ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๑

 
khampan.a
วันที่  6 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34360
อ่าน  1,587

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๑
* *



~ บรรพชิตต้องไม่ใช่คฤหัสถ์ บรรพชิตจะทำกิจของคฤหัสถ์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าได้สละชีวิตทั้งหมดที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาพระธรรมและประพฤติตามพระวินัย ถ้าพระภิกษุใดไม่ศึกษาพระธรรมแต่คิดจะทำอย่างอื่นและไม่ประพฤติตาม
พระวินัย เช่น จะรับเงินและทอง คนนั้นก็ไม่ใช่ภิกษุ


~ ทุกคนมักจะคิดถึงความตายในลักษณะที่พูดกันว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ได้ อาจจะเป็นเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ ก็ได้ แต่ถ้าคิดอย่างนั้นจริงๆ ทำไมยังโกรธคนอื่น ซึ่งเมื่อท่านตายแล้ว หมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ท่านก็จะไม่ได้พบกับบุคคลอื่นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่า แต่ละบุคคลก็เป็นเพียงจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ท่านจะมีแต่กิเลสของท่านเองในความคิดของตัวเองเท่านั้น ที่จะทำให้ภพต่อไปท่านยังคงเป็นผู้ที่มีความผูกโกรธ มีการไม่ให้อภัย ตามที่สะสมไว้ เพราะว่ายังไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ ถึงพระธรรมที่ละเอียดและเป็นประโยชน์กับแต่ละท่านซึ่งควรจะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม

~ การสละความเห็นแก่ตัวขั้นอภัยทาน (ให้อภัย) ทำให้สละความคิดร้าย สละความแค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น

~ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นตนเองเท่านั้นนำทุกข์มาให้แก่ตนเอง ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่สิ่งอื่น จะโทษใครไม่ได้เลย นอกจากอวิชชา (ความไม่รู้) นอกจากโลภะ (ความติดข้อง) นอกจากอกุศลของตนเองซึ่งสะสมมา

~ อกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น ก็ยังจะสะสมเพิ่มกำลังขึ้นเรื่อยๆ

~ ยังโกรธใครบ้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่เป็นสหายธรรม ก็อาจจะขุ่นเคืองใจบ้างก็ได้ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ลืมหรือยัง? ถ้ายังไม่ลืม แล้วที่เรียนเรื่อง "เมตตา" อยู่ที่ไหน?

~ ทุกคนย่อมกระทำสิ่งที่ไม่ควรและไม่เหมาะสม เพราะอวิชชา (ความไม่รู้) ทั้งนั้น ถ้าเป็นวิชชา (ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก) แล้ว จะไม่ทำอย่างนั้นเลย แต่เมื่อเป็นอวิชชา ย่อมทำทุกอย่างที่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ทางแก้ คือ ควรที่จะให้ทุกคนเกิดวิชชามีความเข้าใจถูก เพื่อที่ว่า จะได้มีกาย วาจาและใจ ที่ถูกต้อง

~ ในขณะที่ฟังพระธรรม จะคิดเรื่องธรรม จะพิจารณา จะเพิ่มความเข้าใจขึ้น และถ้าฟังบ่อยๆ ฟังเป็นประจำ วันหนึ่งๆ มีโอกาสจะคิดถึงเรื่องธรรม ซึ่งปกติแล้วนอกจากเวลาฟังก็มักจะคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งๆ มีโอกาสจะฟังมาก ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องของธรรมมาก และถ้าฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยแล้ว เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็ยังอาจจะคิดเรื่องธรรมแทนที่จะคิดเรื่องอื่นก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของการสะสม ซึ่งควรที่จะไม่ประมาทเลย

~ ประมาทไม่ได้เลย ขณะใดก็ตามที่เป็นโอกาสที่กุศลจิตจะเกิด ถ้าทิ้งโอกาสนั้น พลาดโอกาสนั้น โอกาสของกุศล ก็หมดไป แต่ละหนึ่งขณะๆ มากไหม เพราะฉะนั้น ก็ฟังพระธรรม เพื่อให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่มั่นคงในกุศล

~ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมไม่กล้าที่จะทำ และ ถ้าไม่ทิ้งสิ่งที่ผิดโดยเร็ว ก็จะสะสมสิ่งที่ผิดนั้นติดตามไปอีกมาก เพราะฉะนั้น คนที่มีความเข้าใจถูกต้อง ก็จะทำสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่หวั่นไหว

~ การศึกษาพระธรรมทั้งหมด ก็จะละคลายความไม่รู้ และก็ละคลายอกุศลทั้งหลายซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะนอกจากละชั่ว แล้วก็บำเพ็ญความดี ก็ยังชำระจิตให้บริสุทธิ์จากการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ด้วย

~ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีกว่าจะมีแต่ละคำให้เราได้เข้าใจ เพื่อตัวเราที่จะไม่เป็นอกุศล ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลงสารพัดอย่างตั้งแต่เล็กน้อยที่สุดจนถึงใหญ่ที่สุด การฟังพระธรรม ก็เป็นบุญ (สภาพที่ชำระจิตให้สะอาด) เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ความดี ถ้าเข้าใจ เมื่อไหร่ก็เกิดได้ คิดดีกับคนอื่นได้ไหม? แค่นั้นก็เป็นบุญ ไม่ใช่คิดร้ายกับคนอื่น

~ ความโกรธเป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตรายของตนเอง คนที่ถูกโกรธไม่เดือดร้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้น กิเลสของตนเองที่เกิดกำลังทำร้ายตนเอง และจะสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เป็นผู้ที่โกรธต่อไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาจจะผูกโกรธเอาไว้นานด้วย และอาจจะถึงขั้นที่ไม่ยอมให้อภัย

~ ทุกอย่างที่มีความจริง มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น อย่างเช่นความโกรธ เวลาเกิดขึ้นรู้เลย หยาบกระด้าง ขณะนั้นผิดจากธรรมดาปกติ วันที่ไม่โกรธก็เป็นคนดี สนุกสนานรื่นเริง แต่พอโกรธเกิดขึ้นมา หงุดหงิด ขุ่นเคือง หยาบกระด้าง และกายวาจาก็แข็งกร้าว อาจจะมีการประทุษร้าย นั่นคือ ลักษณะอาการของสภาพธรรมที่เป็นความโกรธ ไม่มีใครบังคับบัญชาธรรมได้เลย

~ การที่กรรมจะให้ผลนั้น ไม่ผิดตัวเลย กรรมเป็นธรรมที่ยุติธรรมที่สุดในการให้ผล สิ่งที่ไม่ดีไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย แต่ทำไมจึงเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นได้ ก็ต้องมีเหตุ เพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วนั่นเองถึงคราวให้ผล จึงทำให้ผลที่ไม่ดีเกิดขึ้น

~ จากโลกนี้ไปจะเอาอะไรไปบ้าง ใครที่มีมรดกมากมายมหาศาลเอาไปได้ไหม? เอาไปได้เฉพาะความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความดีบ้าง ความชั่วบ้าง แต่ความเข้าใจถูกความเห็นถูก ถ้าไม่มีการฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางที่จะมีสิ่งนี้คือความเข้าใจถูกเห็นถูกอยู่ในใจ จนถึงชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป

~ ใจสงบเท่าไหร่ กาย วาจา ก็สงบเท่านั้น มีความเข้าใจธรรมเท่าไหร่ ใจก็สงบเท่านั้น เมื่อใจสงบ กาย วาจาซึ่งเกิดจากใจที่สงบ ก็สงบ

~ อีกไม่นาน ทุกคนก็จะหายไปจากโลกนี้ ใครจะไปก่อน ใครจะไปทีหลัง ช้าหรือเร็วนั้น อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าคิดก็คือว่าจากที่ไม่เคยเป็นคนนี้ แล้วก็มาเป็นคนนี้ แล้วก็จะหมดสิ้นการเป็นบุคคลนี้ ทุกคนเหมือนกันหมด แต่ระหว่างที่ยังเป็นบุคคลนี้อยู่ ยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ ทำอะไร?

~ ต้องเป็นกุศลทั้งหมด จึงจะเป็นธรรมที่เป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการที่จะให้กุศลเกิดขึ้น แทนอกุศล อกุศลไม่ต้องทำอะไรเลย เกิดบ่อยๆ เกิดเรื่อยๆ เกิดขึ้นขัดขวางการกระทำกุศลหลายประการ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะทำกุศลแต่ละครั้ง จะเห็นได้ว่า จะต้องมีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล

~ ที่พึ่งจริงๆ ของการมีชีวิตในโลกนี้ ก็คือ มีโอกาสได้ยิน ได้ฟังสิ่งที่จะทำให้เป็นคนดียิ่งขึ้น

~ อันตรายที่มองไม่เห็นยิ่งกว่าอันตรายอื่น ก็คือ ชาวพุทธที่เข้าใจว่าตัวเองนับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เข้าใจธรรม ก็คล้อยตามสิ่งที่ผิดทั้งหมด โดยไม่เห็นว่า นั่น เป็นภัยที่ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา


* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๑๐





...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Nataya
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kukeart
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
petsin.90
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สิริพรรณ
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

กราบนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณ ยินดีในกุศล อ.คำปั่นด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 7 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 7 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ