พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. โปตลิยสูตร ว่าด้วยโปตลิยคฤหบดี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36059
อ่าน  592

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 73

๔. โปตลิยสูตร

ว่าด้วยโปตลิยคฤหบดี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 73

๔. โปตลิยสูตร

ว่าด้วยโปตลิยคฤหบดี

[๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท ในนิคมของชาวอังคุตตราปะ ชื่อว่าอาปณะ ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปณนิคม ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในอาปณนิคมแล้วภายหลังภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง เพื่อทรงพักกลางวัน เสด็จถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง แม้โปตลิยคฤหบดี มีผ้านุ่งผ้าห่มสมบูรณ์ ถือร่ม สวมรองเท้า เดินเที่ยวไปมาเป็นการพักผ่อนอยู่ เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้นแล้ว ครั้นถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๓๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะโปตลิยคฤหบดีผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูก่อนคฤหบดี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์เชิญนั่งเถิด. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โปตลิยคฤหบดีโกรธ น้อยใจว่า พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคําว่า คฤหบดี แล้วได้นิ่งเสีย. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะโปตลิยคฤหบดีเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ดูก่อนคฤหบดี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์เชิญนั่งเถิด. โปตลิยคฤหบดีโกรธ น้อยใจว่า พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคําว่า คฤหบดี ได้นิ่งเสียเป็นครั้งที่ ๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะโปตลิยคฤหบดีเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ดูก่อนคฤหบดี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่าน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 74

ประสงค์ เชิญนั่งเถิด. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โปตลิยคฤหบดีโกรธ น้อยใจว่า พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคําว่า คฤหบดี แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม พระดํารัสที่พระองค์ตรัสเรียกข้าพเจ้าด้วยคําว่า คฤหบดีนั้น ไม่เหมาะ ไม่สมควรเลย.

พ. ดูก่อนคฤหบดี ก็อาการของท่าน เพศของท่าน เครื่องหมายของท่านเหล่านั้น เป็นเหมือนคฤหบดีทั้งนั้น.

โป. จริงเช่นนั้น ท่านพระโคดม ก็แต่ว่าการงานทั้งปวง ข้าพเจ้าห้ามเสียแล้ว โวหารทั้งปวง ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว.

ดูก่อนคฤหบดี ก็การงานทั้งปวง ท่านห้ามเสียแล้ว โวหารทั้งปวง ท่านตัดขาดแล้วอย่างไรเล่า.

ท่านพระโคดม ขอประทานโอกาส สิ่งใดของข้าพเจ้าที่มี เป็นทรัพย์ก็ดี เป็นข้าวเปลือกก็ดี เป็นเงินก็ดี เป็นทองก็ดี สิ่งนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ามอบให้เป็นมรดกแก่บุตรทั้งหลาย ข้าพเจ้ามิได้สอน มิได้ว่าเขาในสิ่งนั้นๆ ข้าพเจ้ามีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างยิ่งอยู่ ท่านพระโคดม การงานทั้งปวง ข้าพเจ้าห้ามเสียแล้ว โวหารทั้งปวง ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านกล่าวการตัดขาดโวหาร เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ เป็นอีกอย่างหนึ่ง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไรเล่า ดีละ พระองค์ผู้เจริญ การตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ มีอยู่ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าด้วยประการนั้นเถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 75

ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. โปตลิยคฤหบดีทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

ธรรมเครื่องตัดโวหาร ๘ ประการ

[๓๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๘ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ. ๘ ประการเป็นไฉน คือ ปาณาติบาต พึงละได้เพราะอาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ อทินนาทาน พึงละได้เพราะอาศัยการถือเอาแต่ของที่เขาให้ มุสาวาท พึงละได้เพราะอาศัยวาจาสัตย์ ปิสุณาวาจา พึงละได้เพราะอาศัยวาจาไม่ส่อเสียด ความโลภด้วยสามารถความกําหนัด พึงละได้เพราะอาศัยความไม่โลภด้วยสามารถความกําหนัด ความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา พึงละได้เพราะความไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา ความคับแค้นด้วยความสามารถแห่งความโกรธ พึงละได้เพราะอาศัยความไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ ความดูหมิ่นท่าน พึงละได้เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๘ ประการนี้แล เรากล่าวโดยย่อ ยังมิได้จําแนกโดยพิสดาร ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรม ๘ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อมิได้ทรงจําแนกโดยพิสดาร ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะ ดีละ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความกรุณา จําแนกธรรม ๘ ประการนี้ โดยพิสดารแก่ข้าพเจ้าเถิด.

ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. โปตลิยคฤหบดีทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 76

[๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ก็คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปาณาติบาตพึงละได้เพราะอาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงทําปาณาติบาตเพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงทําปาณาติบาต แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย วิญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย. เมื่อตายไปทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย. ปาณาติบาตนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปาณาติบาตพึงละได้เพราะอาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๐] ก็คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า อทินนาทานพึงละได้เพราะอาศัยการถือเอาแต่ของที่เขาให้ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร. ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงถือเอาของที่เขามิได้ให้ เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงถือเอาของที่เขามิได้ให้ แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย วิญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย. เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย. อทินนาทานนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจากอทินนาทานแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 77

นั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า อทินนาทานพึงละได้ เพราะอาศัยการถือเอาแต่ของที่เขาให้ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๑] ก็คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า มุสาวาทพึงละได้ เพราะอาศัยวาจาสัตย์ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงกล่าวมุสาเพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละเพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงกล่าวมุสา แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย วิญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย มุสาวาทนี้นั่นแหละเป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใดพึงเกิดขึ้นเพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจากมุสาวาทแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า มุสาวาทพึงละได้ เพราะอาศัยวาจาสัตย์ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๒] ก็คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปิสุณาวาจาพึงละได้ เพราะอาศัยวาจาไม่ส่อเสียด เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร. ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงกล่าววาจาส่อเสียด เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงกล่าววาจาส่อเสียด แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้เพราะวาจาส่อเสียดเป็นปัจจัย. วิญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้เพราะวาจาส่อเสียดเป็นปัจจัย. เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะวาจาส่อเสียดเป็นปัจจัย ปิสุณาวาจานี้นั่นแหละเป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะวาจาส่อเสียดเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจาก

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 78

วาจาส่อเสียดแล้ว อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ปิสุณาวาจาพึงละได้ เพราะอาศัยวาจาไม่ส่อเสียด เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๓] ก็คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโลภด้วยสามารถความกําหนัดพึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โลภด้วยสามารถความกําหนัด เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร. ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงมีความโลภด้วยสามารถความกําหนัด เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงมีความโลภด้วยสามารถความกําหนัด แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความโลภด้วยสามารถแห่งความกําหนัดเป็นปัจจัย. วิญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะความโลภด้วยสามารถแห่งความกําหนัดเป็นปัจจัย. เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโลภด้วยสามารถความกําหนัดเป็นปัจจัย ความโลภด้วยสามารถความกําหนัดนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะความโลภด้วยสามารถความกําหนัดเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่โลภด้วยสามารถความกําหนัด อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโลภด้วยสามารถความกําหนัด พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โลภด้วยสามารถความกําหนัด เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๔] ก็คําที่กล่าวดังนี้ว่า ความโกรธด้วยความสามารถแห่งการนินทาพึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา คํานี้เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา เพราะเหตุแห่งสังโยชน์

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 79

เหล่าใด เราปฏิบัติ เพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทาแม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทาเป็นปัจจัย วิญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนได้ เพราะความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทาเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทาเป็นปัจจัย ความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทานี้นั่นเหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้น เพราะความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทาเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความโกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธด้วยสามารถแห่งการนินทา เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๕] คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธพึงละได้เพราะอาศัยความไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้ เพราะความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธเป็นปัจจัย วิญูชนพิจารณาแล้ว พึงติเตียนได้ เพราะความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธเป็นปัจจัย ความคับแค้นด้วยสามารถแห่งความโกรธนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใด พึงเกิดขึ้น เพราะความคับแค้น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 80

ด้วยสามารถความโกรธเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธพึงละได้ เพราะอาศัยความไม่คับแค้นด้วยสามารถความโกรธ เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

[๔๖] คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความดูหมิ่นท่าน พึงละได้ เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราพึงดูหมิ่นท่าน เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้น.

อนึ่ง เราพึงดูหมิ่นท่าน แม้ตนเองพึงติเตียนตนได้เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย วิญูชนพิจารณาแล้วพึงติเตียนตนได้ เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย เมื่อตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย ความดูหมิ่นท่านนี้นั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ เป็นตัวนิวรณ์.

อนึ่ง อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่าใดพึงเกิดขึ้น เพราะความดูหมิ่นท่านเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่ดูหมิ่นท่าน อาสวะที่เป็นเหตุคับแค้นและกระวนกระวายเหล่านั้น ย่อมไม่มี.

คําที่เรากล่าวดังนี้ว่า ความดูหมิ่นท่าน พึงละได้เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้.

ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๘ ประการที่เรากล่าวโดยย่อ ไม่ได้จําแนกโดยพิศดาร ย่อมเป็นไปเพื่อละ เพื่อตัดขาดโวหารในวินัยของพระอริยะนั้น เหล่านี้แล ดูก่อนคฤหบดี แต่เพียงเท่านี้จะได้ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ หามิได้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ก็อย่างไรเล่า จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ใน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 81

วินัยของพระอริยะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ มีด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ด้วยประการนั้นเถิด.

ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. โปตลิยคฤหบดีทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

อุปมา ๗ อย่าง

[๔๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนสุนัขอันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชําแหละออกจนหมดเนื้อแล้ว เปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สุนัขนั้นแทะร่างกระดูกที่เชือดชําแหละออกจนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด จะพึงบําบัดความเพลียเพราะความหิวได้บ้างหรือ.

ไม่ได้เลยพระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเป็นร่างกระดูกที่เชือดชําแหละออกจนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด และสุนัขนั้นพึงมีแต่ส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อยคับแค้นเท่านั้น.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 82

อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๔๘] ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย นกตะกรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยวตัวนั้น ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันจะถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้นเป็นเหตุ.

อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๔๙] ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว เดินทวนลมไป ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วนั้นเสีย คบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วนั้น พึงไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นจะถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้นเป็นเหตุ.

อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 83

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๐] ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกําลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงน้อมกายเข้าไปด้วยคิดเห็นว่าอย่างนี้ๆ บ้างหรือ.

ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้นรู้ว่า เราจักตกลงยังหลุมถ่านเพลิงนี้ จักถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะการตกลงยังหลุมถ่านเพลิงเป็นเหตุ.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 84

[๕๑] ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขา ที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๒] ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ คือ แก้วมณี และกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนําเอาของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จะสมควรหรือหนอ เพื่อความที่บุรุษนั้นจะเป็นอย่างอื่นไป.

ไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเจ้าของย่อมจะนําเอาของตนคืนไปได้.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 85

อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

[๕๓] ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ ในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่ม และห่อพกไว้.

ลําดับนั้น บุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวานอันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดกแต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอเราพึงตัดต้นไม้นี้แต่โคนต้น แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแต่โคนต้นฉันใด.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษคนโน้นซึ่งขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น ถ้าแลเขาไม่รีบลง ต้นไม้นั้นจะพึงล้มลง หักมือหักเท้า หรือหักอวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นล้มเป็นเหตุ.

เป็นอย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 86

ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้นขาดซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ แล้วเจริญอุเบกขาที่มีความเป็นอารมณ์เดียว อาศัยความเป็นอารมณ์เดียว อันเป็นที่ดับความถือมั่นโลกามิส โดยประการทั้งปวง หาส่วนเหลือมิได้.

วิชชา ๓

[๕๔] ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่านี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้นโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่านี้แหละ เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึด

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 87

ถือการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่มีติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มิผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่านี้แหละ เธอทําให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.

โปตลิยคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก

[๕๕] ดูก่อนคฤหบดี ด้วยอาการเพียงเท่านี้แล ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะเห็นปานนั้นในตนบ้างหรือหนอ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าก็กระไรๆ อยู่ การตัดขาดโวหารทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ อันใด ข้าพเจ้ายังห่างไกลจากการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง ในวินัยของพระอริยะ อันนั้น เพราะเมื่อก่อนพวกข้าพเจ้าได้สําคัญพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้รู้ทั่วถึง ได้คบหาพวกอัญญเดียรถีย์ปริพา-

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 88

ชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้รู้เหตุผลพึงคบหา ได้เทิดทูนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้รู้ทั่วถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่พวกข้าพเจ้าได้สําคัญภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง ได้คบหาภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้ไม่รู้เหตุผลพึงคบหา ได้ตั้งภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้ไม่รู้ทั่วถึง.

แต่บัดนี้ พวกข้าพเจ้าจักรู้พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง จักคบหาพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้ไม่รู้เหตุผลพึงคบหา จักตั้งพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้ไม่รู้ทั่วถึง พวกข้าพเจ้าจักรู้ภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้รู้ทั่วถึง จักคบหาภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้อันบุคคลผู้รู้เหตุผลพึงคบหา จักเทิดทูนภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะของผู้รู้ทั่วถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ยังความรักสมณะในหมู่สมณะ ได้ยังความเลื่อมใสสมณะในหมู่สมณะ ได้ยังความเคารพสมณะในหมู่สมณะ ให้เกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วหนอ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจําข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

จบโปตลิยสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 89

๔. อรรถกถาโปตลิยสูตร

โปตลิยสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า องฺคุตฺตราเปสุ ความว่า ชนบทที่ชื่อว่าอังคุตตราปะนั้น ก็คือ แคว้นอังคะนั่นเอง แอ่งน้ำที่อยู่เหนือแม่น้ำมหี เรียกกันว่า อังคุตตราปะก็มี เพราะอยู่ไม่ไกลแอ่งน้ำนั้น.

ถามว่า แอ่งน้ำนั้นอยู่ทิศเหนือแม่น้ำมหีไหน?

ตอบว่า แม่น้ำมหีสายใหญ่ ในข้อนี้จะแถลงให้แจ่มแจ้งดังต่อไปนี้.

เล่ากันว่า ชมพูทวีปนี้ มีเนื้อที่ประมาณ หมื่นโยชน์ ในหมื่นโยชน์นั้น เนื้อที่ประมาณสี่พันโยชน์คลุมด้วยน้ำ นับได้ว่าเป็นทะเล มนุษย์อาศัยอยู่ในเนื้อที่ประมาณสามพันโยชน์ ภูเขาหิมพานต์ก็ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณสามพันโยชน์ สูงร้อยห้าโยชน์ ประดับด้วยยอด แปดหมื่นสี่พันยอดงดงามด้วยแม่น้ำห้าร้อยสาย ไหลอยู่โดยรอบ มีสระใหญ่ตั้งอยู่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต สระกรรณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันตะ สระกุณาละ สระมันทากินี สระสีหปปาตะ ยาว กว้างและลึกห้าสิบโยชน์ กลมสองร้อยห้าสิบโยชน์.

ในสระทั้ง ๗ นั้น สระอโนดาต ล้อมด้วยภูเขา ๕ ลูก คือ สุทัศนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ ไกรลาสกูฏ ในภูเขา ๕ ลูกนั้น สุทัศนกูฏ เป็นภูเขาทอง สูงสองร้อยโยชน์ ข้างในโค้ง สัณฐานเหมือนปากกา ตั้งปิดสระนั้นนั่นแล. จิตรกูฏเป็นภูเขารัตนะทั้งหมด กาฬกูฏเป็นภูเขาแร่พลวง คันธมาทนกูฎ เป็นยอดเขาที่มีพื้นราบเรียบ หนาแน่นไปด้วยคันธชาติทั้งสิบ คือ ไม้รากหอม ไม้แก่นหอม กระพี้หอม ไม้เปลือกหอม ไม้สะเก็ด

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 90

หอม ไม้รสหอม ไม้ใบหอม ไม้ดอกหอม ผลหอม ไม้ลําต้นหอม ดาดาษด้วยโอสถนานาประการ วันอุโบสถข้างแรมจะเรืองแสงเหมือนถ่านไฟคุ. ไกรลาสกูฏเป็นภูเขาเงิน ภูเขาทั้งหมดมีส่วนสูง และสัณฐานเสมอกับสุทัศนกูฏ ตั้งปิดสระนั้นนั่นแล.

ภูเขาทั้งหมดนั้น ยังอยู่ได้ด้วยอานุภาพเทวดาและนาค แม่น้ำทั้งหลาย ย่อมไหลไปที่ภูเขาเหล่านั้น น้ำทั้งหมดนั้นก็ไหลไปสู่สระอโนดาตแห่งเดียว. ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไปทางใต้บ้าง ทางเหนือบ้าง ส่องแสงไปที่สระนั้นทางหว่างภูเขาไม่โคจรไปตรงๆ ด้วยเหตุนั้นนั่นแล สระนั้นจึงเกิดชื่อว่า อโนดาต ในสระอโนดาตนั้น ธรรมชาติจัดไว้อย่างดี มีแผ่นมโนศิลาและหรดาล ปราศจากเต่าปลา มีน้ำใสแจวดังแก้วผลึก มีท่าลงสนาน ซึ่งเป็นที่ที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตขีณาสพ และเหล่าฤษีผู้มีฤทธิ์ลงสรงสนาน ทั้งเหล่าเทวดา และยักษ์มาเล่นน้ำกัน.

ที่ข้างของสระอโนดาตนั้นมีปากทางสี่ทาง คือ ปากทางราชสีห์ ปากทางช้าง ปากทางม้า ปากทางโคอุสภะ ซึ่งเป็นทางไหลของแม่น้ำสี่สาย ฝูงราชสีห์มีมาก อยู่ริมฝังแม่น้ำที่ไหลออกจากปากทางราชสีห์ มีโขลงช้าง ฝูงม้า ฝูงโคอยู่มาก ทางริมฝังแม่น้ำที่ไหลออกจากปากทางช้างเป็นต้น แม่น้ำที่ไหลออกไปทางทิศตะวันออกเลี้ยวขวาสระอโนดาตสามเลี้ยว ไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลผ่านถิ่นอมนุษย์ทางภูเขาหิมพานต์ ด้านทิศตะวันออก ลงสู่มหาสมุทร ส่วนแม่น้ำที่ไหลออกทางทิศใต้ เลี้ยวขวาสระอโนดาตนั้นสามเลี้ยว ไหลตรงไปทิศใต้หกสิบโยชน์ ทางหลังแผ่นหินนั่นแล เจาะภูเขาทะลุออก มีกระแสน้ำประมาณสามสิบคาวุตล้อมไว้ ผ่านทางอากาศหกสิบโยชน์ ไปตกลงบนแผ่นหินชื่อติยัคคฬะ แผ่นหินก็แตกด้วยความแรงของกระแสน้ำ ณ ที่แผ่นหินชื่อติยัคคฬะนั้น ก็เกิดสระโบกขรณีชื่อ ติยัคคฬา ประมาณห้าสิบโยชน์ กระแสน้ำพังที่ฝังสระโบกขรณีทะลุหินไปหกสิบโยชน์ ต่อนั้น ก็พังแผ่นดินทึบไปหกสิบโยชน์

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 91

ทางอุโมงค์ กระแทกติรัจฉานบรรพตชื่อ วิชฌะ ไปเป็นกระแสน้ำห้าสาย เช่นเดียวกับนิ้วมือห้านิ้ว กระแสน้ำนั้นในที่ๆ เลี้ยวขวาสระอโนดาต ไปสามเลี้ยว เรียกกันว่า อาวัฏฏคงคา ในที่ที่ไหลตรงไปหกสิบโยชน์ ทางหลังหิน เรียกกันว่า กรรณคงคา ในที่ๆ ไหลไปหกสิบโยชน์ทางอากาศ เรียกกันว่า อากาศคงคา ที่ตั้งอยู่ในอากาศหกสิบโยชน์ที่หลังหินชื่อติยัคคฬะ เรียกกันว่าติยัคคฬโบกขรณี ในที่ๆ พังฝังสระทะลุหินเข้าไปหกสิบโยชน์ เรียกกันว่า พหลคงคา ในที่ๆ ไหลไปหกสิบโยชน์ทางอุโมงค์ เรียกกันว่า อุมมังคคงคา ส่วนในที่ๆ กระแทกติรัจฉานบรรพต ชื่อวิชฌะ แยกเป็นกระแสน้ำห้าสายก็กลายเป็นแม่น้ำทั้งห้า คือ คงคา ยุมนา อจิรวดี สรภู มหี. มหานที ๕ สายเหล่านี้ย่อมเกิดมาแต่หิมวันตบรรพต ด้วยประการฉะนี้. ในมหานที ๕ สายนั้น มหานทีสายที่ ๕ ชื่อ มหี ท่านหมายเอาว่า มหีมหานที ในที่นี้แอ่งน้ำใดอยู่ทางทิศเหนือมหานทีชื่อ มหี นั้น.

ชนบทนั้นพึงทราบว่า ชื่ออังคุตตราปะ เพราะอยู่ไม่ไกลแอ่งน้ำนั้น. ในชนบทชื่อ อังคุตตราปะนั้น.

คําว่า อาปณํ นาม ความว่า ได้ยินว่า ในนิคมนั้นมีตลาดที่สําคัญๆ แยกได้ถึงสองหมื่นตลาด แม้เพราะเหตุที่นิคมนั้นมีตลาดหนาแน่น จึงถือได้ว่าเป็น อาปณะ (ตลาด) ส่วนภูมิภาคที่มีเงาทึบน่ารื่นรมย์ ริมฝังแม่น้ำไม่ไกลนิคมนั้น ชื่อว่า แนวป่ามหาวัน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ แนวป่ามหาวันนั้น ด้วยเหตุนั้นนั่นแล.

พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกําหนดสถานที่อยู่ ณ แนวป่ามหาวันนั้น.

คําว่า เยนฺตโร วนสณฺโฑ เตนุปสงฺกมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงส่งภิกษุสงฆ์ไปยังสถานที่อยู่เสด็จเข้าไปแต่พระองค์เดียว ท่านหมายถึง โปตลิยคฤหบดี จึงกล่าวว่า โปตลิโยปิ โข คหปติ คฤหบดีชื่อมีอย่างนี้ว่า โปตลิยะ.

บทว่า สมฺปนฺนนิวาส-

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 92

นปารุปโน แปลว่า มีผ้านุ่งผ้าห่ม บริบูรณ์ อธิบายว่า นุ่งผ้าชายยาวผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง.

บทว่า ฉตฺตูปาหนานิ ได้แก่ กั้นร่ม สวมรองเท้า.

บทว่า อาสนานิ ได้แก่ อาสนะ มีตั่งทําไว้เป็นบัลลังก์และตั่งทําด้วยฟางเป็นต้น. แท้จริง โดยที่สุดแม้กิ่งไม้หักๆ ก็เรียกว่า อาสนะ ได้ทั้งนั้น.

บทว่า คหปติวาเทน แปลว่า ด้วยคํานี้ว่า คฤหบดี.

บทว่า สมุทาจรติ แปลว่า เรียก.

คําว่า ภควนฺตํ เอตทโวจ ความว่า โปตลิยคฤหบดี ไม่อาจรับคําว่า คฤหบดี ครั้งที่สามได้ จึงทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ตยิทํ โภ โคตม ดังนี้เป็นต้น.

ในคําเหล่านั้น คําว่า นจฺฉนฺนํ แปลว่า ไม่เหมาะ.

คําว่า นปฺปฏิรูปํ แปลว่า ไม่ควร.

คําว่า อาการา เป็นต้นทั้งหมด เป็นไวพจน์ของเหตุ.

แท้จริง การนุ่งผ้าชายยาว การไว้ผม ไว้หนวด ไว้เล็บ ชื่อว่าอาการ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เพศคฤหัสถ์ทั้งหมดนั้นแลกระทําภาวะคฤหัสถ์ของโปตลิยคฤหบดีให้ปรากฏ.

อาการเหล่านั้น ท่านเรียกว่า เพศ เพราะตั้งอยู่โดยทรวดทรงของคฤหัสถ์ เรียกว่า นิมิต เพราะเป็นเครื่องหมายบอกให้เข้าใจถึงภาวะของคฤหัสถ์.

ด้วยคําว่า ยถาตํ คหปติสฺส พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงว่า อาการ เพศ และเครื่องหมาย พึงมีแก่คฤหบดี ฉันใด อาการ เพศ และเครื่องหมายเหล่านั้นก็มีแก่ท่านฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น เราจึงเรียกอย่างนี้.

ครั้งนั้น โปตลิยคฤหบดี ไม่ยอมรับคําว่า คฤหบดี ด้วยเหตุอันใด เมื่อจะประกาศเหตุอันนั้น จึงทูลว่า ตถา หิ ปน เม ดังนี้เป็นต้น.

คําว่า นิยฺยาตํ แปลว่า ทรัพย์มรดกที่ได้รับมอบ.

คําว่า อโนวาที ความว่า คนผู้กล่าวสอนโดยนัยเป็นต้นว่า พ่อเอย พวกเจ้าจงไถ จงหว่าน จงประกอบด้วยการค้าขาย พวกเจ้าจักเป็นอยู่ หรือเลี้ยงลูกเมียได้อย่างไร ดังนี้ชื่อว่า ผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่กระทําทั้งสองอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น โปตลิย-

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 93

คฤหบดีจึงแสดงว่า ในเรื่องนั้น ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้กล่าวสอน ไม่ใช่ผู้ว่ากล่าว.

ด้วยคําว่า ฆาสจฺฉาทนปรโม วิหรามิ โปตลิยคฤหบดี แสดงว่าข้าพเจ้ากระทํางานเพียงเพื่ออาหาร และเพียงเพื่อเครื่องนุ่งห่ม เป็นอย่างยิ่ง เท่านั้นอยู่ ไม่ปรารถนานอกเหนือไปจากนี้.

คําว่า คิทฺธิ โลโภ ปหาตพฺโพ ได้แก่ ความโลภ อันเป็นตัวติดข้อง ควรละเสีย.

คําว่า อนินฺทาโรโส ได้แก่ การไม่นินทาและไม่กระทบกระทั่ง.

คําว่า นินฺทาโรโส ได้แก่ การนินทาและการกระทบกระทั่ง.

การเรียกชื่อ การบัญญัติชื่อ คําพูด และเจตนาก็ดี ชื่อว่าโวหารในบาลีนี้ว่า โวหารสมุจฺเฉทาย

บรรดาโวหารเหล่านั้น โวหารนี้ว่าในหมู่มนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการเรียกชื่อว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ ผู้นั้นเป็นพ่อค้ามิใช่พราหมณ์.

โวหารว่า การนับชื่อ การตั้งชื่อ การบัญญัติชื่อ การเรียกชื่อ นี้ชื่อว่า บัญญัติโวหาร.

โวหารว่า ย่อมพูด ย่อมไม่ปรามาสโดยประการนั้นๆ นี้ชื่อว่า วจนโวหาร.

ในโวหารว่า อริยโวหาร ๘ อนริยโวหาร ๘ นี้ชื่อว่า เจตนาโวหาร. ในที่นี้ท่านหมายถึงเจตนาโวหารนี้.

อีกอย่างหนึ่ง จําเดิมตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่าคฤหัสถ์ไม่มี เจตนาว่าสมณะมีอยู่ คําว่าคฤหัสถ์ ไม่มี คําว่า สมณะ มีอยู่ บัญญัติว่า คฤหัสถ์ ไม่มี บัญญัติว่าสมณะมีอยู่ การกล่าวเรียกว่า คฤหัสถ์ ไม่มี การกล่าวเรียกว่า สมณะ มีอยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้โวหารแม้ทั้งหมด.

ในคําว่า เยสํ โข อหํ สํโยชนานํ เหตุ ปาณาติปาตี นี้ ปาณาติบาตเท่านั้น ชื่อว่า สังโยชน์ จริงอยู่ ผู้ชื่อว่าทําปาณาติบาต ก็เพราะเหตุแห่งปาณาติบาตเท่านั้น คือ เพราะมีปาณาติบาตเป็นปัจจัย แต่ที่ตรัสว่า เยสํ โข อหํ เป็นต้น ก็เพราะปาณาติบาตมีมาก.

คําว่า เตสาหํ สํโยชนานํ แปลว่า เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดขาดเครื่องผูกพัน คือ ปาณาติบาตเหล่านั้น.

คําว่า

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 94

ปหานาย สมุจฺเฉทาย ปฏิปนฺโน ความว่า เราปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่การละเพื่อประโยชน์แก่การตัดขาด ด้วยศีลสังวรทางกาย กล่าวคือ ไม่ทําปาณาติบาตนี้.

คําว่า อตฺตาปิ มํ อุปวเทยฺย ความว่า แม้ตนเอง ก็พึงติเราอย่างนี้ว่า เราบวชในศาสนาของผู้ไม่ปลงชีวิตสัตว์แม้แต่มดดํามดแดง ยังไม่อาจงดเว้น แม้เพียงจากปาณาติบาตได้ เราบวชทําไม.

คําว่า อนุวิจฺจาปิ วิฺู ครเหยฺยุํ ความว่า วิญูชน คือ บัณฑิต แม้เหล่าอื่น ใคร่ครวญ คือ พินิจพิจารณาแล้วก็พึงติเตียนอย่างนี้ว่า เขาบวชในศาสนาเห็นปานนี้แล้วยังไม่งดเว้นแม้เพียงปาณาติบาต เขาบวชทําไมกัน.

คําว่า เอตเทว โข ปน สํโยชนํ เอตํ นีวรณํ นี้ แม้จะไม่นับเนื่องเข้าในสังโยชน์ ๑๐ นิวรณ์ ๕ แต่ก็ตรัสด้วยอํานาจเทศนาว่า เป็นเครื่องปิดกั้น ๘ อย่าง เครื่องปิดกั้น ๘ อย่างนั้น ตรัสเรียกว่า สังโยชน์บ้าง นีวรณ์บ้าง ก็เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องผูกไว้ และเพราะอรรถว่า ปกปิดไว้ในวัฏฏะอย่างนี้.

คําว่า อาสวา คือ อวิชชาสวะ อย่างเดียวย่อมเกิดเพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ.

คําว่า วิฆาตปริฬาหา แปลว่า ความคับแค้น และความเร่าร้อน.

ในคํานั้น ทรงถือเอาทุกข์เพราะกิเลส และทุกข์ที่เป็นวิบาก ด้วยศัพท์ว่า วิฆาต.

ทรงถือเอาความเร่าร้อนที่เป็นวิบาก ด้วยศัพท์ว่า ปริฬาห.

บัณฑิตพึงทราบความในที่ทุกแห่งโดยอุบายอย่างนี้.

แต่ความแผกกัน มีดังนี้

พึงประกอบความในวาระทั้งหมดอย่างนี้ว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่การละ เพื่อประโยชน์แก่การตัดขาด ด้วยศีลสังวรทางกาย กล่าวคือ อทินนาทาน (ไม่ลักทรัพย์) ด้วยศีลสังวรทางวาจา กล่าวคือ สัจวาจา (พูดคําจริง) ด้วยศีลสังวรทางวาจา กล่าวคือ ปิสุณาวาจา (ไม่พูดส่อเสียด) ด้วยศีลสังวรทางใจ กล่าวคือ อคิทธโลภะ

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 95

(ไม่หมกมุ่นและละโมบ) ด้วยศีลสังวรทางกายและทางวาจา กล่าวคือ อนินทาโรสะ (ไม่นินทาและไม่กระทบกระทั่ง) ด้วยศีลสังวรทางใจ กล่าวคือ ความไม่โกรธและคับแค้นใจด้วยศีลสังวรทางใจ กล่าวคือ ความไม่ดูหมิ่น.

ส่วนในบทเหล่านี้ว่า อตฺตาปิ มํ อุปวเทยฺย อนุวิจฺจาปิ วิฺู ครเหยฺยุํ พึงประกอบความทุกวาระ อย่างนี้ว่า

แม้ตนเองก็พึงติเตียนเราอย่างนี้ว่า เราบวชในพระศาสนาที่สอนไม่ให้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ แม้แต่เส้นหญ้า ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงอทินนาทานได้ เราบวชทําไม.

วิญูชนแม้ใคร่ครวญแล้ว ก็พึงติเตียนอย่างนี้ว่า คนที่บวชในศาสนาเห็นปานนี้แล้ว ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงแต่อทินนาทานได้ คนนี้บวชทําไม.

แม้ตนเองก็พึงติเตียนตนอย่างนี้ว่า เราบวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทํามุสาวาท แม้ด้วยมุ่งหวังให้หัวเราะ หรือหมายจะเล่น บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้ทําการพูดส่อเสียดโดยอาการทั้งปวง บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทําความโลภหรือความติดข้องแม้มีประมาณน้อย บวชในพระศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำการนินทาและกระทบกระทั่งผู้อื่น ในเมื่อแม้เขาเอาเลื่อยครูดตัว บวชในพระศาสนาที่สอนไม่ให้กระทําความโกรธและความคับแค้น แม้เมื่อตอและหนามตําเอาเป็นต้น บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้ถือตัว แม้เพียงสําคัญผิด ก็ยังไม่อาจละแม้ความสําคัญผิดได้ เราบวชทําไม.

วิญูชน แม้ใคร่ครวญก็พึงติเตียนอย่างนี้ว่า คนนี้บวชในพระศาสนาเห็นปานนี้แล้ว ยังไม่อาจละ (มุสาวาท ปิสุณาวาจา คิทธิโลภะ นินทาโรสะ โกธะ และอุปายาส) ความสําคัญผิดได้ คนนี้บวชทําไม ดังนี้.

ส่วนบทว่า อาสวา นี้ พึงทราบความเกิดแห่งอาสวะอย่างนี้ คือ อาสวะ ๓ คือ อาสวะ คือ กาม อาสวะ คือ ทิฏฐิ อาสวะ คือ อวิชชา ย่อมเกิดเพราะอทินนาทานเป็นเหตุ เกิดเพราะมุสาวาทเป็นเหตุ และเพราะปิสุณาวาจา

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 96

เป็นเหตุ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ เกิดเพราะคิทธิโลภะเป็นเหตุ อวิชชาอย่างเดียวเกิดเพราะนินทาโรสะเป็นเหตุ เกิดเพราะโกธะและอุปายาสเป็นเหตุ ก็เหมือนอย่างนั้น.

อาสวะ ๒ คือ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เกิดเพราะอติมานะเป็นเหตุ. แต่เพื่อไม่ให้ฉงนในวาระแม้ทั้ง ๘ นี้ วินิจฉัยสังเขปมีดังนี้.

ควรกล่าวว่า เราไม่อาจงดเว้นในวาระ ๔ นี้ก่อน ควรกล่าวว่า เราไม่อาจละ ในวาระเบื้องปลาย.

อวิชชาสวะอย่างเดียวเท่านั้นมีในปาณาติบาต นินทาโรสะ โกธะและอุปายาสะ.

กามาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ มีในอทินนาทาน มุสาวาท ปิสุณาวาจา.

ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะมีในคิทธิโลภะ.

ภวาสวะ อวิชชาสวะ มีในอติมานะ.

อปาณาติบาต อนทินนาทานเป็นศีลทางกาย. อมุสาวาท อปิสุณาวาจา เป็นศีลทางวาจา. ที่เหลือ ๓ เว้นอนินทาโรสะ เป็นศีลทางใจ.

แต่บุคคลย่อมขึ้งเคียดขุ่นเคืองกันด้วยกายบ้าง ขึ้งเคียดขุ่นเคืองกันด้วยวาจาบ้าง เพราะฉะนั้น อนินทาโรสะ จึงมีฐานะ ๒ คือ เป็นศีลทางกายบ้าง เป็นศีลทางวาจาบ้าง.

ถามว่า ศีลอะไร ท่านจึงกล่าวไว้ด้วยประมาณเพียงเท่านี้.

ตอบว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล. ก็การตัดขาดการตรัสถึงคฤหัสถ์ด้วยอํานาจการพิจารณาและการละ พึงทราบว่า ตรัสไว้ สําหรับภิกษุผู้อยู่ในปาฏิโมกขสังวรศีล.

เทศนาโดยพิศดาร มีดังต่อไปนี้.

บทว่า ตเมนํ ทกฺโข พึงทราบสัมพันธ์กับบทนี้ว่า อุปจฺจมฺเภยฺย (๑) ท่านอธิบายว่า คนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโค พึงโยนกระดูกนั้นไปยังสุนัข อธิบายว่า พึงโยนไปใกล้ๆ สุนัขนั้น.

บทว่า อฏฺิกงฺคลํ ร่างกระดูก คือ กระดูกอก กระดูกสันหลัง หรือ


(๑) บาลีสูตรว่า อุปจฺฉูเภยฺย.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 97

กระดูกหัว.

แท้จริงร่างกระดูกนั้น เรียกกันว่า ร่างกระดูกเพราะไม่มีเนื้อ.

คําว่า สุนิกนฺตํ นิกนฺตํ คือ ร่างกระดูกที่เฉือนขูดเนื้อออกหมดแล้ว.

อธิบายว่าเนื้อสดอันใด มีอยู่ที่กระดูกนั้น ก็ขูดเนื้อนั้นออกหมด มีแต่เพียงกระดูกเท่านั้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปราศจากเนื้อ แต่ร่างกระดูกนั้น ยังเปื้อนเลือดอยู่ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า โลหิตมกฺขิตํ ยังเปื้อนเลือด.

คําว่า พหุทุกฺขา พหุปายาสา ความว่า กามทั้งหลายชื่อว่าทุกข์มาก ก็เพราะมากด้วยทุกข์ทั้งปัจจุบันทั้งภายหน้า.

ชื่อว่า มีความคับแค้นมาก ก็เพราะมากด้วยความเศร้าหมองด้วยความคับแค้น.

คําว่า ยายํ อุเปกฺขา นานตฺตา นานตฺตสิตา ความว่า อุเบกขาในกามคุณ ๕ นี้ อันใดเรียกว่ามีสภาวะต่างๆ กัน ก็ด้วยอํานาจอารมณ์ คือ กามคุณ ๕ และเรียกว่า นานตฺตสิตา ก็เพราะอาศัยอารมณ์เหล่านั้นนั่นแล. ภิกษุเว้นขาดอุเบกขานั้นเสีย.

คําว่า เอกตฺตา เอกตฺตสิตา ได้แก่ อุเบกขาในจตุตถฌาน.

แท้จริง อุเบกขาในจตุตถฌานนั้นชื่อว่า มีสภาวะอันเดียว เพราะเกิดขึ้นในอารมณ์อันเดียวทั้งวัน.

ชื่อว่า เอกตฺตสิตา เพราะอาศัยอารมณ์อันเดียวนั้นนั่นแล.

คําว่า ยสฺส สพฺพโส โลกามิสูปาทานา อปริเสสา นิรุชฺฌนฺติ ความว่า อามิส คือ กามคุณ ๕ กล่าวคือ โลกามิสอิงอาศัยอุเบกขาอันใด ย่อมดับไปหมดสิ้นไม่หลงเหลือในอุเบกขาจตุตถฌานอันใด.

ก็คําว่า ปฺจกามคุณามิสา ได้แก่ความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจ ซึ่งมีกามคุณเป็นอารมณ์.

ก็กามคุณ ๕ นั้นนั่นแลท่านเรียกว่า อุปาทานก็มี เพราะอรรถว่า ยึดไว้.

คําว่า ตเมวูเปกฺขํ ภาเวติ ความว่า ย่อมเจริญในอุเบกขาจตุตถฌาน อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปาทานที่อาศัยโลกามิสนั้นนั่นแล.

คําว่า อุยฺเยยฺย (๑) แปลว่า พึงโดดขึ้นไป.

คําว่า


(๑) บาลีว่า อุฑฺฑเยยฺย.

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 98

อนุปติตฺวา แปลว่า ติดตาม.

คําว่า วิคจฺเฉยฺยุํ คือ พึงจิกด้วยจะงอยปาก.

คําว่า วิภเชยฺยุํ คือ ยื้อชิ้นเนื้อด้วยเล็บให้ตกไป.

คําว่า ยานํ โอโรเปยฺย (๑) คือ บรรทุกยานที่เหมาะแก่บุรุษ.

คําว่า ปวรมณิกุณฺฑลํ คือ แก้วมณีมีค่าสูง และตุ้มหูมีอย่างต่างๆ.

คําว่า สานิ หรนฺติ คือ ถือเอาสิ่งของๆ ตน.

คําว่า สมฺปนฺนผลํ คือ มีผลอร่อย.

คําว่า อุปฺปนฺนผลํ คือ ติดผล มีผลดก.

คําว่า อนุตฺตรา คือ สูงสุด มีปภัศร ปราศจากอุปกิเลส.

คําว่า อารกา อหํ ภนฺเต ความว่า ข้าพเจ้ายังห่างไกลยิ่งนักเหมือนแผ่นดินกับแผ่นฟ้า และเหมือนทะเลกับฝังนี้ฝังโน้น.

คําว่า อนาชานีเย คือ ผู้ไม่รู้เหตุแห่งการตัดขาดโวหารของคฤหัสถ์.

คําว่า อาชานียโภชนํ คือ โภชนะที่เหล่าผู้รู้เหตุพึงบริโภค.

คําว่า อนาชานียโภชนํ คือ โภชนะที่เหล่าผู้ไม่รู้เหตุพึงบริโภค.

คํานอกนั้นในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาโปตลิยสูตรที่ ๔


(๑) ม. ยานํ วา โปริเสยฺย.