พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องพระสัปปทาสเถระ [๙๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34877
อ่าน  389

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 483

๑๑. เรื่องพระสัปปทาสเถระ [๙๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 483

๑๑. เรื่องพระสัปปทาสเถระ [๙๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสัปปทาสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย จ วสฺสสตํ ชีเว" เป็นต้น.

พระเถระให้งูกัดตัว

ดังได้สดับมา กุลบุตรผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วบรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว โดยสมัยอื่นอีก กระสันขึ้น จึงคิดว่า ชื่อว่าภาวะแห่งคฤหัสถ์ ไม่ควรแก่กุลบุตรเช่นเรา แม้การดำรงอยู่ในบรรพชาแล้วตายไป เป็นความดีของเรา ดังนี้แล้ว ก็เที่ยวคำนึงหาอุบายเพื่อมรณะของตนอยู่.

ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำแต่เช้าตรู่ ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ไปสู่วิหาร เห็นงูที่โรงไฟ จึงใส่งูนั้นไว้ในหม้อใบหนึ่งปิดหม้อแล้วถือออกจากวิหาร ฝ่ายภิกษุผู้กระสัน ทำภัตกิจแล้วเดินมาเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงถามว่า "นี่อะไร ผู้มีอายุ" เมื่อพวกภิกษุตอบว่า "งู ผู้มีอายุ" จึงถามว่า "จักทำอะไรด้วยงูนี้" ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นว่า "เราจักทิ้งมัน" คิดว่า เราจักให้งูนี้กัดตัวตายเสีย จึงกล่าวว่า "นำมาเถิด กระผมจักทิ้งมันเอง" รับหม้อจากมือของภิกษุเหล่านั้นแล้ว นิ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งแล้ว ก็ให้งูนั้นกัดตน งูไม่ปรารถนาจะกัด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 484

ภิกษุนั้นเอามือล้วงลงในหม้อแล้ว คนข้างโน้นข้างนี้ เปิดปากงูแล้วสอดนิ้วมือเข้าไป งูก็ไม่กัดเธอเลย เธอคิดว่า งูนี้มิใช่งูมีพิษ เป็นงูเรือน จึงทิ้งงูนั้น แล้วได้ไปยังวิหาร.

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะเธอว่า "ผู้มีอายุ ท่านทิ้งงูแล้วหรือ".

ภิกษุกระสัน. ผู้มีอายุ นั้นจะไม่ใช่งู (พิษ) นั่นเป็นงูเรือน.

ภิกษุ. ผู้มีอายุ งู (พิษ) ทีเดียว แผ่แม่เบี้ยใหญ่ ขู่ฟู่ฟู่ พวกผมจับได้โดยยาก เพราะเหตุไร ท่านจึงว่าอย่างนี้.

ภิกษุกระสัน. ผู้มีอายุ ผมให้มันกัดอวัยวะบ้าง สอดนิ้วมือเข้าในปากบ้าง ก็ไม่อาจให้มันกัดได้.

พวกภิกษุฟังคำนั้นแล้ว ได้นิ่งเสีย.

พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้วมีชื่อว่าสัปปทาสะ

ภายหลังวันหนึ่ง ช่างกัลบกถือมีดโกน ๒ - ๓ เล่ม ไปวิหาร วางมีดโกนเล่มหนึ่งไว้ที่พื้น เอาเล่มหนึ่งปลงผมของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุกระสันนั้น จับมีดโกนเล่มที่เขาวางไว้ที่พื้นแล้ว คิดว่า จักตัดคอด้วยมีดโกนนี้ตาย จึงยืนพาดคอไว้ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งแล้ว จ่อคมมีดโกนที่ก้านคอ ใคร่ครวญถึงศีลของตน จำเดิมแต่กาลอุปสมบท ได้เห็นศีลหมดมลทินดังดวงจันทร์ปราศจากมลทินและดังดวงแก้วมณีที่ขัดดี เมื่อเธอตรวจดูศีลนั้นอยู่ ปีติเกิดแผ่ซ่านทั่วทั้งสรีระ เธอข่มปีติได้แล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 485

จึงถือมีดโกนเข้าไปท่ามกลางวิหาร ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายถามเธอว่า "ผู้มีอายุ ท่านไปไหน".

ภิกษุกระสัน. ผู้มีอายุ ผมไปด้วยคิดว่า จักเอามีดโกนนี้ตัดก้านคอตาย.

ภิกษุ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ตาย.

ภิกษุกระสัน. บัดนี้ ผมเป็นผู้ไม่ควรนำศัสตรา (๑) มา ด้วยว่าผมคิดว่า จักตัดก้านคอด้วยมีดโกนนี้ แต่ตัดกิเลสเสียสิ้นด้วยมีดโกนคือญาณ.

พวกภิกษุกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ภิกษุนี้ พยากรณ์พระอรหัตด้วยคำที่ไม่เป็นจริง" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพย่อมไม่ปลงตนจากชีวิตด้วยมือตนเอง".

ภิกษุ. พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสภิกษุนี้ว่า เป็นพระขีณาสพ ก็ภิกษุนี้ สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอย่างนั้น เหตุไรจึงกระสัน อะไรเป็นเหตุแห่งอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของภิกษุนั้น เหตุไรงูนั้นจึงไม่กัดภิกษุนั้น.

พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย งูนั้นได้เป็นทาสของภิกษุนี้ ในอัตภาพที่ ๓ จากอัตภาพนี้ก่อน มันไม่อาจจะกัดสรีระของผู้เป็นนายของตนได้.

พระศาสดาทรงบอกเหตุอย่างหนึ่งแก่ภิกษุเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ก่อน ก็ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุนั้นได้ชื่อว่า สัปปทาสะ.


(๑) นี้เป็นสำนวน หมายความว่า ฆ่าตัวตาย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 486

บุรพกรรมของพระสัปปทาสเถระ

ดังได้สดับมา ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า บุตรแห่งคฤหบดีผู้หนึ่ง ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เกิดความสลดใจจึงบรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว โดยสมัยอื่นอีก เมื่อความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น จึงบอกแก่ภิกษุผู้สหายรูปหนึ่ง สหายนั้น กล่าวโทษในภาวะแห่งคฤหัสถ์แก่เธอเนืองๆ ภิกษุนอกนี้ฟังคำนั้นแล้ว ก็ยินดียิ่งในพระศาสนา จึงนั่งขัดสมณบริขารทั้งหลายซึ่งมลทินจับในเวลาที่หน่ายในก่อน ให้หมดมลทิน ใกล้ขอบสระแห่งหนึ่ง ฝ่ายสหายของภิกษุนั้น นั่งในที่ใกล้นั้นเอง ลำดับนั้น ภิกษุนั้นกล่าวกะสหายนั้นอย่างนี้ว่า "ผู้มีอายุ ผมเมื่อสึกได้ ปรารถนาจะถวายบริขารเหล่านี้แก่ท่าน" สหายนั้นเกิดโลภขึ้น คิดว่า เราจะต้องการอะไรด้วยภิกษุนี้ผู้ยังบวชหรือสึกเสีย บัดนี้ เราจักยังบริขารทั้งหลายให้ฉิบหาย ตั้งแต่นั้นมา สหายนั้นพูดเป็นต้นว่า "ผู้มีอายุ บัดนี้จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตของพวกเรา ผู้ซึ่งมีมือถือกระเบื้อง เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวในสกุลผู้อื่น (ทั้ง) ไม่ทำการสนทนาปราศรัยกับบุตรและภรรยา" ดังนี้แล้ว ก็กล่าวคุณแห่งภาวะของคฤหัสถ์ ภิกษุนั้นฟังคำของสหายนั้นแล้ว ก็กระสันขึ้นอีก คิดว่า สหายนี้ เมื่อเรากล่าวว่า "ผมกระสัน" ก็กล่าวโทษในภาวะแห่งคฤหัสถ์ก่อน บัดนี้ กล่าวถึงคุณเนืองๆ เหตุอะไรหนอแล รู้ว่า เพราะความโลภในสมณบริขารเหล่านี้ จึงกลับจิตของตนเสียด้วยตนเองทีเดียว เพราะความที่ภิกษุรูปหนึ่งถูกตนทำให้กระสันแล้ว ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า บัดนี้ความเบื่อหน่ายจึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ด้วยประการฉะนี้ ก็สมณธรรมใดอันภิกษุนั้นบำเพ็ญมา ๒ หมื่นปีครั้งนั้น สมณธรรมนั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 487

เกิดเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของภิกษุนั้น ในกาลบัดนี้แล.

ชีวิตของผู้ปรารภความเพียรวันเดียวประเสริฐ

ภิกษุเหล่านั้นฟังเนื้อความนี้จากสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลถามยิ่งขึ้นว่า "พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ภิกษุนี้ยืนจดคมมีดโกนที่ก้านคออยู่เทียวบรรลุพระอรหัต พระอรหัตมรรคเกิดขึ้นได้โดยขณะเพียงเท่านั้น หรือหนอแล".

พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้ปรารภความเพียร ยกเท้าขึ้นวางบนพื้น เมื่อเท้ายังไม่ทันถึงฟื้นเลย พระอรหัตมรรคก็ได้เกิดขึ้น แท้จริง ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะของท่านผู้ปรารภความเพียร ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของบุคคลผู้เกียจคร้าน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๑๑. โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ.

"ผู้ใดเกียจคร้านมีความเพียรอันทราม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของท่านผู้ปรารภความเพียรมั่น ประเสริฐกว่าชีวิตของผู้นั้น".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสีโต ได้แก่ บุคคลผู้ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยวิตก ๓ มีกามวิตกเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 488

บทว่า หีนวีริโย คือ ไร้ความเพียร.

บาทพระคาถาว่า วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ ความว่า ผู้ปรารภความเพียรมั่นคง ซึ่งสามารถยังฌาน ๒ ประการให้เกิด.

คำที่เหลือ เช่นเดียวกับคำมีในก่อนนั่นแล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระสัปปทาสเถระ จบ.