พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ [๗๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34858
อ่าน  376

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 374

๓. เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ [๗๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 374

๓. เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ [๗๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านเพฬัฏฐสีสะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ" เป็นต้น.

ทรงบัญญัติสันนิธิการสิกขาบท

ดังได้สดับมา ท่านนั้นเที่ยวบิณฑบาตถนนหนึ่ง ภายในบ้าน ทำภัตกิจแล้ว เที่ยวถนนอื่นอีก ถือเอาข้าวตากนำไปวิหารเก็บไว้ คิดเห็นว่า ขึ้นชื่อว่าการเที่ยวแสวงหาบิณฑบาตร่ำไป เป็นทุกข์ ยังวันเล็กน้อยให้ล่วงไป ด้วยสุขในฌานแล้ว เมื่อต้องการด้วยอาหารมีขึ้น ย่อมฉันข้าวตากนั้น พวกภิกษุรู้เข้าติเตียนแล้ว ทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระศาสดาแม้ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เว้นการสั่งสมต่อไปในเพราะเหตุนั้นแล้ว ก็ต่อเมื่อจะทรงประกาศ ความหาโทษมิได้แห่งพระเถระ เพราะการเก็บอาหารนั้น อันพระเถระอาศัยความมักน้อย ทำเมื่อยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๓. เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ เย ปริญฺาตโภชนา สุญฺโต อนิมิตฺโต จ วิโมกฺโข เยส โคจโร อากาเสว สกุนฺตานํ คติ เตสํ ทุรนฺนยา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 375

"คติของชนทั้งหลายผู้หาสั่งสมมิได้ ผู้กำหนดรู้โภชนะ มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์เป็นอารมณ์ ไปตามยาก เหมือนทางไปของฝูงนกในอากาศฉะนั้น".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า สนฺนิจโย (๑) สั่งสมมี ๒ อย่าง คือสั่งสมกรรม ๑ สั่งสมปัจจัย ๑ ในการสั่งสม ๒ อย่างนั้น กรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ชื่อว่าสั่งสมกรรม ปัจจัย ๔ ชื่อว่าสั่งสมปัจจัย ในสั่งสม ๒ อย่างนั้น สั่งสมปัจจัยย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อยู่ในวิหาร เก็บน้ำอ้อยก้อนหนึ่ง เนยใสสักเท่าเสี้ยวที่ ๔ และข้าวสารทะนานหนึ่งไว้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เก็บไว้ยิ่งกว่านั้น สั่งสม ๒ อย่างนี้ของชนเหล่าใด ไม่มี.

บทว่า ปริญฺาตโภชนา คือกำหนดรู้โภชนะด้วยปริญญา ๓ ก็การรู้โภชนะมีข้าวต้มเป็นต้น โดยความเป็นข้าวต้มเป็นต้น ชื่อว่า ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยอันรู้อยู่แล้ว) ส่วนการกำหนดรู้โภชนะ ด้วยอำนาจสำคัญเห็นในอาหารปฏิกูล ชื่อว่า ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยอันไตร่ตรอง) ญาณเป็นเหตุถอนความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในโภชนาหารออกเสีย ชื่อว่า ปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยอันละเสีย) ชนเหล่าใด กำหนดรู้โภชนะด้วยปริญญา ๓ นี้.

ในบาทพระคาถาว่า สุญฺโต อนิมิตฺโต จ นี้ แม้อัปปณิหิตวิโมกข์ ก็ทรงถือเอาด้วยแท้ เหตุว่า บทเหล่านั้นทั้ง ๓ เป็นชื่อแห่งพระนิพพานนั่นแล


(๑) บาลี เป็น สนฺนิจฺจโย.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 376

จริงอยู่ พระนิพพานท่านกล่าวว่าสุญญตวิโมกข์ เหตุว่า ว่าง เพราะไม่มีแห่งราคะโทสะโมหะ และพ้นจากราคะโทสะโมหะนั้น พระนิพพานนั้น ท่านกล่าวว่าอนิมิตตวิโมกข์ เหตุว่า หานิมิตมิได้ เพราะไม่มีแห่งนิมิตมีราคะเป็นต้น และพ้นแล้วจากนิมิตเหล่านั้น อนึ่งท่านกล่าวว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ เหตุว่า มิได้ตั้งอยู่ เพราะไม่มีแห่งปณิธิ คือกิเลสเป็นเหตุตั้งอยู่มีราคะเป็นต้น และพ้นแล้วจากปณิธิเหล่านั้น วิโมกข์ ๓ อย่างนั้น เป็นอารมณ์ของชนเหล่าใด ผู้ทำพระนิพพานนั้นให้เป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจเข้าสมาบัติ สัมปยุตด้วยผลจิตอยู่.

บาทพระคาถาว่า คติ เตสํ ทุรนฺวยา ความว่า เหมือนอย่างว่า ทางไปของฝูงนกผู้ไปแล้วโดยอากาศไปตามยาก คือไม่อาจจะรู้ เพราะไม่เห็นรอยเท้า ฉันใด คติของชนทั้งหลายผู้หาสั่งสม ๒ อย่างนี้มิได้ ผู้กำหนดรู้โภชนะด้วยปริญญา ๓ นี้ และผู้มีวิโมกข์มีประการอันกล่าวแล้วนี้เป็นอารมณ์ ก็ไปตามยาก คือไม่อาจบัญญัติ เพราะไม่ปรากฏแห่งการไปว่า ไปแล้ว ในส่วน ๕ นี้ คือภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ โดยส่วนชื่อนี้ๆ ฉันนั้นแล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระเพฬัฎฐสีสเถระ จบ.