตรได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดม คฤหัสถ์บางคนยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ เมื่อตายไป ย่อมทําที่สุดทุกข์ได้มีอยู่หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ คฤหัสถ์ที่ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้แล้ว เมื่อตายไปจะทําที่สุดทุกข์ได้นั้น ไม่มีเลย.

ข้าแต่พระโคดม ก็คฤหัสถ์บางคนยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ เมื่อตายไป เข้าถึงโลกสวรรค์ได้ มีอยู่หรือ.

ดูก่อนวัจฉะ คฤหัสถ์ที่ละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ยังไม่ได้แล้ว เมื่อตายไปได้ไปสวรรค์นั้น ไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย เท่านั้น โดยที่แท้ มีอยู่มากทีเดียว.

ข้าแต่ท่านพระโคดม อาชีวกบางคน เมื่อตายไป จะทําที่สุดทุกข์ได้มีอยู่บ้างหรือ.

ดูก่อนวัจฉะ อาชีวกบางคน เมื่อตายไป จะทําที่สุดทุกข์ได้นั้นไม่มีเลย.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อาชีวกบางคน เมื่อตายไป จะไปสวรรค์ได้มีอยู่หรือ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 444

ดูก่อนวัจฉะ แต่ภัทรกัปนี้ไปได้เก้าสิบเอ็ดกัปที่เราระลึกได้ เราจักได้รู้จักอาชีวกบางคนที่ไปสวรรค์หามิได้นอกจากอาชีวกคนเดียว ที่เป็นกรรมวาที กิริยวาที.

ข้าแต่ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนั้น ลัทธิของเดียรถีย์เป็นอันสูญโดยที่สุดจากคุณเครื่องไปสู่สวรรค์น่ะซี.

อย่างนั้นวัจฉะ ลัทธิของเดียรถีย์นี้ เป็นอันสูญโดยที่สุด แม้จากคุณเครื่องไปสู่สวรรค์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ปริพาชกวัจฉโคตรยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

จบจูฬวัจฉโคตตสูตรที่ ๑

อรรถกถาปริพพาชกวรรค

๑. อรรถกถาเตวิชชวัจฉสูตร (๑)

เตวิชชวัจฉสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

ในบรรดาบทเหล่านั้นว่า เอกปุณฺฑริเก ต้นมะม่วงขาวท่านเรียกว่า ปุณฑริกะ.

ชื่อว่า เอกปุณฺฑริโก เพราะต้นปุณฑริกต้นนั้นมีอยู่ต้นเดียวในอารามนั้น.

บทว่า เอตทโหสิ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดําริ เพราะมีพระประสงค์จะเสด็จเข้าไปในปริพพาชการามนั้น.

บทว่า จิรสฺสํ โข ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กว่าพระองค์จะเสด็จมานานทีเดียว หมายถึง เคยเสด็จมาตาม


(๑) บาลีว่า จูฬวัจฉโคตตสูตร.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 445

ปรกติ.

ในบทว่า ธมฺมสฺส จ อนุธมฺมํ ธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ สัพพัญุตญาณ ชื่อว่า ธรรม.

การพยากรณ์แก่มหาชน ชื่อว่า อนุธรรม (ธรรมสมควร).

บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในชีวกสูตรนั้นแล.

บทว่า น เม ไม่เป็นอันกล่าวตามคําที่เรากล่าวแล้ว คือ ตั้งอยู่ในความไม่เห็นชอบ ปฏิเสธแม้ความเห็นชอบ.

เพราะพระสัพพัญูมีปรกติเห็นสิ่งทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสนะ ไม่มีส่วนเหลือ ฉะนั้น ญาณทัสนะนี้ควรรู้ตาม.

บทว่า จรโต จ เม ปจฺจุปฏิตํ เมื่อเราเดินไปก็ดี ญาณทัสนะปรากฏแล้วนี้ ไม่สมควรรู้ตาม.

เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคํานึงด้วยพระสัพพัญุตญาณแล้วทรงรู้. ฉะนั้น ทรงตั้งอยู่ในความไม่เห็นชอบ ปฏิเสธแม้ความชอบจึงตรัสอย่างนี้.

ในบทว่า อาสวานํ ขยา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่า เพียงใด. เพราะอาสวะทั้งหลายที่สิ้นไปแล้วครั้งเดียว มิได้มีอาสวะที่จะพึงสิ้นไปอีก.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวย่อพระคุณทั้งสิ้นด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้ คือ ทรงแสดงคุณ คือ ความรู้ในอดีตด้วยปุพเพนิวาสญาณ ๑ ทรงแสดงคุณ คือ ความรู้ในปัจจุบัน ด้วยทิพจักขุญาณ ๑ ทรงแสดงโลกุตตรญาณ ด้วยอาสวักขยญาณ ๑.

บทว่า คิหิสํโยชนํ สังโยชน์ของคฤหัสถ์ คือ ความผูกพันของคฤหัสถ์ คือ ความใคร่ในบริขารของคฤหัสถ์.

บทว่า นตฺถิ โข วจฺฉ ดูก่อนวัจฉะ ไม่มีเลย คือ ผู้ยังไม่ละคิหิสังโยชน์ ชื่อว่าจะทําที่สุดทุกข์ย่อมไม่มี.

แม้บุคคลเหล่าใดดํารงเพศคฤหัสถ์ คือ สันตติมหาอํามาตย์ อุคคเสนะ เศรษฐีบุตร วีตโสกธารกะ ก็บรรลุพระอรหัตได้.

แม้บุคคลเหล่านั้น ก็ยังความใคร่ในสังขารทั้งปวงให้แห้งไปด้วยมรรคแล้วบรรลุได้.

แต่เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ตั้งอยู่ด้วยเพศนั้น. ชื่อว่าเพศคฤหัสถ์นี้เลว ไม่สามารถทรงคุณอันสูงสุดไว้ได้.

เพราะฉะนั้น ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์นั้นบรรลุพระอรหัตแล้วย่อมบวช หรือปรินิพพานในวันนั้นเอง.

แต่ภุมมเทวดายังดํารงอยู่ได้.

เพราะเหตุไร.

เพราะมีโอกาสที่จะแฝงตัวอยู่ได้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 446

ในกามภพที่เหลือ พระอริยบุคคล ๓ จําพวก มีพระโสดาบันเป็นต้น ยังดํารงอยู่ได้ในมนุษยโลก.

ในกามาวจรเทวโลก พระโสดาบันและพระสกทาคามียังดํารงอยู่ได้.

แต่พระอนาคามีและพระขีณาสพจะดํารงอยู่ในกามาวจรเทวโลกนี้ไม่ได้.

เพราะเหตุไร.

เพราะที่นั้นมิใช่เป็นที่อยู่ของชนผู้ละอายแล้ว. และที่นั้นมิใช่เป็นที่ปกปิดที่สมควรแก่วิเวกของพระขีณาสพเหล่านั้น.

ด้วยประการฉะนี้ พระขีณาสพจึงปรินิพพาน ณ ที่นั้น.

พระอนาคามีจุติแล้วไปเกิดในชั้นสุทธาวาส.

พระอริยะแม้ ๘ จําพวก ย่อมดํารงอยู่ในภูมิเบื้องบน แต่กามาวจรเทวโลกได้.

บทว่า โสจาปิ กมฺมวาที คือ อาชีวกที่เป็นกรรมวาที.

บทว่า กิริยวาที พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้านผู้อื่นแล้วทรงกล่าวถึงพระองค์เองเท่านั้นในที่สุด ๘๙ (๑) กัป.

ได้ยินว่า ในครั้งนั้นพระมหาสัตว์ทรงผนวชเพื่อทรงสอบสวนลัทธิปาสัณฑะ (เป็นลัทธิเกี่ยวกับตัณหาและทิฏฐิ). ครั้นทรงทราบว่าลัทธิปาสัณฑะนั้นไม่มีผล ก็มิได้ทรงเลิกละความเพียรได้เป็นกิริยวาทีไปบังเกิดบนสวรรค์.

เพราะฉะนั้นจึงตรัสอย่างนี้.

บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาเตวิชชวัจฉสูตรที่ ๑


(๑) บาลีว่า ๙๑ กัป