[คำที่ ๕๑] ปฏิสันถาระ

 
Sudhipong.U
วันที่  16 ส.ค. 2555
หมายเลข  32171
อ่าน  375

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปฏิสนฺถาร

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า ปฏิสนฺถาร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ติ - สัน - ถา - ระ อ่านตามภาษาไทยว่า ปะ - ติ - สัน - ถาน แปลว่า การต้อนรับ เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีน้ำใจที่ดีต่อผู้อื่น มีทั้งการต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของ และการต้อนรับด้วยธรรม ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิสันถาร (การต้อนรับ)  ๒ อย่างนี้, ๒ อย่างเป็นไฉน? คือ อามิสปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยอามิส คือ วัตถุสิ่งของ) ๑ ธรรมปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยธรรม) ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้ ธรรมปฏิสันถาร เป็นเลิศ


ปฏิสันถาร หมายถึง การต้อนรับ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน, เป็นความจริงที่ว่า ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ไม่ได้อยู่ลำเพียงแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น ยังมีบิดามารดา ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ มิตรสหาย เป็นต้น เมื่อไปมาหาสู่กัน มีการพบกันตามโอกาสอันควร นอกจากจะมีการต้อนรับหรือรับรองด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ ตามสมควรซึ่งเป็นอามิสปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของที่จะทำให้ผู้รับได้มีความสะดวกสบายกายสบายใจ) แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ควรมี นั่นก็คือ ธรรมปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยธรรม ซึ่งเป็นการกล่าวธรรม สนทนาธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกแก่ผู้ที่ได้รับฟัง เป็นการเพิ่มพูนปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้รับรู้สึกสบายใจยิ่งกว่าอามิสปฏิสันถาร ที่ได้เริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะเหตุว่า เมื่อได้รับฟังพระธรรมแล้ว ก็ย่อมจะหมดความสงสัยข้องใจในธรรม ซึ่งก็เป็นการปลดเปลื้องความทุกข์อันมีมูลฐานมาจากความไม่เข้าใจพระธรรมให้หมดไปได้

สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เลย คือ ตนเองต้องมีความเข้าใจในพระธรรมก่อนจึงจะสามารถเกื้อกูลผู้อื่นให้เข้าใจตามได้ หรือแม้แต่การเตือนกันด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา เพื่อให้ผู้รับฟังเป็นผู้ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ก็เป็นการสมควร เป็นสิ่งที่ควรกระทำเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ว่าบุคคลผู้มีความเคารพพระธรรมและมีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อผู้อื่น เพื่อให้เป็นผู้ถอยกลับจากกุศล แล้วตั้งมั่นในกุศล ก็ย่อมจะมีจิตเมตตาคอยตักเตือนผู้นั้น ไม่พลาดโอกาสที่จะตักเตือน ด้วยคำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และถูกกาลเทศะด้วย เพื่อประโยชน์ของผู้นั้นจริงๆ ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม อันมีปัจจัยที่สำคัญมาจากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ