พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องหมอชีวก [๗๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34856
อ่าน  463

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 365

๗. อรหันตวรรควรรณนา

๑. เรื่องหมอชีวก [๗๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 365

๗. อรหันตวรรควรรณนา

๑. เรื่องหมอชีวก [๗๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในสวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงปรารภปัญหาอันหมอชีวกทูลถามแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "คตทฺธิโน" เป็นต้น.

พระเทวทัตทำโลหิตุปบาทกรรม

เรื่องหมอชีวก ท่านให้พิสดารในขันธกะแล้วแล.

ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระเทวทัตเป็นผู้ร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นสู่เขาคิชฌกูฎ มีจิตคิดร้าย คิดว่า เราจักปลงพระชนม์ พระศาสดา จึงกลิ้งหินลง ยอดเขา ๒ ยอดรับหินนั้นไว้ สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้น กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระโลหิตให้ห้อแล้ว เวทนากลับเป็นไปแล้ว.

หมอชีวกทำการพยาบาลแล้ว

ภิกษุทั้งหลายนำพระศาสดาไปยังสวนมัททกุจฉิ พระศาสดามีพระประสงค์จะเสด็จ แม้จากสวนมัททกุจฉินั้นไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก จึงตรัสว่า "เธอทั้งหลาย จงนำเราไปในสวนมะม่วงของหมอชีวกนั้น" พวกภิกษุได้พาพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวกแล้ว หมอชีวกทราบเรื่องนั้น ไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายเภสัชขนานที่ชะงัด เพื่อประโยชน์กำชับแผล พันแผลเสร็จแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระศาสดาว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 366

"พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ประกอบเภสัชแก่มนุษย์ผู้หนึ่งภายในพระนคร ข้าพระองค์จักไปยังสำนักของมนุษย์นั้น แล้วจัก (กลับ) มาเฝ้า นี้จงตั้งอยู่โดยนิยามที่ข้าพระองค์พันไว้นั่นแหละ จนกว่าข้าพระองค์จะกลับมาเฝ้า".

เขาไปทำกิจที่ควรทำแก่บุรุษนั้นแล้ว กลับมาในเวลาปิดประตู จึงไม่ทันประตู ทีนั้น เขาได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า แย่จริง เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัด พันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้า ดุจคนสามัญ (๑) เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น เมื่อแผลนั้น อันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า จักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง.

แผลของพระศาสดาหายสนิท

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า รับสั่งว่า "อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู ก็เขาคิดว่า เวลานี้ เป็นเวลาแก้แผล เธอจงแก้แผลนั้น" พระเถระแก้แล้ว แผลหายสนิท ดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้.

พระอรหันต์ไม่มีความเร่าร้อนใจ

หมอชีวกมายังสำนักพระศาสดาโดยเร็ว ภายในอรุณนั่นแล ทูลถามว่า "พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่" พระศาสดาตรัสว่า "ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่ควงโพธิพฤกษ์นั่นแล" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.


(๑) อญฺตรสฺส แปลว่า คนใดคนหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 367

๑. คตทฺธิโน วิโสกสฺส วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส ปริฬาโห น วิชฺชติ.

"ความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว หาความเศร้าโศกมิได้ หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ผู้ละกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้แล้ว".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คตทฺธิโน ได้แก่ ผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว ชื่อว่าทางไกลมี ๒ อย่าง คือทางไกล คือกันดาร ทางไกล คือวัฏฏะ บรรดาทางไกล ๒ อย่างนั้น ผู้เดินทางกันดาร ยังไม่ถึงที่ๆ คนปรารถนาเพียงใดก็ชื่อว่า ผู้เดินทางไกลเรื่อยไปเพียงนั้น แต่เมื่อทางไกลนั้นอันเขาถึงแล้ว ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า มีทางไกลอันถึงแล้ว ฝ่ายสัตว์ทั้งหลายแม้ผู้อาวัฏฏะ ตนยังอยู่ในวัฏฏะเพียงใด ก็ชื่อว่า ผู้เดินทางไกลเรื่อยไปเพียงนั้น มีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร แก้ว่า เพราะ ความที่วัฏฏะอันตนยังให้สิ้นไปไม่ได้ แม้พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ก็ชื่อว่า ผู้เดินทางไกลเหมือนกัน ส่วนพระขีณาสพยังวัฏฏะให้สิ้นไปได้แล้วดำรงอยู่ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า มีทางไกลอันถึงแล้ว แก่พระขีณาสพนั้นผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว.

บทว่า วิโสกสฺส คือชื่อว่า ผู้หาความเศร้าโศกมิได้ เพราะความที่ความเศร้าโศกมีวัฏฏะเป็นมูลปราศจากไปแล้ว.

บาทพระคาถาว่า วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ คือผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 368

บาทพระคาถาว่า สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส คือชื่อว่า ผู้ละกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้ เพราะความที่กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่างอันตนละได้แล้ว.

บาทพระคาถาว่า ปริฬาโห น วิชฺชติ ความว่า ความเร่าร้อน มี ๒ อย่าง คือความเร่าร้อนเป็นไปทางกายอย่าง ๑ ความเร่าร้อนเป็นไปทางจิตอย่าง ๑ บรรดาความเร่าร้อน ๒ อย่างนั้น ความเร่าร้อนเป็นไปทางกาย ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ ด้วยสามารถแห่งผัสสะมีหนาวและร้อนเป็นต้น ยังไม่ดับเลย หมอชีวกทูลถามหมายถึง ความเร่าร้อนอันเป็นไปทางกายนั้น แต่พระศาสดาทรงพลิกแพลงพระเทศนา ด้วยสามารถแห่งความเร่าร้อนอันเป็นไปทางจิต เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ฉลาดในเทศนาวิธี เพราะความที่พระองค์เป็นพระธรรมราชาจึงตรัสว่า "ชีวก ผู้มีอายุ ก็โดยปรมัตถ์ ความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพผู้เห็นปานนั้น".

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องหมอชีวก จบ.