พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. เรื่องพระราธเถระ [๖๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34844
อ่าน  401

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 286

๖. บัณฑิตวรรควรรณนา

๑. เรื่องพระราธเถระ [๖๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 286

๖. บัณฑิตวรรควรรณนา

๑. เรื่องพระราธเถระ [๖๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านพระราธะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "นิธีนํว ปวตฺตารํ" เป็นต้น.

ราธพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช

ได้ยินว่า พระราธะนั้น ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ได้เป็นพราหมณ์ตกยากอยู่ในกรุงสาวัตถี เขาคิดว่า เราจักเลี้ยงชีพอยู่ในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ไปสู่วิหาร ดายหญ้า กวาดบริเวณ ถวายวัตถุมีน้ำล้างหน้าเป็นต้น อยู่ในวิหารแล้ว ภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์เธอแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ปรารถนาจะให้บวช เขาเมื่อไม่ได้บวช จึงซูบผอมแล้ว.

ราธพราหมณ์มีอุปนิสัยพระอรหัต

ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ว่า เหตุอะไรหนอ ดังนี้แล้ว ทรงทราบว่า ราธพราหมณ์จักเป็นพระอรหันต์ ในเวลาเย็น เป็นเหมือนเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จไปสู่สำนักของ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 287

พราหมณ์แล้วตรัสถามว่า "พราหมณ์ เธอเที่ยวทำอะไรอยู่" เขากราบทูลว่า "ข้าพระองค์ทำวัตรปฏิวัตร ( * ) แก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า".

พระศาสดา. เธอได้การสงเคราะห์จากสำนักของภิกษุเหล่านั้นหรือ.

พราหมณ์. ได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้แต่เพียงอาหาร แต่ท่านไม่ให้ข้าพระองค์บวช.

พระสารีบุตรเป็นผู้กตัญญูกตเวที

พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามความนั้นแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใครๆ ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่บ้างหรือ" พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ระลึกได้ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ให้คนถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ที่เขานำมาเพื่อตน ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้" เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "สารีบุตร ก็การที่เธอเปลื้องพราหมณ์ผู้มีอุปการะอันกระทำแล้วอย่างนั้น จากทุกข์ ไม่ควรหรือ" ท่านกราบทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักให้เขาบวช" จึงให้พราหมณ์นั้นบวชแล้ว.

พราหมณ์บวชแล้วเป็นคนว่าง่าย

อาสนะที่สุดแห่งอาสนะในโรงฉันย่อมถึงแก่ท่าน ท่านลำบากอยู่ ด้วยอาหารวัตถุมีข้าวยาคูและภัตเป็นต้น พระเถระพาท่านหลีกไปสู่ที่จาริกแล้ว


( * ) ขยายความว่า คำว่า วตฺตปฺปฏิวตฺตํ (วัตรปฏิวัตร) แปลว่า ทำวัตรและวัตรตอบ ส่วน วตฺตปฏิปตฺติํ (วัตรปฏิบัติ) แปลว่า ปฏิบัติตามวัตร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 288

กล่าวสอน พร่ำสอนท่านเนืองๆ ว่า "สิ่งนี้ คุณควรทำ สิ่งนี้ คุณไม่ควรทำ" เป็นต้น ท่านได้เป็นผู้ว่าง่าย มีปกติรับเอาโอวาทโดยเคารพแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปฏิบัติตามคำที่พระเถระพร่ำสอนอยู่ โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถระพาท่านไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมนั่งแล้ว.

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกะท่านแล้ว ตรัสว่า "สารีบุตร อันเตวาสิกของเธอเป็นผู้ว่าง่ายแลหรือ".

พระเถระ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า เธอเป็นผู้ว่าง่ายเหลือเกิน เมื่อโทษไรๆ ที่ข้าพระองค์แม้กล่าวสอนอยู่ ไม่เคยโกรธเลย.

พระศาสดา. สารีบุตร เธอเมื่อได้สัทธิวิหาริกเห็นปานนี้ จะพึงรับได้ประมาณเท่าไร.

พระเถระ. ข้าพระองค์พึงรับได้แม้มากทีเดียว พระเจ้าข้า.

พวกภิกษุสรรเสริญพระสารีบุตรและพระราธะ

ภายหลังวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระเป็นผู้กตัญญูกตเวที ระลึกถึงอุปการะสักว่าภิกษาทัพพีหนึ่ง ให้พราหมณ์ตกยากบวชแล้ว แม้พระราธเถระก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท ย่อมได้ท่านผู้ควรแก่การให้โอวาทเหมือนกันแล้ว".

พระศาสดาทรงแสดงอลีนจิตตชาดก

พระศาสดาทรงสดับกถาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ถึงในกาลก่อน สารีบุตรเป็นผู้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 289

กตัญญูกตเวทีเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว เพื่อจะประกาศความนั้น จึงตรัสอลีนจิตตชาดก (๑) ในทุกนิบาตนี้ ให้พิสดารว่า.

"เสนาหมู่ใหญ่อาศัยเจ้าอลีนจิตตกุมาร ร่าเริงทั่วกันแล้ว ได้ให้ช้างจับพระเจ้าโกศลทั้งเป็นผู้ไม่พอพระทัยด้วยราชสมบัติ ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสัยอย่างนี้ เป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว เจริญกุศลธรรมอยู่ เพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ".

ได้ยินว่า ช้างตัวหนึ่งเที่ยวไปตัวเดียว รู้อุปการะที่พวกช่างไม้ทำแล้วแก่ตน โดยภาวะคือทำเท้าให้หายโรค แล้วให้ลูกช้างตัวขาวปลอด ในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรเถระแล้ว.

ภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายอย่างพระราธะ

พระศาสดาครั้นตรัสชาดกปรารภพระเถระอย่างนั้นแล้ว ทรงปรารภพระราธเถระ ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษกล่าวสอนอยู่ ก็ไม่ควรโกรธ อนึ่ง ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้ฉะนั้น ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า.


(๑) ข. ชา. ๒๗/ข้อ ๑๖๑. อรรถกถา. ๓/๒๓.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 290

๑. นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ นิคฺคยฺหวาทิํ เมธาวิํ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย.

"บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะ ชี้โทษ ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต (เพราะว่า) เมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มี โทษที่ลามก".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิธีนํ ได้แก่ หม้อแห่งขุมทรัพย์อันเต็มด้วยเงินทองเป็นต้น ซึ่งเขาฝังเก็บไว้ในที่นั้นๆ.

บทว่า ปวตฺตารํ คือเหมือนอย่างผู้ทำความอนุเคราะห์คนเข็ญใจ ซึ่งเป็นอยู่โดยฝืดเคือง แล้วชักชวนว่า "ท่านจงมา เราจักชี้อุบายเลี้ยงชีพโดยสะดวกแก่ท่าน" ดังนี้แล้ว นำไปยังที่ขุมทรัพย์แล้วเหยียดมือออกบอกว่า "ท่านจงถือเอาทรัพย์นี้เลี้ยงชีพตามสบายเถิด".

วินิจฉัยในบทว่า วชฺชทสฺสินํ ภิกษุผู้ชี้โทษมี ๒ จำพวก คือภิกษุคอยแส่หาโทษ ด้วยคิดว่า เราจักข่มภิกษุนั้นด้วยมารยาทอันไม่สมควร หรือด้วยความพลั้งพลาดอันนี้ในท่ามกลางสงฆ์ ดังนี้ จำพวก ๑ ภิกษุผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชูด้วยการแลดูโทษนั้นๆ เพื่อประโยชน์จะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อต้องการจะได้ตามถือเอาสิ่งที่รู้แล้ว เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีลเป็นต้นแก่ผู้นั้น จำพวก ๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 291

ภิกษุจำพวกหลังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ ในบทว่า วชฺชทสฺสินํ นี้ คนเข็ญใจถูกผู้อื่นคุกคามก็ดี ตีก็ดี ชี้ขุมทรัพย์ ให้ว่า "แกจงถือเอาทรัพย์นี้" ย่อมไม่ทำความโกรธ มีแต่ปราโมทย์อย่างเดียว ฉันใด เมื่อบุคคลเห็นปานดังนั้น เห็นมารยาทมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี แล้วบอกอยู่ ผู้รับบอกไม่ควรทำความโกรธ ควรเป็นผู้ยินดีอย่างเดียว ฉันนั้น ควรปวารณาทีเดียวว่า "ท่านเจ้าข้า กรรมอันใหญ่ อันท่านผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์ของกระผมแล้ว สั่งสอนอยู่กระทำแล้ว แม้ต่อไป ท่านพึงโอวาทกระผม" ดังนี้.

บทว่า นิคฺคยฺหวาทิํ ความว่า ก็อาจารย์บางท่านเห็นมารยาทอันมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี ของพวกศิษย์มีสัทธิวิหาริกเป็นอาทิแล้ว ไม่อาจเพื่อจะพูด ด้วยเกรงว่า ศิษย์ผู้นี้อุปัฏฐากเราอยู่ด้วยกิจวัตร มีให้น้ำบ้วนปากเป็นต้นแก่เราโดยเคารพ ถ้าเราจักว่าเธอไซร้ เธอจักไม่อุปัฏฐากเรา ความเสื่อมจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้ ย่อมหาชื่อว่าเป็นผู้กล่าวนิคคหะไม่ เธอผู้นั้นชื่อว่า เรี่ยรายหยากเยื่อลงในศาสนานี้. ส่วนอาจารย์ใด เมื่อเห็นโทษปานนั้นแล้ว คุกคาม ประณาม ลงทัณฑกรรม ไล่ออกจากวิหาร ตามสมควรแก่โทษ ให้ศึกษาอยู่ อาจารย์นั้นชื่อว่า ผู้กล่าวนิคคหะ แม้เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. สมจริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ว่า "ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวข่มๆ ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวยกย่องๆ ผู้ใดเป็นสาระ ผู้นั้นจักดำรงอยู่ได้".

บทว่า เมธาวิํ คือผู้ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 292

บทว่า ตาทิสํ เป็นต้น ความว่า บุคคลพึงคบ คือพึงเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตเห็นปานนั้น เพราะเมื่ออันเตวาสิกคบอาจารย์เช่นนั้นอยู่ คุณอย่างประเสริฐย่อมมี โทษที่ลามกย่อมไม่มี คือมีแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเสีย.

ในที่สุดเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระราธเถระ จบ.