เวลาที่เรามีสติ คือ รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ไช่ไหมครับ

 
Artwii
วันที่  14 ธ.ค. 2563
หมายเลข  33422
อ่าน  864

เวลาที่เรามีสติ คือ รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ไช่ไหมครับ หรือ ต้องรู้มากกว่านั้นครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ

สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี ๔ ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี ๔ ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะกั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี และไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ

สรปุว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติ คือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิดครับ

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และ ขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือเพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะกั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิต ไม่ได้หมายเพียง กุศลจิตเท่านั้น กิริยาจิตและวิบากจิตด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้น สติเจตสิกจึงเกิดกับ วิบากจิต และ กิริยาจิต ได้ด้วยครับ เช่น พระอรหันต์ที่มีจิตเมตตา เป็นกิริยาจิต แต่ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แม้เป็นกิริยาจิต ครับ

สติปัฏฐาน มีหลายความหมาย โดยทั่วไปแล้ว เราจะเข้าใจว่า สติปัฏฐานคือตัว สติและปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ดังนั้น จะมุ่งหมายถึง ตัว สติเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึก เป็นสติปัฏฐาน แต่ สติปัฏฐาน นั้น มีหลากหลายนัย อธิบาย โดย 3 นัย ดังนี้ ครับ

1. ตัวสติ เป็นสติปัฏฐาน

2. การที่พระพุทธเจ้า ไม่ยินดี ยินร้าย เมื่อสาวก ปฏิบัติผิด หรือ ถูก เป็นสติปัฏฐาน

3. อารมณ์ของสติปัฏฐาน ชื่อว่า สติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น สติ ก็เป็นความหมายหนึ่งของสติปัฏฐาน ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ สติมีหลายอย่าง เพราะฉะนั้น สติขั้นทาน สติขั้นศีล สติขั้นสมถภาวนา ไม่ใช่สติปัฏฐาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้แต่จะทำอะไรหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ไม่พ้นจากธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เพราะทุกขณะ คือ ธรรม แต่เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจในความเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง จึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่ที่บอกว่ารู้ว่าเราทำอะไร ก็เป็นเรา ไม่ใช่การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง ต้องเป็นเรื่องของสติพร้อมกับปัญญา และสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น ที่มีพื้นฐานหรือรากฐานที่สำคัญมาจากการได้ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ นั่นเอง เพราะเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สภาพธรรมที่ดีงาม มีสติและปัญญาเป็นต้น ก็สามารถเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Witt
วันที่ 14 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sanit99141@gmail.com
วันที่ 15 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
worrasak
วันที่ 16 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ