[คำที่ ๑๘๔] โลภธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  5 มี.ค. 2558
หมายเลข  32304
อ่าน  552

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์   โลภธมฺม

คำว่า โลภธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โล - บะ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง,ความอยาก,ความต้องการ) กับคำว่า ธมฺม (ธรรม, สิ่งที่มีจริงๆ) รวมกันเป็น โลภธมฺม แปลว่า สิ่งที่มีจริง คือ โลภะ ความติดข้องต้องการ ตามข้อความจาก สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค จตุจักกสูตร ว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า ธรรมอันหนึ่ง นี้แหละ ชื่อว่า โลภะ เพราะอรรถว่าปรารถนา เพราะอรรถว่าความอยาก และความต้องการ”

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของโลภะ ดังนี้

“โลภะ ทำให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภ ย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะ ย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อ ย่อมมีในขณะนั้น”


โลภะ เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา  จนกระทั่งถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ บางคนทางกาย ทางวาจา ไม่มีอาการของความละโมบ ความอยาก ความต้องการ ความหวังให้ปรากฏ แต่ทางใจมี แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส แต่ว่าใจจริงของบุคคลนั้น ใครจะรู้ว่า มีความหวัง มีโลภะ มีความละโมบโลภมาก มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรหรือเปล่า? แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด

ข้อสำคัญต้องเห็นกิเลสตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่ควรจะขัดเกลาละคลายให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถจะดับได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้เด็ดขาด) แต่การที่จะละคลายขัดเกลากิเลสให้เบาบาง เป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วก็ยากมาก ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของเมตตา ต้องรู้ว่าต่างกับลักษณะของโลภะ เพราะลักษณะของโลภะนั้นเป็นอกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนตามกำลังของโลภะ แต่ถ้าเป็นเมตตา แล้ว ต้องเป็นลักษณะของกุศลที่เบาและสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความเป็นเพื่อนจริง ๆ ทางตา ทางหูด้วย ไม่ใช่เฉพาะทางใจเพียงแค่คิด  เพราะทางตาต้องเห็นแน่นอน จึงจะรู้ว่าเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ กัน ทางหู คำพูดของแต่ละคนก็ต่างกันอีก เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเห็น มีการได้ยินเสียงของบุคคลต่างๆ ขณะนั้นก็สามารถรู้ได้ว่า ประกอบด้วยเมตตา หรือไม่เมตตาในบุคคลที่ตนเองได้เห็นหรือในผู้ที่ใช้คำพูดต่างๆ เหล่านั้น

นี้คือการอบรมเจริญเมตตาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีตาเห็น มีหูได้ยิน ก็ควรจะเป็นผู้ไม่อิ่มในการอบรมเจริญเมตตาให้มีมากขึ้น ถ้ารู้ว่าสามารถจะมีเมตตากับบุคคลนี้ได้ ก็ไม่ควรที่จะพอใจ เพียงมีเมตตากับบุคคลนี้ได้ แต่กับบุคคลอื่นๆ ก็ยังสามารถจะมีความรู้สึกเป็นเพื่อน มีความรู้สึกสนิทสนมทันทีที่เห็น มีความรู้สึกเหมือนเห็นเพื่อน ไม่ใช่เห็นศัตรู ไม่ว่าจะเห็นใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณะภาษาใด ก็จะต้องมีความรู้สึกประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ความติดข้องที่เป็นโลภะ กับ ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ที่เรียกว่า เมตตา จึงเป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โลภะ เป็นอกุศลธรรม ส่วนเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ควรที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง มีการขัดเกลา และกุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้น การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และไม่ใช่จะดับได้ในทันทีทันใด ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ