[คำที่ ๕๐๕] โสตพฺพ

 
Sudhipong.U
วันที่  25 เม.ย. 2564
หมายเลข  34128
อ่าน  483

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โสตพฺพ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

โสตพฺพ อ่านตามภาษาบาลีว่า โส - ตับ - พะ มาจากคำว่า สุ (ลงในความหมายว่า ฟัง แปลง อุ เป็น โอ) กับคำว่า ตพฺพ มีความหมายว่า ควร หรือ พึง รวมกันเป็น โสตพฺพ แปลว่า สิ่งที่ควรฟัง มุ่งหมายถึง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่เป็นสิ่งที่ควรฟัง เมื่อได้ฟังแล้ว ความเข้าใจถูกเห็นถูกย่อมเกิดขึ้น ย่อมเจริญขึ้น แสดงถึงความเป็นจริงว่า ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้นได้เลย ในฐานะของผู้ที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องได้ฟังคำของพระองค์และมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ธัมมัสสวนสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ (ผล) ในการฟังพระธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะได้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑ ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑ ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๑ จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ยาก ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงให้เข้าใจธรรม (สิ่งที่มีจริง) ในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริง เพราะถ้าพระธรรมง่าย ก็คงไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้เอง แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ธรรม แม้มีจริง กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรามาโดยตลอด เพราะไม่รู้ความจริง ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นต้น ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นเราทั้งนั้น มองหาธรรมไม่เจอว่าธรรมอยู่ที่ไหน ต่อเมื่อใดที่ได้เริ่มฟังพระธรรมแล้ว สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย เพราะว่าไม่มีวันพ้นจากธรรมเลย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ต้องเป็นธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น

ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ยึดถือธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงของธรรม แต่ก็ไม่มีใครไตร่ตรองในลักษณะนี้ เพราะยังไม่มีเหตุที่จะอุปการะเกื้อกูลให้มีการคิดไตร่ตรองตามความเป็นจริง จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นคำจริงทุกคำ เป็นคำที่เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด

ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียว หรือ สองครั้งเท่านั้น จึงต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลในคำที่ได้ยินได้ฟัง เพราะจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม คือเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขณะที่ตนเองได้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชีวิต เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ส่วนมากจะเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย แต่บางครั้งบางเวลาก็มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะสละเวลาจากที่เป็นอกุศล มาเพื่อฟังพระธรรม ซึ่งยากที่จะได้ฟังและยากที่จะเข้าใจ และผู้นั้นก็ต้องได้เป็นผู้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง มีศรัทธาที่จะฟัง จึงได้ฟัง จากการฟังในแต่ละครั้ง ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐจริงๆ

ข้อที่น่าพิจารณา คือ ความดีมีหลายอย่าง เช่น ทานการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง กายวาจาที่ไม่เบียดเบียนใครแล้วยังช่วยเหลือคนอื่นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ก็เป็นความดี อย่างหนึ่ง แต่ความดีเพียงฟังพระธรรม ทำได้ไหม ไม่ต้องเสียวัตถุสิ่งใดๆ เลยทั้งสิ้น กายวาจาก็ไม่ต้องไปทำอะไรให้คนอื่น ด้วยความเหนื่อยยากของเรา เพราะว่าบางทีการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นก็ทำให้เราไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ก็ทำเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แต่ว่าเพียงแค่ฟังพระธรรม ทำไม่ได้หรือ? ลำบากนักหรือกับการที่จะฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ที่ไม่ฟังเพราะอะไร? เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าการฟังพระธรรมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และบางคนก็ยังสงสัยต่อไปว่า ความรู้ความเข้าใจจะมีประโยชน์อะไร? นี่ก็แสดงให้เห็นว่า อวิชชา (ความไม่รู้) ปิดบังไว้หนาแน่นมากมายสักแค่ไหน เพียงแค่รู้ กับ ไม่รู้ ก็ไม่เห็นความต่างกัน ว่า อะไรมีประโยชน์ ไม่ได้ให้ทำอะไรเลย เพียงฟังให้เข้าใจ ฟังทันทีที่จะฟังได้ นั่นคือ ความดีที่ดีกว่าอย่างอื่น เพราะว่าประกอบด้วยปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก

จะเห็นได้จริงๆ ว่า คนเราเกิดมา ชีวิตแสนสั้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าจะจากโลกนี้ไปวันไหน ที่ไหน ด้วยอาการอย่างไร แต่มั่นใจได้เลยว่าต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แต่ก่อนจากโลกนี้ไป เป็นคนดีหรือเปล่า และสามารถที่จะดีกว่านี้ได้ เพราะเหตุว่า เป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรม ได้คิดได้ไตร่ตรองตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าจะจากโลกนี้ไป สมกับการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็คือ ได้มีความเข้าใจถูกซึ่งสามารถที่จะมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำจริงที่ทำให้เข้าใจต่อไป ถ้ามีความคิดว่า ฟังเรื่องอื่นยังฟังได้ แต่ทำไม ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะฟังไม่ได้หรือไม่ควรฟัง? คนนั้นก็เริ่มรู้จักคุณค่าของชีวิตซึ่งจะต้องจากโลกนี้ไปว่าอย่างน้อยก็จากไปโดยการที่ได้รู้ความจริง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไปจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาในที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องฟังพระธรรม ซ้ำแล้วซ้ำอีก ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นความดีที่ประเสริฐ เป็นการค่อยๆ ชำระจิตให้สะอาดปราศจากความไม่รู้ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นปัญญาที่สำเร็จจากการได้ฟังสิ่งที่ควรค่าแก่การฟังเป็นอย่างยิ่ง คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 25 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 27 เม.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ