[คำที่ ๖๔] ตัณหา

 
Sudhipong.U
วันที่  15 พ.ย. 2555
หมายเลข  32184
อ่าน  631

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรม ประจำสัปดาห์ ตณฺหา

คำว่า ตณฺหา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านว่า ตัน - หา แปลว่า ความอยาก หรือ ความต้องการ เป็นอีกชื่อหนึ่งของโลภะ ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่ตราบใดยังไม่สามารถดับกิเลสประเภทนี้ได้ กิเลสประเภทนี้ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา พระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาที่แสดงเรื่องของตัณหา มีมากมาย เช่น

ขึ้นชื่อว่าตัณหา ของสัตว์เหล่านี้ หยาบ; สนิม ตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ย่อมทำให้เหล็กพินาศไป ทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้  ฉันใด; ตัณหานี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในของสัตว์เหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบาย มีนรก เป็นต้น ทำให้ถึงความพินาศ

(จาก ...พระสุตตันตปิฎก    ขุททกนิกาย   คาถาธรรมบท)

ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้น ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอบายทั้งสี่ (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน)ไปได้

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก กามชาดก)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองเต็มไปด้วยกิเลสมากมายแค่ไหน  เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมาเป็นสัตว์โลก เต็มไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะตัณหา ความยินดีติดข้องในภายใน คือ ในตนเอง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ได้แก่ รักตัวเอง รักรูปตัวเอง คิ้ว ตา จมูก ปาก ผม ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปด้วยความรักตัวเอง ติดข้องในภายในยังไม่พอ ยังติดข้องในภายนอกอีก ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ดี ที่ประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความอยาก มีความปรารถนา มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกเกี่ยวโยง ยึด ผูกพันอย่างแน่นหนากับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ถูกตัณหารึงรัด ผูกพันไว้ เกี่ยวประสานไว้ไม่ให้พ้นไปได้เลย และไม่ยอมปล่อยให้เป็นกุศลด้วย

เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะพ้นไปจากตัณหาที่ติดข้องทั้งในภายใน คือ ที่ตนเอง ทั้งในภายนอก คือ ที่บุคคลอื่น หรือในอารมณ์ต่างๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่จะดับตัณหานี้ได้ ก็จะต้องเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา ขาดปัญญาไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า  ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ตนเองว่า มีกิเลสมากเพียงใด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งภายในทั้งภายนอกที่เกิดอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เป็นประจำ ตามปกติตามความเป็นจริงอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สามารถดับกิเลสได้เลย       

ผู้ที่จะดับหรือจะละกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของตัณหานี้ ก็เป็นเรื่องของตัวเราเองทั้งหมด เพราะยังเป็นผู้มีตัณหาอยู่ เป็นผู้ที่ติดข้องทั้งภายใน ติดข้องทั้งภายนอก ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ค่อยๆ สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะตัณหาไม่มีทางที่จะหมดไปได้โดยวิธีอื่น แต่จะหมดไปได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ