จุนทิสูตร (ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ)

 
chatchai.k
วันที่  15 ก.ค. 2564
หมายเลข  34659
อ่าน  255

วันหนึ่งทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป ไม่รู้ไม่เห็นว่ามีสิ่งอะไรเกิดขึ้นต่อไปอีก ในโลกนี้ และโลกใหม่ที่จะไปสู่ ในขณะนี้ก็ไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่มีเหตุที่จะไปสู่โลกใหม่นั้นแล้ว แต่ตราบใดที่ยังอยู่ในโลกนี้ ก็ยังไม่สามารถรู้แน่ว่าจะไปสู่โลกไหน ต้องแล้วแต่กรรมของผู้ที่ได้กระทำไว้ ซึ่งมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ย. 2566

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จุนทิสูตร ข้อ ๓๒ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ราชกุมารีชื่อว่าจุนที แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดาของหม่อมฉัน กล่าวอย่างนี้ว่า หญิงหรือชายเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ดังนี้ หม่อมฉันจึงขอทูลถามว่า

ผู้ที่เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในสงฆ์เช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในศีลเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จุนที สัตว์ที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใส ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนเสียซึ่งความอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ นิพพานบัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใส ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ฯ

หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของพระตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

ศีลมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว คือ ศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าศีลเหล่านั้น ชนเหล่าใดย่อมทำให้บริบูรณ์ในอริยกันตศีล ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ฯ

บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิเนยยบุคคลชั้นเยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศอันปราศจากราคะ เป็นที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศ บันเทิงใจอยู่ ฯ

จบ สูตรที่ ๒

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ย. 2566

ท่านที่อยากจะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ที่พระวิหารเวฬุวัน หรือที่ พระวิหารเชตวัน ก็จะได้ฟังจากพระสูตรนี้ คือ จุนทิสูตร ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

ไม่ว่าในกาลสมัยไหน แม้ว่าจะ ๒๕๐๐ กว่าปีผ่านไปแล้ว ข้อความที่ ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำไว้ และท่านพระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำสืบๆ ต่อกันมา ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอกาลเวลาที่จะถึงอีกสมัยหนึ่งของพระพุทธเจ้า อีกพระองค์หนึ่ง ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ข้อความก็ชัดเจน คือ ถ้าเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้ที่ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นก็ย่อมไม่เกิด ในอบายภูมิ

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ