คำที่ทำให้พ้นจากความเห็นผิด

 
unnop.h
วันที่  18 พ.ค. 2564
หมายเลข  34237
อ่าน  639

* ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือมิจฉาทิฏฐิ คือทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกที่มีโทษมากที่สุด

* เมื่อทิฏฐิเจตสิกเกิดกับจิต ก็จะปรุงแต่งให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นเป็นไปผิดทั้งสิ้น เช่น ความคิดก็ผิด ความเพียรก็ผิด ความตั้งมั่นก็ผิด จึงดำเนินไปในหนทางที่ผิด

* ความเห็นผิดทำให้เกิดทุกข์โทษต่างๆ ตามกำลังของความเห็นผิดนั้น เช่น

- ถ้ามีความเห็นผิดอย่างมาก ว่ามารดาบิดาไม่มีคุณ บุญบาปไม่มี ผลของบุญบาปไม่มี ก็จะกระทำอกุศลกรรมหนักได้โดยง่าย และต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย อย่างมาก เช่น ทุกข์ในอบายภูมิ

- ถ้ามีความเห็นผิดในหนทางของการปฏิบัติธรรม คือไม่เข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แต่มีความเป็นตัวตนที่จะทำตามวิธีการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นการทำลายพระธรรมคำสอนให้ลบเลือน อันตรธานไป ซึ่งเป็นโทษอย่างยิ่ง

- ความเห็นผิดที่เป็นสามัญ เป็นพื้นฐานของปุถุชนทั่วไป ก็คือความเห็นผิดว่ามีตัวเรา ซึ่งทำให้มีความเห็นแก่ตัว และทำทุกอย่างเพื่อตัว แม้ในทางทุจริตก็อาจจะกระทำได้ จึงนำมาซึ่งโทษภัย

* คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณอันประเสริฐยิ่ง เพราะทำให้มีความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถดับความเห็นผิดได้หมดสิ้น กิเลสและทุกข์ทั้งหลาย ก็จะลดลงไปตามลำดับ จนถึงความสิ้นทุกข์คือไม่เกิดอีกเลย


โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ