[คำที่ ๔๙๘] ปุถุชฺชนภาว

 
Sudhipong.U
วันที่  6 มี.ค. 2564
หมายเลข  33825
อ่าน  658

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปุถุชฺชนภาว”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ปุถุชฺชนภาว อ่านตามภาษาบาลีว่า ปุ - ถุด - ชะ - นะ - บา - วะ มาจากคำว่า ปุถุ (หนา) ชน (ชน, บุคคล) กับคำว่า ภาว (ความเป็น) ซ้อน ชฺ หลัง ถุ จึงรวมกันเป็น ปุถุชฺชนภาว แปลว่า ความเป็นปุถุชนซึ่งเป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส, บุคคลผู้ไม่ใช่พระอริยบุคคล ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย เพราะความเป็นปุถุชน มีโทษมาก สามารถทำอกุศลกรรมได้ทุกชนิดจนถึงอกุศลกรรมที่หนัก มีฆ่ามารดา เป็นต้นได้

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงกำลังของพระอริยบุคคล และ โทษของความเป็นปุถุชน ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (ปัญญา) จะพึงฆ่ามารดานั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ (คือ เป็นไปไม่ได้) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชน จะพึงฆ่ามารดานั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ (คือ เป็นไปได้)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ จะพึงฆ่าบิดานั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงฆ่าบิดานั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ได้อธิบายโทษของความเป็นปุถุชน ดังนี้

ความเป็นปุถุชน ชื่อว่า มีโทษ ตรงที่ปุถุชนจักทำอนันตริยกรรม (กรรมหนักทางฝ่ายอกุศล ให้ผลในภพโดยไม่มีระหว่าง ซึ่งจะให้ผลนำเกิดในอบายภูมิหลังจากสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้วแน่นอน) มีมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เป็นต้น ได้


ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์ คือ การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ก็ไม่พ้นกรรมและการได้รับผลของกรรม สามารถพิจารณาได้ตั้งแต่ขณะเกิด การเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ก็เป็นผลของกุศลกรรม และที่แต่ละบุคคลเกิดมาต่างกัน ก็เพราะกรรมต่างกันนั่นเอง กรรมนั้นมีทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม อกุศลกรรมที่ทำแล้วให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ดี กระทบสัมผัสทางกายที่เย็นเกินไป ร้อนเกินไป แข็งเกินไป ตึงเกินไป จนรุนแรงเป็นทุกขเวทนาทางกายถึงขั้นบาดเจ็บ แขนขาด ขาขาด เป็นต้น ซึ่งจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่ได้กระทำเหตุที่ไม่ดี คือ อกุศลกรรมไว้ ในทางตรงกันข้าม กุศลกรรม ให้ผลที่เป็นสุข ให้ผลที่ดีที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น

ข้อที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้ มี นรก เป็นต้น ทำให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย โดยไม่มีใครทำให้เลย เป็นเพราะอกุศลกรรมของตนเองเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ที่สามารถทำอกุศลกรรมทุกระดับขั้นได้นั้น ก็เพราะความเป็นปุถุชน ซึ่งยังเป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลสนั่นเอง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้ว่าจะทรงแสดงโดยปรารภถึงบุคคลประเภทต่างๆ แต่ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริงจึงมีการหมายรู้ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ แม้แต่ที่กล่าวถึงปุถุชน ก็เพราะมีภาวะหรือมีความเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง กล่าวคือ อกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นเครื่องเตือนให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมของตนเองซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้มักตกไปจากกุศล ซึ่งเป็นความจริงอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเหตุว่าปุถุชน คือ ผู้ไม่ใช่พระอริยบุคคล ปุถุชนยังเต็มไปด้วยกิเลส เป็นผู้มีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเลย แต่ในความเป็นปุถุชนแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นปุถุชนผู้มีโทษโดยส่วนเดียวโดยไม่มีคุณความดีอะไรเลย มืดบอดสนิท ดิ่งไปในทางความเห็นผิดซึ่งใครๆ ก็ช่วยเหลือไม่ได้ เป็นอันธพาลปุถุชน หรือ จะเป็นปุถุชน ผู้เห็นโทษของอกุศลและเห็นคุณประโยชน์ของกุศล จึงเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แทรกสลับกับอกุศล นี้เป็นกัลยาณปุถุชน

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าอกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีโทษมาก กาย วาจา ใจ เป็นอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะค่อยๆ น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากยิ่งขึ้น

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจตามลำดับ ก็จะเห็นพระคุณของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า หากไม่ทรงแสดงสภาพธรรมพร้อมด้วยเหตุและผลอย่างละเอียดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมไม่สามารถพ้นไปจากความเห็นผิด ความติดข้อง ความไม่รู้และกิเลสประการอื่นๆ ได้ พระธรรมเปลี่ยนจากอกุศลซึ่งมีมากให้ลดน้อยลง แล้วก็เพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลขึ้น ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสไปทีละเล็กทีละน้อย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องอาศัยความไม่ประมาท กล่าวคือไม่ประมาทว่ารู้แล้ว ไม่ประมาทว่ามีกุศลมากแล้ว หรือไม่ประมาทว่าตนเองมีกิเลสเบาบางแล้ว เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองต่อไป ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย เรื่องของการดับกิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 29 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ