[คำที่ ๒o๔] พุทฺธสาวก

 
Sudhipong.U
วันที่  23 ก.ค. 2558
หมายเลข  32324
อ่าน  315

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ พุทฺธสาวก

คำว่า พุทฺธสาวก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า พุด - ดะ - สา - วะ - กะ] มาจากคำว่า พุทฺธ (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) กับคำว่า สาวก (ผู้ฟังคำสอน) รวมกันเป็น  พุทฺธสาวก แปลว่า สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยะ จนกระทั่งถึงสาวกที่เป็นพระอริยะ ไม่ว่าจะเป็นพุทธสาวกในระดับใด ล้วนเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งนั้น เพราะมี ๒ บุคคลเท่านั้น ที่ได้ตรัสรู้ความจริง โดยไม่ต้องฟังพระธรรมจากใครในชาตินั้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับ พระปัจเจกพุทธเจ้า, ใครก็ตามที่ไม่ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไปฟังคำของคนอื่นที่ไม่ทำให้เข้าใจความจริง ก็ไม่ใช่พุทธสาวก แต่เป็นสาวกของคนอื่น เป็นสาวกของคนที่มีความเห็นผิด เป็นสาวกของอัญเดียรย์ 

ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ใคร เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใคร ไม่ใช่สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้

“พระอริยะที่ไม่เป็นสาวก ก็มี เช่น พระพุทธเจ้า และ พระปัจเจกพุทธเจ้า, สาวกที่ไม่เป็นพระอริยะ ก็มี เช่น คฤหัสถ์ผู้ยังไม่บรรลุผล, ไม่เป็นทั้งพระอริยะ ไม่เป็นทั้งสาวก ก็มี เช่น พวกเดียรถีย์เป็นอันมาก, เป็นทั้งพระอริยะ เป็นทั้งสาวก ก็มี เช่นพระสมณะศากยบุตร ผู้บรรลุผล รู้แจ้งคำสั่งสอน”           

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงผลของการฟังพระธรรมในฐานะที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้ว่า

บัณฑิตทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใสลออ เหมือนห้วงน้ำลึก ใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น

ในอรรถกถา  ขยายความไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำอธิบายนี้ไว้ว่า “ห้วงน้ำนั้น ชื่อว่า ใสแจ๋ว เพราะเป็นน้ำไม่อากูล (ไม่มีอะไรทับถม) ชื่อว่า ไม่ขุ่นมัว เพราะเป็นน้ำไม่หวั่นไหว ฉันใด; บัณฑิตทั้งหลาย ฟังเทศนาธรรมของเราแล้ว ถึงความเป็นผู้มีจิตปราศจากอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต)   ด้วยสามารถแห่งมรรคมีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น ชื่อว่า ย่อมผ่องใส ฉันนั้น ส่วนท่านผู้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ย่อมเป็นผู้ผ่องใสโดยส่วนเดียวแล”


พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีค่ามาก มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกทั้งปวง ซึ่งถ้าไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสได้ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย พระธรรม คิดเอาเองไม่ได้ บุคคลผู้ที่ฟัง ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบเท่านั้น ถึงจะเข้าใจและได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง,  สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ การฟังพระธรรม เป็นโอกาสที่หายากในชีวิต เป็นการยากมากที่จะได้ฟัง เมื่อมีโอกาสแล้ว ได้พบพระธรรมแล้ว ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป ควรตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง

เป็นความจริงที่ว่า ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีโสตปสาทะ(หู) แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ได้ยินเสียงต่างๆ มากมาย เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นเหตุนำมาซึ่งความติดข้องยินดีพอใจบ้าง ขัดเคืองไม่พอใจบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นไปกับอกุศล แต่มีอยู่เสียงหนึ่ง ที่เมื่อได้ฟังแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา นั่นก็คือ เสียงของพระธรรม ซึ่งเป็นวาจาสัจจะ เป็นคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้น ในเมื่อจะได้ฟังเสียงอยู่แล้ว ก็ควรที่จะได้ฟังเสียงที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ ฟังเสียงของพระธรรม ซึ่งก็คือ ฟังพระธรรม นั่นเอง   

การฟังพระธรรม เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น บุคคลผู้เป็นพุทธสาวก คือ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม และจะต้องเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงด้วย ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ เจริญขึ้นได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียด รอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ฟังพระธรรม ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ แล้วคิดว่าปัญญาจะเกิดขึ้นรู้เอง นั้น ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ล้วนเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระองค์ทั้งนั้น     

ขณะที่ฟังพระธรรมด้วยความตั้งใจ และมีความเข้าใจไปตามลำดับ ย่อมเห็นสมบัติของตนเองจากการฟังพระธรรม ซึ่งเป็นสมบัติที่แท้จริง  ประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติทั้งหลายที่มี ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้ด้วย นั่นก็คือ ได้สะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก,  สมบัติทั้งหลายที่มี ไม่ว่าจะเป็นแก้ว แหวน เงิน ทอง เครื่องอุปโภค บริโภคทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย ถ้าเว้นจากการฟังพระธรรมเสียแล้ว การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของพระสาวกทั้งหลายก็จะมีไม่ได้เลย  การฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม เท่านั้น เป็นเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ดังข้อความจากพระไตรปิฎกที่ได้ยกมาในข้างต้นซึ่งเป็นผลโดยตรงของการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหน วัยไหน ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ด้วยความอดทนและจริงใจ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ