ปัจจยาการวิภังค์..

 
มศพ.
วันที่  29 เม.ย. 2563
หมายเลข  31819
อ่าน  1,382

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๓๓ - ๔๓๘

๖. ปัจจยาการวิภังค์

สุตตันตภาชนีย์

[๒๕๕] สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

[๒๕๖] ในปัจจยาการเหล่านั้น อวิชชา เป็นไฉน ความไม่รู้ทุกข์ ความไม่รู้ทุกขสมุทัย ความไม่รู้ทุกขนิโรธ ความไม่รู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า อวิชชา

[๒๕๗] ในปัจจยาการเหล่านั้น สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น อปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน อกุศลเจตนาเป็นกามาวจร นี้เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น อาเนญชาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร นี้เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร

ในสังขารเหล่านั้น กายสังขาร เป็นไฉน กายสัญเจตนา เป็นกายสังขาร วจีสัญเจตนา เป็นวจีสังขาร มโนสัญเจตนา เป็นจิตตสังขาร เหล่านี้เรียกว่า สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

[๒๕๘] วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย เป็นไฉน จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย

[๒๕๙] นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เป็นไฉน นาม ๑ รูป ๑ ในนามและรูปนั้น นาม เป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม รูป เป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่า รูป นามและรูปดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า นามรูปเกิดเพราะวิญาณเป็นปัจจัย

[๒๖๐] สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย เป็นไฉน จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มหายตนะ นี้เรียกว่า สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย

[๒๖๑] ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เป็นไฉน จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่า ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

[๒๖๒] เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เป็นไฉน จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา นี้เรียกว่า เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย

[๒๖๓] ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย เป็นไฉน รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา นี้เรียกว่า ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย

[๒๖๔] อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย เป็นไฉน กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย

[๒๖๕] ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เป็นไฉน ภพ ๒ คือ กรรมภพ ๑ อุปปัตติภพ ๑ ในภพ ๒ นั้น กรรมภพ เป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้เรียกว่า กรรมภพ กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพแม้ทั้งหมด ก็เรียกว่า กรรมภพ

อุปปัตติภพ เป็นไฉน กามภพ รูปภพ อรุปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ นี้เรียกว่า อุปปัตติภพ กรรมภพและอุปปัตติภพดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย.

[๒๖๖] ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย เป็นไฉน ความเกิด ความเกิดพร้อม ควานหยั่งลง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย

[๒๖๗] ชรามรณะเกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย เป็นไฉน ชรา ๑ มรณะ ๑ ในชราและมรณะนั้น ชรา เป็นไฉน ความคร่ำคร่า ภาวะทีคร่ำคร่า ความที่ฟันหลุด ความที่ผมหงอก ความที่หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมสิ้นอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า ชรา มรณะ เป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะที่เคลื่อน ความทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่ามรณะ ชราและมรณะดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า ชรามรณะเกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย.

[๒๖๘] โสกะ เป็นไฉน ความโศกเศร้า กิริยาโศกเศร้า สภาพโศกเศร้า ความแห้งผากภายในความแห้งกรอบภายใน ความเกรียมใจ ความโทมนัส ลูกศรคือความโศกเศร้าของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ กระทบแล้วของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว นี้เรียกว่า โสกะ

[๒๖๙] ปริเทวะ เป็นไฉน ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาร้องไห้ กิริยาคร่ำครวญ สภาพร้องไห้ สภาพคร่ำครวญ ความบ่นถึง ความพร่ำเพ้อ ความร่ำไห้ ความพิไรร่ำ กิริยาพิไรร่ำ สภาพพิไรร่ำ ของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิกระทบแล้ว ของผู้ประกบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว นี้เรียกว่า ปริเทวะ

[๒๗๐] ทุกข์ เป็นไฉน ความไม่สบายกาย ความทุกข์กาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็นทุกข์อันเกิดแก่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่กายสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า ทุกข์

[๒๗๑] โทมนัส เป็นไฉน ความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์ อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า โทมนัส

[๒๗๒] อุปายาส เป็นไฉน ความแค้น ความขุ่นแค้น สภาพแค้น สภาพขุ่นแค้น ของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ กระทบแล้ว ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว นี้เรียกว่า อุปายาส

[๒๗๓] คำว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้นั้น ได้แก่ ความไปร่วม ความมาร่วม ความประชุม ความปรากฏแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย ประการอย่างนี้

สุตตันตภาชนีย์ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nui_sudto55
วันที่ 19 ก.พ. 2567

สาธุและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ